เปิดพื้นที่รับฟัง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ส่งต่อกำลังใจจากรุ่นพี่ เพื่อน ผ่านการสนทนาอย่างเป็นมิตร ด้วย Save Zone เก็บความลับ ไม่ต้องอายใคร
วันนี้ (29 ก.ค.65) ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ยุคที่การทำธุรกรรมดิจิทัลออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ หลายคนจึงคุ้นเคยกับระบบ ‘การตอบกลับสนทนาผ่านตัวอักษรแบบอัตโนมัติ’ ที่เรียกว่า ‘Chatbot’ เมื่อพิมพ์ข้อความสอบถามข้อมูลเบื้องต้นในช่องสนทนาของ Facebook จะมีข้อความคัดกรองก่อนจะถึงมือเจ้าหน้าที่หรือผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่ แชทบอทใจดี ไม่ใช่ข้อความตอบกลับอัตโนมัติ สำหรับช่วยเหลือการทำธุรกรรมออนไลน์ แต่เป็นเพื่อนรับฟังปัญหาชีวิตที่กำลังเกิดขึ้นกับวัยรุ่น ในวันที่ต้องการใครสักคนที่รับฟัง เป็นที่พึ่งทางใจ และเก็บความลับอยู่ ได้ที่ https://chatbotjaidee.com
“แชทบอทใจดี เหมาะที่จะเป็นแพลทฟอร์มการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ ที่ส่งเสริมให้เยาวชนมีสุขภาวะที่ดีได้ จึงส่งเสริมให้นำมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือใช้ช่วยเหลือวัยรุ่นที่มีความกังวลใจ หรือมีคำถามในชีวิต แต่ไม่รู้ว่าจะไปถามใครดี เพราะจุดเด่นของแชทบอทใจดีคือ เหมาะสมกับการคุยในแง่ที่ว่าเป็นแอปพลิเคชันที่เชื่อมั่นได้ในเรื่องความลับและเป็นส่วนตัว จึงช่วยเพิ่มช่องทางให้กับวัยรุ่นที่จะผ่อนคลายความกังวลใจหรือปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่”
ณัฐยา บุญภักดี
ณัฐยา บอกด้วยว่า เว็บไซต์แชทบอทใจดี จะมีพี่ใจดีแนะนำตัว บอกวิธีการทำงานว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง จุดเด่นคือการรวบรวมประสบการณ์ของคนที่ผ่านปัญหา และมีวิธีรับมือกับเรื่องต่างๆ ที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต เพื่อนำมาเป็นคำตอบ และเป็นทางเลือกให้กับเด็กๆ ที่เข้ามาระบายหรือถามปัญหา เมื่อพิมพ์คำถามที่อยากได้คำตอบ แชทบอทใจดี จะใช้ความสามารถด้าน AI มาประมวลคำตอบ โดยดึงข้อมูลจาก ‘การบริจาคประสบการณ์’ ของเด็ก ๆ เพื่อน ๆ วัยเรียน และรุ่นพี่ที่เรียนจบไปแล้วจากทั่วประเทศมาช่วยแนะนำ ปัจจุบันมีคำตอบมากกว่าหมื่นรายการจากผู้ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์
ชิตพงษ์ กิตตินราดร ผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมทางสังคมและการเงินเพื่อผลกระทบทางสังคม สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ผู้รับผิดชอบโครงการแชทบอทใจดี หาไอเดียแก้ปัญหาชีวิตวัยรุ่น กล่าวว่า การประเมินผลประสิทธิภาพของแชทบอทใจดี พบว่าผู้ใช้งานเป็นเด็กอายุ 13 -18 ปี โดย 87% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ได้รับการช่วยเหลือแก้ปัญหาได้จริง ขณะที่ 45% ระบุว่า “ช่วยได้มาก” 42% “ช่วยได้บ้าง” และ 13% “ช่วยไม่ได้”
“ผมอยากแนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง เข้ามาอ่านประสบการณ์ที่บริจาคไว้ เพื่อจะได้เห็นถึงชีวิตวัยรุ่นทุกวันนี้ว่า พวกเขาเองก็มีปัญหาเยอะไม่ต่างจากผู้ใหญ่ และต้องการความเข้าใจที่จะทำให้เขามีกำลังใจรับมือปัญหาที่กำลังเผชิญ ส่วนคุณครูก็สามารถเข้ามาอ่านเพื่อนำตัวอย่างของปัญหาที่น้อง ๆ ถาม มาแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางแนะแนวได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนต่อ การสอบ หรือแม้แต่การรังแกกันในโรงเรียน สำหรับน้องๆ ที่สนใจอยากลองคุยกับพี่ใจดี เข้าไปที่ ค้นหาปัญหาชีวิต ในแชทบอทใจดี เพื่อหาไอเดียแก้ปัญหารับกำลังใจได้”
ชิตพงษ์ กิตตินราดร
ชิตพงษ์ กล่าวต่อว่า แชทบอทใจดีไม่ได้คาดหวังว่าจะให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยตรง แต่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กๆ รู้สึกว่ามีคนมานั่งคุย รับฟังปัญหา และแชร์ปัญหาที่กำลังเจอจากประสบการณ์ของคนอื่นๆ มาให้ได้อ่านเพื่อเป็นข้อคิดและมีกำลังใจได้ เพราะบางครั้งเด็กอาจติดกับปัญหาที่ตัวเองเผชิญแล้วคิดไม่ออก ไม่รู้จะปรึกษาใคร หรือแค่อยากหาคนฟังเพื่อระบายความรู้สึก ก็จะมีพี่ใจดีในแชทบอทเป็นหนึ่งช่องทางช่วยได้
“หากข้อความที่พิมพ์เข้ามามีคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความคิดอยากฆ่าตัวตาย ก็จะมีขึ้นข้อความเป็นกล่องสีน้ำเงินเพื่อให้ข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ ก็สามารถโทร.ติดต่อเพื่อพูดคุยขอคำปรึกษาโดยตรงได้ทันที”
ชิตพงษ์ กิตตินราดร
สำหรับใครที่อยาก “บริจาคประสบการณ์” และ “กำลังใจ” เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้ไอเดียแก้ปัญหาชีวิต เข้าไปพิมพ์คำแนะนำไว้ได้ เมื่อแชร์แล้วผู้เข้าร่วมจะได้รับประกาศนียบัตรจิตอาสาบริจาคประสบการณ์ จาก สสส. ผ่านระบบออนไลน์ทันที สามารถเข้าไปแชร์ประสบการณ์ได้ที่ https://chatbotjaidee.com/donate
ส่วนครู นักวิจัย นักวิชาการ สามารถค้นหาฐานข้อมูลประสบการณ์เด็กและเยาวชนกว่า 11,000 คน เพื่อทำความเข้าใจ ค้นปัญหา หาทางแก้ไขปัญหาชีวิตวัยรุ่นของเด็กๆ ได้ที่ https://chatbotjaidee.com/search
และผู้ที่สนใจสามารถใช้ช่องทางการติดตามผ่านเฟซบุ๊กได้ที่ https://www.facebook.com/chatbotjaidee