“การศึกษาฟรีไม่จริง เหลื่อมล้ำ และปิดกั้นคนชายขอบ”

TEDxBangkok Youth ตั้งคำถามถึงการศึกษา เชื่อเด็กทุกคนมีศักยภาพ ฝากนโยบายถึงผู้ใหญ่ สร้างสังคมแห่งความเป็นไปได้ มีพื้นที่ที่เด็กได้พูดและผู้ใหญ่ได้ฟัง

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2566) TEDxBangkok Youth 2023 เปิดเวทีการพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ผ่านเรื่องราวของ 11 นักพูดเยาวชนตั้งแต่อายุ 12 – 22 ปี ชักชวนผู้ฟังร่วมตั้งคำถามไปกับคนรุ่นใหม่ พิสูจน์ว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ หากเราอยู่ในสังคมแห่งความเป็นไปได้ ขณะที่ “ระบบการศึกษา” ยังน่าเป็นห่วง นักพูดสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรียนฟรีไม่จริง และกีดกันโอกาสทางการเรียนรู้ของคนไร้สัญชาติ-ผู้พิการ

เด็ก “ไร้สัญชาติ” ที่ไม่ “ไร้ความสามารถ”

“โอ๋” หญิงสาวไร้นามสกุล บุคคลไร้สัญชาติและเยาวชนต้นแบบปี 2566 บอกเล่าเรื่องราวอุปสรรคทางการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ เพียงเพราะเธอไม่มีบัตรประชาชน เหมือนอย่างที่คนอื่นเขามี ตลอด 22 ปีที่โอ๋เกิดมา คือระยะเวลาที่โอ๋ต้องรอเพื่อรับรองการได้สัญชาติและยังคงต้องรอต่อไป นั่นเท่ากับว่า สิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในช่วงเยาว์วัยก็ได้หล่นหายไปพร้อมกัน

“โอ๋มีชื่อที่อยากใช้ค่ะ หลายคนอาจจะเปลี่ยนชื่อไปแล้วหลายครั้ง แต่โอ๋ไม่มีสิทธินั้น…ก่อนเข้างานนี้ บัตรประชาชนหลายคนอาจจะลืมไว้ หลายคนอาจจะทำหาย แต่ไม่เป็นไรค่ะ ทุกคนสามารถทำใหม่ได้ แต่โอ๋ ไม่มีสิทธินั้น”

โอ๋

โอ๋ ไม่มีสิทธิสมัครรับกองทุนทางการศึกษา เนื่องจากเงื่อนไขกำหนดว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย เธอหวังจะได้มีอาชีพที่มั่นคง ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง เพื่อน้องสาว และครอบครัว โอ๋จึงได้ฝันอยากจะเป็นพยาบาล แต่โอ๋ก็เป็นไม่ได้ เพราะอาชีพเหล่านั้นกำหนดให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย โอ๋จึงกลับมาอยู่กับความจริง มองหามหาวิทยาลัยสักแห่งที่จะเข้าเรียนต่อได้ แต่ในใบสมัคร มีช่องให้โอ๋กรอกนามสกุล เลขบัตรประชาชน หรือเลขพาสปอร์ต โอ๋ย้ำว่า โอ๋ไม่มีอะไรให้เขียน โอ๋แทบไม่เหลือทางเลือกใดอีก

แม้วันนี้โอ๋ได้มายืนพูดต่อหน้าทุกคน ในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่นั่นก็แลกมาด้วยการเสียสละของน้องสาว ที่เลือกไม่เรียนต่อเพื่อให้พี่ได้ไปถึง “เป้าหมาย” เนื่องจากภาระในครอบครัวที่หนักมากขึ้น ท้ายที่สุดน้องสาวของโอ๋ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา และกลายเป็นแรงงานเด็กโดยที่ไม่ได้เลือก

โอ๋ ชักชวนผู้ฟังตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ระบบการศึกษาจะไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง ถ้าโอ๋ในวันนี้ ไม่ได้เข้าเรียนหนังสือ โอ๋อาจจะต้องเป็นแรงงานเด็ก หรืออาจต้องพัวพันกับปัญหาอาชญากร และถูกตีตราว่าเป็น “ปัญหาสังคม” แต่โอ๋สงสัยว่า ใครกัน ที่ผลักให้เรากลายเป็นแบบนั้น เราได้เลือกมันหรือเปล่า?

