นักวิชาการชี้ การแข่งขันเหมือนมะเร็งร้าย ตอกย้ำปัญหาของระบบการศึกษาที่ซุกอยู่ใต้พรม พัวพันในหลายมิติ ทั้งเรื่องธุรกิจการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ การกระจายอำนาจของรัฐ การไม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษา แนะรัฐเร่งแก้ไข
จากเหตุการณ์นักเรียนไทยแห่สอบเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายชื่อดังอย่าง เตรียมอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2567 เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยปีนี้มีจำนวนผู้สมัครเข้าสอบถึง 11,607 คน แต่รับเพียง 1,520 คน เท่านั้น หรือคิดเป็นอัตราส่วน 1:76 โดยมีผู้สมัครในกลุ่มแผนการเรียนวิทย์-คณิต สูงเป็นอันดับหนึ่งถึง 8,275 คน
โดยในช่วงปี 2552 – 2566 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีจำนวนผู้สมัครเข้าสอบในระหว่างช่วง 8,638- 13,259 คน มาโดยตลอด
วันนี้ (10 มี.ค.67) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ซุกซ่อนปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม การแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมสูงมากจริง แต่ยังมีอีกหลายสนามที่การแข่งขันสูงกว่านี้มาก เช่น กลุ่มโรงเรียนสาธิต หรือบางสนามเป็นเพียงเด็กประถม ที่มีอัตราส่วนการแข่งขันสูงถึง 1:30 ก็มี
“คนไทยยังมีภาพความสำเร็จว่า เด็กที่เข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้ ครึ่งหนึ่งต้องได้เข้าเรียนที่จุฬาฯ พ่อแม่เลยดิ้นรนให้ลูกมาเข้าโรงเรียนนี้ แล้วกลายเป็นปัญหากัดกินสังคมไทย จนทำให้เกิดการสอบแข่งขันที่เป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่คนมองข้าม”
ผศ.อรรถพล เน้นว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำและการไม่เชื่อมั่นของระบบการศึกษาไทยของผู้ปกครองว่าทุกโรงเรียนมีศักยภาพทั้งที่วันนี้เด็กมีอัตราการเกิดลดลง โรงเรียน มหาวิทยาลัยมีที่นั่งมากพอสำหรับทุกคน แต่พ่อแม่ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพ สุดท้ายก็ปล่อยให้เด็กมาแข่งขันกันเอง
“มันเป็นการแข่งขันที่ไม่แฟร์ เด็กคนไหนมีต้นทุนสูงกว่า พ่อแม่สามารถส่งไปเรียนพิเศษได้จะได้โอกาสนั้น แต่ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะพร้อม support สิ่งนี้ยิ่งถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเป็นการแบ่งแยกชนชั้นของคนด้วยการศึกษาด้วยระบบของรัฐเอง”
เนื่องจากระบบของรัฐในตอนนี้เอื้อให้โรงเรียนไหนที่มีเด็กเยอะ ก็จะได้รับงบประมาณมาก สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้จึงไม่ต่างกับการที่กำลังปล่อยให้โรงเรียนแข่งขันกันหาเด็กเข้าเรียน หรือที่เรียกว่า School Market ซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่ในหลายประเทศที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมหลัก หรือที่เชื่อว่า ‘ยิ่งแข่ง ยิ่งดี’
ในขณะที่รัฐปล่อยให้โรงเรียนนี้เติบโต ส่วนโรงเรียนเล็ก ๆ ก็มีคนเรียนน้อยลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งถูกยุบ พ่อแม่จึงต้องดิ้นรนให้ลูกเข้าโรงเรียนใหญ่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือคุณภาพทางการศึกษาที่ดีกระจุกอยู่ในแค่บางโรงเรียนเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว ทุกโรงเรียนใกล้บ้านต้องเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพต่างหาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่มันเป็นปัญหาร่วมในประเทศแถบเอเชีย
“เอเชียเป็นชาติที่เสพติดการสอบแข่งขัน เพราะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเรื่องของชนชั้น การศึกษาจึงกลายเป็นการขยับฐานะทางสังคม (Social Mobility) เหมือนที่เราเห็นคนจีนต้องสอบจอหงวน แนวคิดแบบนี้มันฝังรากลึกอยู่ในคนเอเชียรวมทั้งไทยด้วย
