นักการศึกษาชี้ ระบบการศึกษาญี่ปุ่น หลอมคนให้มีวินัย ทำงานเป็นทีม เคารพสังคม ผ่านการใช้ชีวิตประจำวันไม่ใช่จากการใช้ความรุนแรง
จากกรณีที่ครูฝ่ายปกครองวิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จ.ตาก ทำโทษนักเรียนชายด้วยการกล้อนผมในลักษณะแหว่งกลางศีรษะ 66 คน สร้างความอับอาย หดหู่ใจ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และนำมาสู่การตั้งคำถามของสังคมไทยครั้งแล้วครั้งเล่าถึงการลงโทษทางวินัยแก่เด็กในสถานศึกษาของผู้เป็นครู
“ระเบียบวินัยในโรงเรียน“ จึงเป็นหนึ่งในข้อถกเถึยงของสังคมตลอดหลายทศวรรษการศึกษาไทย ฝ่ายหนึ่งมองว่า การแต่งชุดนักเรียน เข้าแถวเคารพธงชาติ หรือการตัดผม “ทรงนักเรียน” เป็นการปลูกฝังระเบียบวินัยที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เติบโตไปเป็นพลเมืองดีที่เคารพกฎหมายบ้านเมือง
ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่า สิ่งนี้คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์และการควบคุมร่างกายให้อยู่ใต้บงการ สิ่งนี้เป็นเพียงเศษซากของผลผลิตทางประวัติศาตร์จากวิธีคิดทางทหารในยุคหลัง พ.ศ. 2475 เท่านั้น และไม่เป็นผลดีกับเด็ก เพราะเป็นการขัดขวางจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และปิดกั้นการเรียนรู้
ท่ามกลางข้อถกเถึยงในประเทศไทยที่ไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยกกรณีของโรงเรียนชั้นประถมศึกษาในญี่ปุ่น ที่เน้นการเรียนการสอนให้เด็กรู้จักกับเสรีภาพ ความเคารพผู้อื่น และการทำงานร่วมกันภายใต้กิจวัตรประจำวัน จนสร้างพลเมืองที่ดีตามแบบฉบับของญี่ปุ่นได้ จากงานเสวนา “Doc Talk: สารคดีสนทนา จุดประกายการศึกษาและเยาวชน”
เลี้ยงเด็กคนหนึ่ง ใช้คนทั้งหมู่บ้าน
ผศ.อรรถพล เล่าว่าหากย้อนไป 40 ปีก่อน สังคมญี่ปุ่นมีปัญหาอย่างหนักเรื่องการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนจนผลักเด็กให้เด็กบางกลุ่มออกจากระบบและเข้าสู่ด้านมืด จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังการพ่ายแพ้สงครามโลก ญี่ปุ่นนำแนวคิด Progressive Education แบบอเมริกาเข้ามาใช้เพราะเชื่อว่านี่คือ Know-How ที่ดี
ช่วงปี ค.ศ. 1980 เป็นสังคมของคนเจเนอเรชันเอ็กซ์ การสอบเข้ามหาลัยของนักเรียนเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในสังคม เด็กจำนวนมากเลือกทำร้ายตัวเองหากไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามความคาดหวัง
เด็กบางส่วนถูกทิ้งขว้าง หลงลืม กลายเป็นเด็กเกเรและปัญหาของสังคม ช่วงเวลานั้นเองที่สังคมญี่ปุ่นหันกลับมาทบทวนระบบการศึกษา จนนำมาสู่การปฏิรูปที่เน้นความหลากหลายของวิชาชีพมากขึ้น
“ยุคนั้นเราจะเห็นญี่ปุ่นทำสื่อเกี่ยวกับอาชีพออกมาเยอะมาก เช่น ตัวละครอย่างที่เป็นนักฟุตบอลอย่าง ‘กัปตันซึบาสะ’ เพื่อต้องการให้เด็ก ๆ เห็นว่าทุกอาชีพมีคุณค่า เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องวิ่งไปถึงมหาวิทยาลัยก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีมีความสุข และมีความหมายได้”
