11 หน่วยงาน MOU ดัน Thailand Zero Dropout

ศธ.ผนึกกำลัง 11 หน่วยงานผลักดัน Thailand Zero Dropout เร่งปูพรมค้นหาเด็กใน 25 จังหวัดนำร่อง ใช้ ‘เทคโนโลยีข้อมูล’ ช่วยติดตามเด็ก-ออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์เงื่อนไขชีวิต หวังเด็กทุกคนต้องได้เรียนในปี 2570

วันนี้ (28 มิถุนายน 2567) ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการมีการลงนามข้อตกลงระหว่าง 11 หน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาภายใต้โครงการ “Thailand Zero Dropout” โดย ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมนำเสนอกลไกปฏิบัตินโยบายเพื่อค้นหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและนำกลับเข้าสู่ระบบ

ข้อตกลงนี้เป็นผลจากการมอบนโยบายของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ให้ กสศ. ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยนำฐานข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน เพื่อค้นหาเด็กที่ตกหล่นไปจากระบบการศึกษา ซึ่งพบว่า มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี กว่า 1 ล้านคนที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษาของทั้ง 21 หน่วยงาน โดยการเชื่อมโยงข้อมูลนี้ทำให้แต่ละหน่วยงานและท้องถิ่นสามารถตามตัวเด็กได้เจอ พาพวกเขาเข้าสู่กลไกฟื้นฟูและกลับเข้าระบบการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง โดยมีบันได 5 ขั้นสู่เป้าหมาย Thailand Zero Dropout ดังนี้

  • การสำรวจข้อมูลเด็กที่หลุดออกจากระบบ
  • การติดตามช่วยเหลือเด็กแบบรายบุคคล
  • การจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต
  • การส่งต่อผ่านเครือข่ายการเรียนรู้ในพื้นที่
  • การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่าการลงนามครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งจะส่งผลให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ และภาคีหุ้นส่วนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยนโยบาย Thailand Zero Dropout ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งมุ่งพัฒนาคนไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและพ้นจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น รมว. ศึกษาธิการ หวังว่า เป้าหมายจำนวนเยาวชนตกหล่นจากระบบการศึกษาต้องใกล้เคียง 0 ภายในปี 2570

“จากนี้ไปเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทุกคนจะอยู่ในจอเรดาร์ของรัฐบาล และจะได้รับการค้นหา ช่วยเหลือในทุกมิติปัญหาเพื่อส่งต่อกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการพัฒนาตามศักยภาพของทุกคน เพราะเด็กทุกคนคืออนาคต และเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของประเทศไทย”

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ

เด็กนอกระบบการศึกษาหลักล้าน จัดการได้ด้วยกลไกระดับจังหวัด

กุญแจสู่ความสำเร็จของโครงการดังกล่าวคือ การใช้ “ระบบฐานข้อมูล” มาช่วยติดตามค้นหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และเชื่อมโยงเข้ากับแอปพลิเคชัน “Thai Zero Dropout” โดยในแอปพลิเคชัน จะระบุข้อมูลพื้นฐาน ฐานะครอบครัว ความต้องการทางการศึกษาและอาชีพอย่างละเอียด เพื่อออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนที่มีเงื่อนไขชีวิตแตกต่างกัน โดยจะเริ่มกระบวนการค้นหาและช่วยเหลือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่องที่ทาง กสศ. ได้เริ่มเก็บข้อมูลและประสานงานกับพื้นที่ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ด้าน ไกรยส ภัทราวาท เผยว่า จากมติของคณะรัฐมนตรีที่รับทราบถึงปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยงานระดับจังหวัดและกลไกท้องถิ่นสามารถเริ่มทำงานในการตามเด็กกลับมาเรียนได้อย่างเต็มที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งหัวโต๊ะทีมติดตามเด็ก แต่ละจังหวัดสามารถออกแบบได้เองว่าจะใช้หน่วยงานใดมาช่วยพาเด็กกลับมาเรียน เช่น บางจังหวัดเลือกอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) บางจังหวัดเลือก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น

เมื่อเริ่มกระบวนการติดตามเด็กและเยาวชนใน 25 จังหวัด แต่ละทีมจะได้ข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ข้อมูลที่ได้จะนำไปคิดเป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือเด็กได้อย่างตรงจุด พร้อมขยายพื้นที่ช่วยเหลือให้กว้างขึ้นในปี 2568 ไกรยส ย้ำว่า เด็กแต่ละคนที่ออกจากระบบการศึกษาไป ล้วนมีเหตุจำเป็นที่ทำให้พวกเขาต้องละทิ้งการศึกษา ทั้งปัญหาความยากจน สภาพร่างกายที่ไม่พร้อม อยู่ในถิ่นทุรกันดาร หรืออยู่ในวังวนของความรุนแรง ดังนั้น ระบบการศึกษาต้องยืดหยุ่นให้มากขึ้น เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ต้องมีภาคเอกชนรับช่วงต่อหลังจบการศึกษา เพื่อให้พวกเขาได้มีงานทำและมีโอกาสหลุดพ้นจากกับดักของความยากจนได้

“ไม่เพียงแต่โรงเรียนในสังกัด สพฐ. แต่หน่วยงานอย่าง สกร. อปท. และภาคเอกชน มีส่วนช่วยในการจัดหางานให้กับเด็กที่จบการศึกษา พร้อมสร้างแรงจูงใจด้วยมาตรการภาษีให้กับสถานประกอบการเอกชนที่ให้โอกาส นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมการลงนาม MOU วันนี้ถึงต้องอาศัยความร่วมมือจาก 11 หน่วยงาน”

ไกรยส ภัทราวาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active