“สถานศึกษาคือสถานที่ที่ใครหลายคนบอกว่าเป็นพื้นที่แห่งการขัดเกลา จริงไหมคะ? แต่ถ้าเด็กไร้สัญชาติ เข้าเรียนไม่ได้ คุณว่าการขัดเกลา มันคือหน้าที่ของใครกัน…แล้วผู้ใหญ่มีหน้าที่คืออะไรคะ? ให้โอกาสเด็ก? ชี้ทาง? หรือผลักเด็กลงไป? ผู้ใหญ่ที่ว่าอาจจะเป็นภาครัฐ เจ้าหน้าที่ด้านสัญชาติ หรือใครก็ตามที่มีอำนาจ…เขาต้องตระหนักถึงชีวิตและคุณค่าแห่งความฝัน

โอ๋

มูลค่าของบัตรประชาชนใบหนึ่งมีเท่าไหร่นั้น? โอ๋เองก็ตอบไม่ได้ แต่เธอย้ำว่า ตนได้ใช้ทั้งหัวใจ ทั้งความฝัน ครอบครัว และชีวิต นั่นคือราคาที่โอ๋ต้องจ่ายสำหรับสิทธิการเป็นประชาชนคนหนึ่ง

อนาคตของเด็กต่างจังหวัด กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ

เบลล์-รัญชิดา รจนากิจ ตัวแทนเยาวชนในคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนยูนิเซฟ (UNICEF) เด็กจากขอนแก่นที่เชื่อว่าประตูแห่งโอกาส “ควรถูกกระจายให้เด็กและเยาวชนทุกคน” เธอเริ่มต้นการพูด ด้วยการตั้งคำถามว่า “มีใครในที่นี้อยากกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้ เพราะโอกาสอยู่ในกรุงเทพฯ บ้างไหม?”

จากการที่เธอได้เติบโตในต่างจังหวัด มีความฝันเป็นนักการทูต ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กต่างจังหวัดหลายคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เธอก็ฝ่าฟัน จนครั้งหนึ่งได้พูดบนเวทีสหประชาชาติในที่สุด พอมองย้อนกลับมาแล้ว สำหรับเด็กคนหนึ่งที่ชอบในรัฐศาสตร์ ชอบองค์การสหประชาชาติ เธอไม่เคยได้ยินถึงโอกาสที่จะได้ทำความรู้จักเพิ่มเติมในเรื่องที่สนใจ หรือเรื่องที่เพื่อนคนอื่น ๆ สนใจ ในพื้นที่จังหวัดบ้านเกิดของตัวเองเลย เพราะโอกาสในการฝึกฝนและคว้าโอกาสล้วนอยู่แต่ในกรุงเทพฯ

“นั่นเป็นครั้งแรก ที่เบลล์ได้ตั้งคำถามว่า ทำไมโอกาสถึงมีแค่ในกรุงเทพฯ​ ทำไมเราต้องเก็บเงินที่จะเข้ากรุงเทพฯ ทุกครั้ง ที่เราอยากทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เพื่อนของเบลล์ได้เปิดโอกาสและทำให้เบลล์รู้ว่า กรุงเทพฯ คือโลกอีกใบ

รัญชิดา รจนากิจ

เบลล์ย้ำว่า ไทยเรามีเด็กมากความสามารถ แต่โอกาสกลับไปไม่ถึง ซึ่งมันเป็นเรื่องง่ายดายมากหากจะหยิบยื่นโอกาส หรือสร้างกิจกรรมใน กทม.  เบลล์จึงริเริ่มโครงการ ISSAN YOUTH MANIFESTO โครงการผู้นำเยาวชนไทยต้านภัยพิบัติ นำเยาวชนผุดไอเดียนโยบายแก้ภัยน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี เบลล์สะท้อนว่า เธอได้เห็นพลังความคิดของเยาวชน และเครือข่ายแห่งโอกาสที่สามารถสร้างได้ในต่างจังหวัด ซึ่งพื้นที่แห่งโอกาสเหล่านี้ รัฐสามารถทำได้ โดยไม่ต้องรอให้เยาวชนมาเป็นคนริเริ่ม

“เบลล์อยากเห็น ไม่ว่าเด็กอยู่ที่ไหนก็ได้รับโอกาส เบลล์เชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้คือ นโยบาย นโยบายที่ฟังเสียงของเด็กและเยาวชน นโยบายที่เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง…เบลล์ว่ามันถึงเวลาแล้ว การจะทำให้โอกาสไม่กระจุกอยู่ในเมืองหลวง คือเราต้องฟัง ว่าเด็กเขาต้องการอะไร” 