หรือเรื่องการฝึกสอนให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่วัยประถม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากครอบครัวหรือโรงเรียนเท่านั้น แต่ต้องเป็นความร่วมมือที่เกิดร่วมกันของทั้งชุมชน
ในประเทศญี่ปุน เราจะเห็นเด็กประถมต้องเดินทางไปโรงเรียนเองตอนเช้า นั่นเพราะว่าพ่อแม่ได้รับอนุญาตให้ไปส่งได้ในช่วง 2 สัปดาห์แรกเท่านั้น แต่เพราะสังคมญี่ปุ่นออกแบบระบบมาอย่างรัดกุมเรื่องความปลอดภัยจึงสร้างความอุ่นใจให้พ่อแม่ได้
“เด็ก ๆ จะดูแลด้วยกันในระบบพี่น้องอย่างเกื้อกูล ใครบ้านใกล้กันก็จะไปเดินทางโรงเรียนพร้อมกัน โดยมีหมวกสีเหลืองที่เป็นสัญลักษณ์ของเด็ก ป.1 เพื่อให้คนในชุมชนช่วยกันดูแล มีกระเป๋าเป้ที่ถูกออกแบบเพื่อป้องกันการหกล้มโดยมีสายกระตุกสัญญาณขอความช่วยเหลือ และยังมีคนวัยเกษียณในชุมชนที่ออกมาเป็นอาสาสมัครจะช่วยโบกรถและดูแลเด็ก ๆ ระหว่างการเดินทางด้วย”
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงชั่วข้ามคืน แต่สังคมญี่ปุ่นใช้เวลาในการบ่มเพาะวางรากฐานมาอย่างยาวนานทั้งระบบ ตรงตามคำกล่าวที่ว่า “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน”
ห้องเรียนญี่ปุ่น – สอนให้เด็กเคารพตนเองและผู้อื่น
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ สังคมญี่ปุ่นผ่านการปรับสมดุลใหม่มาโดยตลอด มีการลดทอนวินัยบางอย่างลง และตั้งคำถามถึงการสร้างความสมดุลระหว่างการให้เด็กรู้จักความต้องการของตัวเองและการมีสิทธิเสรีภาพผ่านการการทำงานของครูและโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถม
“ครูญี่ปุ่นไม่ได้ treat เด็กว่าเหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่ง แต่พยายามปลูกฝังความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเด็กผ่านวัฒนธรรมในห้องเรียน
“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมกลุ่ม ห้องเรียนจะถูกออกแบบให้เหมือนหนึ่งชุมชน ทุกคนต้องแบ่งหน้าที่กันทำงาน ใช้ชีวิตด้วยกัน ช่วยเหลือกัน กินข้าวด้วยกัน รวมทั้งครูด้วย ในขณะเดียวกันก็สอนเด็กเรื่องการบาลานซ์ระหว่างการที่ต้องช่วยเหลือคนอื่นกับการรู้จักการปฏิเสธ ซึ่งทั้งหมดนี้คือการรู้จักอิสรภาพที่เด็กต้องตัดสินใจเอง”
การเรียนการสอนในระดับ ป.1-6 ของญี่ปุ่น ก็ถูกออกแบบไว้อย่างดี
ในวันที่เด็ก ป. 1 เข้ามาวันแรก จะมีรุ่นพี่ ป.6 คอยดูแลเหมือนพี่เลี้ยง จากเด็ก 6-7 ขวบที่มาโรงเรียนวันแรกและร้องไห้งอแง
ตลอด 1 ปี ในรั้วโรงเรียนประถม เด็กจะถูกขัดเกลาความเป็นผู้ใหญ่ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ฝึกวางกระเป๋าอย่างเป็นระเบียบ ฝึกการกินอาหาร ทำความสะอาดห้อง หรือการเล่นดนตรีเป็นหมู่คณะ เพื่อฝึกวินัยและรับผิดชอบการใช้ชีวิตร่วมกัน
“ญี่ปุ่นขัดเกลาเด็กผ่านกิจกรรมในแต่ละวัน มีการเปลี่ยนหัวหน้าห้องทุกเดือน เด็กคนหนึ่งต้องเคยได้เป็นหัวหน้าห้องสักครั้งในช่วงการเรียนเพื่อฝึกฝนความเป็นผู้นำ แม้แต่ชั่วโมง Homeroom เด็กก็ต้องทำหน้าที่เหล่านี้เองโดยการช่วยเหลือของครูและเพื่อน ๆ“