ในขณะที่ประเทศที่คลั่งใคล้การสอบอย่างเกาหลีไต้ ที่มีการสอบครั้งยิ่งใหญ่ระดับชาติที่เรียกว่า “ชูนึง” เด็กเกาหลีจะพยายามสอบเข้าให้ได้ใน 3 มหาวิทยาลัยหลัก และลามไปถึงการสอบเข้าทำงาน ซ้ำยังมีการประท้วงของผู้ปกครองที่กดดันครูเมื่อเด็กไม่ได้คะแนนสอบตามที่คาดหวัง
แม้เกาหลีใต้จะได้คะแนน PISA อยู่ในกลุ่มต้น ๆ ของอาเซียน แต่กลับพบว่าเด็กไม่มีความสุข และผู้ปกครองมีความไม่เชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพการศึกษาที่ทั่วถึงเช่นเดียวกับในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้รัฐพยายามแก้ไขโดยกำหนดมาตรการห้ามเรียนบพิเศษหลัง 4 ทุ่ม แล้ว
หรือในประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 1980 มีนักเรียนจบชีวิตตัวเองเยอะมากด้วยการกระโดดให้รถไฟชน จนกระทั่งเกิดการปฏิรูปการศึกษา ทำให้เกิดโรงเรียนใกล้บ้าน ที่อยู่ในสังกัดท้องถิ่นอย่างทั่วถึงตั้งแต่ในระดับประถมศึกษา เช่น โรงเรียนในเกาะคิวชู ที่มีนักเรียนแค่ 8 คน ครู 11 คนเท่านั้น แต่รัฐยังคงรักษาไว้ไม่ให้โดนปิด สิ่งเหล่านี้เป็นการที่รัฐพยายามกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง รวมถึงพยายามปลูกฝังวิธีคิดเรื่องคุณค่าทางอาชีพให้กับประชาชนด้วย
“เราจะเห็นญี่ปุ่นพยายามส่งเสริมเรื่องการให้คุณค่าในทุกอาชีพ ทั้งนักกีฬา คนทำซูชิ หรือคนดูแลผู้สูงอายุ ทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเหมือนกันหมด เราจะเห็นรัฐพยายามสร้างการรับรู้ผ่านภาพยนตร์ ซีรีย์ หรือการ์ตูน ทุกคนมี ให้ทุกคนในชาติเชื่อว่า ทุกอาชีพก็ความหมายโดยไม่จำเป็นต้องไปเป็นหมอหรือวิศวกรแบบบ้านเรา”
โดยเฉพาะบางอาชีพอย่างนักดับเพลิง ที่ต้องใช้ความแข็งแรงสูงและทักษะหลายอย่าง ในญี่ปุ่นจะได้รับค่าแรงสูงและวันพักผ่อนที่มากขึ้น เพราะเป็นอาชีพที่ต้องเสี่ยงภัยและแบกรับความเครียดสูงว่าอาชีพอื่น ในขณะที่ในไทยกลับเป็นอาชีพที่ได้ค่าแรงน้อยมากหรือในสิงคโปร์ที่มีระบบราชการคล้ายบ้านเรา ตอนนี้มีการยกระดับการเรียนสายอาชีพให้คู่ขนานไปกับการเรียนสายสามัญ มีการยืดหยุ่นให้เรียนข้ามสายได้หากเด็กเรียนแล้วรู้สึกไม่ชอบ และยังมีนโยบายลดการตีตรา และให้ความมั่นใจว่าเรียนสายอาชีพก็มีชีวิตที่ดี ค่าแรงเหมาะสม และมีหน้าตาในสังคมได้ไม่ต่างจากการเรียนสายสามัญ ในขณะที่ฝั่งตะวันตกกลับมีเส้นทางการเรียนของเด็กอีกแบบ
“ในตะวันตก เขาไม่เชื่อเรื่องการเรียนพิเศษแบบเอเชีย การศึกษาเขาอยู่บนฐานคิดที่ว่าให้เด็กได้ค้นพบตัวเอง รู้จักตัวเอง และรู้ความต้องการของตัวเอง เราจึงเห็นหนุ่มสาวจำนวนมากเรียนจบม.6 แล้วออกเดินทางท่องโลกก่อนเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ”
โดยเฉพาะในประเทศฝั่งยุโรป ที่เป็นการศึกษาให้เปล่าตลอดชีวิต หากเรียนไปแล้วสามารถออกไปทำงานหรือเปลี่ยนสายการเรียนได้ หรือในอเมริกาที่มีระบบกองทุนกู้ยืมของรัฐ หากใครเรียนแล้วจ่ายไม่ไหวก็ออกไปทำงานก่อน แล้วค่อยกลับมาเรียน ระบบการศึกษาก็ยังเปิดรับเป็นเรื่องปกติ
“ในบ้านเรา สังคมไทยใช้ใบปริญญาเป็นใบเบิกทางเพื่อให้ได้งานทำที่ดีและเลื่อนสถานะทางสังคม แต่ในต่างประเทศ เขาเรียนหนังสือเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงานและการค้นหาตัวเองต่างหาก”
ท้ายที่สุดแล้ว ปรากฏการณ์นักเรียนแห่สอบเข้าโรงเรียนชื่อดังในบ้านเราแบบนี้ กำลังสะท้อนให้เราเห็นปัญหาของระบบการศึกษาที่ซุกอยู่ใต้พรมและพัวพันในหลายมิติ ทั้งเรื่องธุรกิจการศึกษา การกระจายอำนาจของรัฐ การไม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษาของประชาชน รวมไปถึงค่านิยมเชิดชูความสำเร็จ และการดิ้นรนทะลายชนชั้นเพื่อให้ลืมตาอ้าปาก บทเรียนมากมายในหลายประเทศล้วนชี้ให้เห็นว่า เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤต และควรเร่งแก้ไขเสียทีก่อนที่จะมีความสูญเสียมากไปกว่านี้