ศธ. แถลงผลงานรอบ 3 เดือน มุ่งผลักดัน “Soft Power ด้านการศึกษา”

ศธ. แถลงผลงานรอบ 3 เดือน ย้ำความสำคัญของการศึกษาจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างทุนทางวัฒนธรรม ‘อนุทิน’ ชมเมืองไทยมีเด็กเก่งเยอะ ย้อนถามที่ระดับการศึกษา “รั้งบ๊วย” นั้นเอาอะไรมาวัด? เชื่อทุกคนมีวันนี้ได้เพราะ ‘เกรง’ ครู

วันนี้ (25 ธันวาคม 2566) กระทรวงศึกษาธิการจัดงาน “EDU SOFT POWER FESTIVAL 2024” และการแถลงผลงานตามนโยบายรอบ 3 เดือน ณ กระทรวงศึกษาธิการ โดยอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน ภายในงานมีการจัดกิจกรรม การแสดง ผลงานด้าน Soft Power ของแต่ละ โรงเรียนพร้อมนิทรรศการกว่าร้อยจุด คาดตลอด 3 วันจะมีคนร่วมงาน 16,500 คน เตรียมมอบผลงานกระทรวงเป็นของขวัญปีใหม่คนไทย

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นกล่าวจุดประสงค์ของงานในวันนี้ หวังให้ทุกคนเข้าใจถึงภารกิจสำคัญของกระทรวง ที่จะเชื่อมโยงให้การศึกษาเป็นรากฐานของการสร้างวัฒนธรรม และผลักดันเศรษฐกิจ Soft Power โดยใช้แนวคิด 5F’s ในการจัดงานในครั้งนี้ ได้แก่ Food, Fashion, Film, Fighting, และ Festival จนถึงปัจจุบันหลายเรื่องมีการขับเคลื่อน เกิดความก้าวหน้าสอดคล้องนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล 10 เรื่องที่สำคัญ ดังนี้

  1. แก้ไขปัญหาหนี้สินครู ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและตั้งสถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่การศึกษา สำรวจสภาพหนี้ครู จัดกลุ่มครูตามภาระหนี้ จัดทำหลักสูตรเสริมสร้างวินัยทางการเงินและอนุมัติวงเงินให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน 200 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาภาวะหนี้สิน สร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน
  2. เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา เรียนฟรีมีงานทำ มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ สื่อเทคโนโลยีดิจิทัลโดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จัดคอร์สติวออนไลน์เพื่อสอบ TGAT, TPAT และ A-Level จัดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษตามกรอบ CEFR ให้นักเรียนฟรี
  3. พัฒนาระบบการแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต จัดทำกรอบหลักสูตรการพัฒนาครูแนะแนวแกนนำ และการโค้ชชิ่งที่สอดคล้องสถานการณ์
  4. จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรวิชาชีพในการประกอบอาชีพ ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พัฒนาหลักสูตรให้นักเรียนอาชีวะมีคุณวุฒิวิชาชีพ
  5. จัดทำระบบวัดผลเทียบระดับและประเมินผลการศึกษา ให้ผู้เรียนที่มีความเป็นเลิศไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ จัดทำแนวทางการสะสมหน่วยการเรียนรู้ การเทียบโอนผลการเรียน จากโรงเรียนนอกระบบสู่โรงเรียนในระบบ
  6. หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนคุณภาพ กำหนดโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายรวม 1,808 แห่ง เป็นโรงเรียนประถมศึกษา 901 แห่งและมัธยมศึกษา 907 แห่งเตรียมเปิดตัวประกาศรายชื่อโรงเรียนคุณภาพที่รับการคัดเลือกในปีนี้
  7. มีรายได้ระหว่างเรียนจบแล้วมีงานทำ ปักหมุด 22 จังหวัดทวิภาคีเข้มข้นเพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนร่วมกับศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวะเพื่อสร้างธุรกิจ สร้างรายได้ พัฒนาเป็นผู้ประกอบการ
  8. ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครู สร้างความรู้ความเข้าใจการประเมินวิทยฐานะผ่านระบ DPA ลดการทำเอกสาร เน้นผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน คำนึงถึงบริบทของสถานศึกษา
  9. ครูคืนถิ่น ลดขั้นตอนลดเอกสาร เพิ่มความสะดวกให้ครูย้ายกลับภูมิลำเนาได้ง่ายขึ้นด้วยความโปร่งใส ผ่านระบบจับคู่ครูคืนถิ่น TMS ให้ครูขอย้ายสับเปลี่ยนได้เพื่อเป็นของขวัญในวันครู
  10. จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม นำร่องการจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่หลากหลายสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์ช่วยจัดการเรียนการสอน และสนับสนุนจัดหาแท็บเล็ตที่มีประสิทธิภาพ

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขึ้นกล่าวเปิดงานด้วยความชื่นชม มองเห็นเด็กไทยมีศักยภาพ แข่งขันประสบความสำเร็จจำนวนมาก พร้อมถามกลับถึงผลการจัดอันดับการศึกษารั้งท้ายนั้น “เอาอะไรมาวัด?” และ “วัดจากมาตรฐานไหน?” พร้อมยกตัวอย่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เรียนในต่างจังหวัดแต่ก็ประสบความสำเร็จจนเป็นถึงประธานองคมนตรี ชี้ว่าอย่ามองแค่เอาอะไรมาวัดผลการศึกษา แต่ควรคิดว่าทำอย่างไรให้เด็กมีใจใฝ่ดี

“ผมฟังคำวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ว่า[อันดับ]เรารั้งท้าย ผมต้องกราบเรียนตรง ๆ ว่า เอาอะไรมาวัด? วัดจากมาตรฐานไหน? …ผมว่าผมยังโชคดีกว่าท่าน ผมเกิดในเมืองใหญ่ ผมได้รับการศึกษา ผมเรียนอนุบาลยัน ม.6 ในสถานศึกษาที่มีความสมบูรณ์หมด ผมยังสู้พวกท่านไม่ได้เลย… ผมว่าหลายท่านก็อยู่ต่างจังหวัด แล้วก็เรียนเหมือนน้อง ๆ นี่แหละ ทำไมท่านมาถึงจุดนี้ได้? ผมว่ามันคือความมุ่งมั่นมากกว่า”

อนุทิน ชาญวีรกูล

อนุทินมองว่า ยุคสมัยนี้เปลี่ยนไป มีโซเชียลมีเดีย ทำให้มีเรื่องร้องเรียนมายังกระทรวงศึกษามากขึ้น เดี๋ยวนี้ครูห้ามทำให้เด็กกลัว แต่ครูก็ควรทำให้เด็กยำเกรง และเชื่อว่าความกลัวครูทำให้เราทุกคนมีวันนี้ แต่ในเมื่อโลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับ แต่ก็ขอให้คงรักษาวัฒนธรรมไทยเอาไว้ ด้วยศักยภาพเด็กไทยจะพาชาติไปไกลได้ด้วย Soft Power

“สิ่งเหล่านี้คือการปลูกฝังวัฒนธรรมไทย เราทิ้งไม่ได้ ถ้าเมืองไทยขาดสิ่งเหล่านี้ เมืองไทยก็ไม่เป็นประเทศไทย มันก็เป็นประเทศอะไรก็ได้ ระบบการศึกษาก็เช่นกัน… ยุคนี้มีโซเชียลมีเดีย มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่ยังไงพวกเราเป็นครูเป็นอาจารย์ เด็กต้องเกรงขาม เด็กต้องเกรงใจครู ไม่ต้องกลัว แต่ต้องเกรง”

อนุทิน ชาญวีรกูล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active