รัญชิดา รจนากิจ

การศึกษาของคนหูหนวกที่ไร้คนได้ยิน

เอิร์น-ชนิดาภรณ์ มาตรวังแสง เด็กพิการทางการได้ยิน ผู้เขียนบทความ “ในโลกการศึกษาที่เสียงดังไปไม่ถึง” ได้แบ่งปันเรื่องราวชีวิตของคนหูหนวก ผ่านภาษามือ โดยมีล่ามช่วยแปลให้ผู้ฟัง เอิร์นเผยว่า ตนเกิดมาหูหนวก ไม่สามารถได้ยินเสียงรอบข้างอย่างชัดเจน ทำให้เอิร์นไม่สามารถออกเสียงพูดอย่างคนหูดีได้ และนั่นกลายเป็นกำแพงความเข้าใจระหว่างเธอและคนรอบข้าง

ในฐานะเด็กนักเรียนหูหนวกคนหนึ่ง เธอต้องการเข้าถึงศิลปะสื่อบันเทิงที่ไม่ต่างจากคนหูดี เอิร์นชอบฟังเพลงมาก แต่เสียงเพลงที่เธอฟัง อาจจะดังมากจนรบกวนผู้คนบนรถไฟฟ้า หรือเวลาที่เธอดูละคร ภาพยนตร์ที่มีบทยาว ๆ เธอไม่สามารถอ่านคำบรรยายแทนเสียงได้ทัน เธอหวังจะให้มีล่ามภาษามือ แต่สังคมก็ตั้งคำถามว่าแล้วจะเอาล่ามไปอยู่ตรงไหน นี่คือโลกที่เต็มไปด้วยคำถามและความสงสัย ซึ่งเอิร์นได้เจอมาทั้งชีวิต แต่อย่างนั้น ตนก็ภูมิใจที่ในการเป็นคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือสื่อสาร

“โปรดเข้าใจว่า ล่ามภาษามือมีประโยชน์ในการรับรู้ข่าวสาร สาระเนื้อหาต่าง ๆ แต่ในภาพยนตร์เพลงซึ่งเป็นความบันเทิงและเป็นความสุข ก็มีประโยชน์กับคนหูหนวกเหมือนกัน โปรดเข้าใจว่าคนหูหนวกใช้ภาษามือในการสื่อสารซึ่งจะต้องมีสีหน้าท่าทางหรืออารมณ์ โปรดอย่ารังเกียจเราเป็นตัวประหลาดเลยนะคะ”

ชนิดาภรณ์ มาตรวังแสง เล่าผ่านล่ามภาษามือ

เอิร์นเคยได้มีโอกาสไปแข่งประกวดโครงการเทคโนโลยี เธอหวังสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือผู้สูงอายุที่โดดเดี่ยวในบ้านและไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ ซึ่งเอิร์นต้องแข่งขันกับเพื่อน ๆ คนหูดี เมื่อถึงคราวนำเสนอ เอิร์นกังวลจนไม่กล้าสบตากรรมการ แต่กรรมการให้กำลังใจดีมาก ทำให้เอิร์นกล้านำเสนอ และใช้ภาษามือในการสื่อสาร และท้ายที่สุดเอิร์นก็ได้รางวัลชนะเลิศในการประกวดครั้งนั้น 

ทอล์กของเอิร์นปิดลงด้วยความเงียบ เนื่องจากล่ามไม่ได้แปลภาษามือของเธอต่อ ท่ามกลางความเงียบและคำถามของผู้ฟังหลายคน ข้อความด้านหลังเวทีก็ได้ปรากฏว่า

“ทุกคนจำได้ไหมคะ ตอนต้นเอิร์นเล่าเรื่องอยู่เรื่องหนึ่งที่ทุกคนอาจจะเข้าใจ ไม่เข้าใจ เพราะว่าเอิร์นใช้ภาษามือโดยไม่มีล่ามและไม่มีแคปชั่น อาจมีคำถาม แต่น่าเสียดายจังค่ะ แต่ก็ยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกแห่งคำถามของเอิร์นนะคะ”

เวทีการพูดเพื่อแรงบันดาลใจแห่งนี้ ยังมีนักพูดรุ่นเยาว์อีกหลายชีวิต ที่บอกเล่าความหวังและความฝันผ่านเรื่องราวที่ประสบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะโลกรวน พื้นที่ทางศิลปะ อคติทางเพศ ภาวะสุขภาพจิตวัยรุ่น ประเด็นเหล่านี้เป็นอนาคตที่ไม่แน่นอน ซึ่งเด็กในวันนี้ต้องเผชิญเมื่อเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า จึงขอฝากข้อเสนอแนะไปยังผู้ใหญ่ในสังคม ไม่จำเป็นต้องทำทันที แต่อย่างน้อยสังคมนี้ ยังมีพื้นที่ที่เด็กได้พูด และผู้ใหญ่ได้ฟัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active