25 จังหวัดผนึกกำลัง Zero Dropout พาเด็กหลักล้านกลับมาเรียนภายในปี 2570

ประชุมแผนใหญ่เครือข่ายด้านการศึกษา และทีมบริหารจาก 25 จังหวัด รับลูกนโยบาย Thailand Zero Dropout ศธ.แจงละเอียด 4 มาตรการพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา พร้อมชู ‘นวัตกรรมข้อมูล’ เป็นกุญแจสำคัญในการติดตามเด็กกลับมาเรียน

วันนี้ (17 กรกฎาคม 2567) กระทรวงศึกษาธิการ, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหลายภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา พร้อม 25 ทีมการศึกษาจังหวัดเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) แจงละเอียด 4 มาตรการพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา พร้อมชู ‘นวัตกรรมข้อมูล’ เป็นกุญแจสำคัญในการติดตามเด็กกลับมาเรียน

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลได้บูรณาการข้อมูลเด็กเยาวชนกับกระทรวงศึกษาธิการ และข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย พบว่าปีการศึกษา 2566 มีเด็กนอกระบบถึง 1,025,514 คน โดยการจัดทำข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจะทำเป็นประจำทุกปีก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามช่วยเหลือนักเรียนเป็นประจำก่อนเปิดภาคเรียน สิริพงศ์ เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์เด็กนอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือกระทั่งมีจำนวนลดลงและเป็นศูนย์ในที่สุด

จากการริเริ่มโครงการที่ จ.ราชบุรี Zero Dropout ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ สู่การขยายผลเป็นนโยบาย Thailand Zero Dropout โดยมี 4 มาตรการที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนได้แก่

  • การจัดทำฐานข้อมูลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่ทุกหน่วยงานจะสามารถนำไปใช้อ้างอิงและทำงานต่อได้โดยใช้ข้อมูลตั้งต้นจากเด็ก 1,020,000 คน ให้คนในพื้นที่ออกสำรวจตรวจสอบในชุมชนของตัวเองซึ่ง กสศ. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Thailand Zero Dropout ให้ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนแล้วจะนำไปสู่
  • การช่วยเหลือในทุกมิติของปัญหา ทั้งเรื่องการศึกษาการทำมาหากินสุขภาพและสิทธิสวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ เป็นต้น
  • การจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ข้อจำกัดความต้องการและศักยภาพของเด็กแต่ละคน อาทิ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ, การจัดการเรียนรู้ตามมาตรา 12 เช่น ศูนย์การเรียนโรงเรียนมือถือหรือการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน และการเทียบโอนหน่วยกิตผ่านระบบเครดิตแบงก์ เป็นต้น เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบในระดับตำบลอำเภอหรือจังหวัด
  • การใช้มาตรการทางภาษีจูงใจภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม จัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ไปพร้อมกับการฝึกทักษะอาชีพสร้างรายได้ตามแนวคิด Learn to Earn

“Zero Dropout จะเริ่มนำร่องใน 25 จังหวัด พาเด็กกลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น กลับเป็นพลเมืองที่เพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง และสังคม หากเราสามารถดึงเด็กกลับมา และทำให้เขาสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะส่งผลให้เศรษฐกิจโตขึ้น ร้อยละ 3 ของ GDP เพราะรายได้ตลอดชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น และยังป้องกันปัญหาสังคมและอาชญากรรมอันเป็นผลพวงมาจากความยากจนได้”

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

โดยภาพรวมการดำเนินการมาตรการ Thailand Zero Dropout ตลอดวาระ 4 ปีงบประมาณ มีดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2567 เริ่มนำร่องปูพรมค้นหาเด็กในพื้นที่ 25 จังหวัด และพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 20,000 คน
  • ปีงบประมาณ 2568 ขยายมาตรการให้คลอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด พาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 100,000 คน
  • ปีงบประมาณ 2569 พาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 50,000 คน
  • พาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 1,000,000 คน ภายในปีงบประมาณ 2570 ซึ่งจะทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ระบบ TZD: ใช้ ‘นวัตกรรมข้อมูล’ ย่อยปัญหา ช่วยเหลือเด็กกว่า 1 ล้านคน

ภายหลังมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ Thailand Zero Dropout ระดับจังหวัดโดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและศึกษาธิการจังหวัดเป็นกลไกประสานงานหลัก นำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระดับตำบล ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ซึ่งคณะกรรมการจะมาจากหลากหลายภาคส่วนเพื่อให้ตอบโจทย์การช่วยเหลือดูแลครอบคลุมในทุกมิติทั้งปัญหาของตัวเด็กเองและของครอบครัว

จำนวนเด็ก 1.02 ล้านคนนอกระบบการศึกษาจะถูกจัดเก็บในแอพลิเคชั่น Thailand Zero Dropout หรือ TZD ข้อมูลจะระบุถึงความต้องการการช่วยเหลือของเด็กแต่ละคน รวมถึงเป้าหมายทางด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ เพื่อให้แต่ละทีมจังหวัดสามารถนำข้อมูลไปบริหารจัดการต่อ โดยทุกจังหวัดจะมีตำแหน่ง ‘แอดมินจังหวัด’ และ ‘Case Manager’ เป็นคนดูแลในภาพรวมของสถานการณ์ในจังหวัดนั้น ๆ ก่อนจะแจกจ่ายเคสให้กับ ‘ผู้สำรวจ’ ว่าจะต้องดูแลหรือช่วยเหลือเด็กคนไหน ในพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดก็จะแสดงผลผ่านแอพลิเคชันได้อย่างรวดเร็ว

รศ.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า การจะแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาต้องอาศัย Keyman หรือคณะทำงานที่เป็นองค์ประกอบสำคัญหลายภาคส่วน โดยองค์ประกอบของคณะทำงานในแต่ละจังหวัดและตำบลควรมี ดังนี้

  • ที่ปรึกษาและคณะทำงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัด/ตำบล มีหน้าที่บริหารจัดการ ดูแลระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ ติดตามสถานการณ์ดำเนินงานสำรวจข้อมูล และการให้การช่วยเหลือในภาพรวมจังหวัด/ตำบล
  • ผู้ดูแลระบบระดับจังหวัด (Admin จังหวัด/ตำบล) มีหน้าที่พิจารณาแผนและแนวทางการให้ความช่วยเหลือและส่งต่อเด็กรายกรณี หรือส่งต่อ (ในกลุ่มกรณีที่มีปัญหาและความต้องการของเด็กมีความยากลำบากและชับช้อน)
  • คณะกรรมการสหวิชาชีพระดับจังหวัด (CMS จังหวัด/ตำบล) มีหน้าที่เชื่อมประสานการทำงาน ระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ สนับสนุนการใช้งานระบบให้กับ Admin ตำบล ทีมสำรวจและ Case Manager ตำบล
  • Core Team จังหวัด/ตำบล ขณะที่ระดับตำบลจะต้องมี ทีมสำรวจข้อมูลของตำบล และ ทีมผู้จัดการรายกรณีของตำบล เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นทีมงานด่านหน้าในการลงไปช่วยเหลือเด็กในรายกรณี

ปิยวัฒน์ ย้ำว่า องค์ประกอบข้างต้นนั้นเป็นเพียงแม่แบบตัวอย่างเพื่อเอื้อความสะดวกในการวางแผนงานในแต่ละพื้นที่ สุดท้าย แต่ละท้องที่จะเข้าใจสภาพปัญหาของตนเองมากที่สุด ดังนั้น หากแต่ละจังหวัดและตำบลสามารถออกแบบองค์ประกอบเพิ่มเติมเองได้ จะช่วยให้ระบบการติดตามเด็กกลับมาเรียนตอบโจทย์ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

ด้านนิสาพร วัฒนศัพท์ นักวิชาการอิสระ อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องใช้กลไกทั้งระดับจังหวัดและตำบล เป็นเพราะว่า ในแต่ละโรงเรียนมีระบบการติดตามเด็กที่หลุดจากห้องเรียนในเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ ปัญหาของทุกเคส ทุกโรงเรียนจะถูกส่งไปยังจังหวัด ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ราบรื่นนัก และใช้เวลานาน ตกหล่นได้ง่าย ทำให้ต้องอาศัยกลไกของตำบลในการช่วยแบ่งรับกรณีของเด็กนอกระบบร่วมด้วย กลับกัน หลายปัญหาของเยาวชนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและใช้ทรัพยากรมากเกินกว่าที่หน่วยตำบลจะช่วยเหลือได้ เช่น การส่งต่อเด็กไปศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ หน่วยตำบลจึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากจังหวัด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างราบรื่น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active