ในขณะที่เมื่อมาใช้ชีวิตนอกห้องเรียน ครูจะสอนให้เด็กรู้จักเคารพชุมชน เคารพผู้อื่น และเป็นแบบอย่างที่ดีผ่านทุกการกระทำของครู
”เวลาไปทัศนศึกษา เราจะเห็นครูไทยชอบใช้โทรโข่งใช่ไหม แต่ครูญี่ปุ่นจะพูดกับเด็กด้วยน้ำเสียงปกติ ทำให้เด็กต้องตั้งใจฟังเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นการเคารพชุมชนด้วยการไม่ใช้เสียงดังรบกวนแล้ว ยังสอนให้เด็กรู้จักเคารพผู้อื่นผ่านการรับฟังด้วย“
สิ่งเหล่านี้ล้วนหล่อหลอมให้เด็กรู้จักหน้าที่และกลายเป็นพลเมืองดีแบบญี่ปุ่น อย่างเช่นเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมา นักเรียนชั้นประถมรอดชีวิตด้วยการช่วยเหลือของรุ่นพี่มัธยม โดยมีครูช่วยเปิดเส้นทางการจราจรให้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจาก DNA แต่เกิดจากการฝึกฝนและ culture ที่ถูกปลูกฝังผ่านระบบการศึกษาอย่างเป็นระบบ
ตาข่ายรองรับครู-นักเรียน : ระบบที่เอื้อให้ทุกคนในโรงเรียนทำงานได้อย่างมีความสุข
ผศ.อรรถพล ยังชี้ชัดถึงระบบของการศึกษาญี่ปุ่นที่ดูแลครู ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีภาระงานหนักไม่ต่างจากในประเทศอื่น เหตุนี้จึงมีระบบที่ออกแบบมาเพื่อดูแลทุกข์สุขของคนทำงานโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมอุทิศตนเพื่องานหนัก สังคมของครูในโรงเรียนจึงออกแบบให้มีการ meeting กันเป็นประจำเพื่อแชร์ทุกข์สุข เพื่อให้ไม่มีใครในโรงเรียนต้องรู้สึกโดดเดี่ยว
”ประตูห้องเรียนจะถูกเปิดกว้างไว้ตลอดเวลา สิ่งนี้ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย เพราะว่าไม่ว่าผู้ปกครอง ครู หรือใครก็สามารถเข้ามาดูความเป็นอยู่ได้เป็นปกติ ระบบแบบนี้คือตาข่ายที่ช่วยรองรับคนทำงานไว้ว่าทุกคนยังมีกันและกัน และวัฒนธรรมนี้จะส่งไปถึงเด็ก ๆ ในวันที่เขาต้องเติบโตไปสู่โลกการทำงานด้วย“
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ ระบบครูในญี่ปุ่นจะมีการโอนย้ายทุก 2 ปี เพื่อให้ครูแต่ละคนพัฒนาตัวเองและปรับตัวตลอดเวลา ไม่สอนอยู่ที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียวอย่างยาวนาน
“ระบบการศึกษาญี่ปุ่นจะไม่ยอมให้ครูฝังรากลึก เป็นเจ้าพ่อ-เจ้าแม่อยู่ที่โรงเรียนไหนที่เดียว ต่างจากบ้านเราที่อยู่จนกลายเป็นก๊วน เมื่อมีครูคนใหม่ ๆ เข้ามาก็ถูกผลักออกหรือกดขี่ ทำให้ครูบางคนถอดใจและลาออกไปในที่สุด
”การย้ายโรงเรียนของครูที่นี่เป็นเรื่องปกติ ไม่มีดรามา หรือร้องไห้ถ่ายรูปกับเด็กเหมือนประเทศไทยนะ ครูแต่ละคนจะหมุนเวียนไปสอนที่โรงเรียนใหม่เงียบ ๆ เพื่อเป็นการเคารพเด็ก นอกจากจะทำให้ครูตื่นตัวในการทำงานแล้ว ยังทำให้เด็กรู้จักกับการอยู่กับผู้ใหญ่หลาย ๆ แบบ เพราะต้องมีสักแบบที่เข้ากับเขาได้”
กลับมาที่สังคมไทย เราเห็ความพยายามเรื่องการไตร่ตรองใคร่ครวญเรื่องการดูแลเด็กในระบบการศึกษามาโดยตลอด แต่ดูเหมือนแต่ละที่ แต่ละแห่งกลับมีการดำเนินงานกันไปคนละทิศทางตามต้นสังกัด จึงอาจพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำนักว่าระบบการศึกษาหรือครูในประเทษไทยกำลังทำงานด้วยความเชื่อและความฝันที่เป็นภาพเดียวกันอยู่หรือไม่