เด็ก เยาวชน ข้ามชาติ ในไทยจ่อเพิ่มขึ้นท้าทายระบบการศึกษาไทย

จากข้อมูลพบการเข้าถึงระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นในช่วง 10  ปี แต่ชายแดนยังขาดแคลนทั้งครู งบฯ ภาคประชาชนเสนอจัดทำหลักสูตร เชื่อมโยงส่งต่อในระบบเพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไทยและประเทศต้นทาง รองรับอนาคตที่คาดว่าจะมีผู้ลี้ภัยจากการสู้รบมากขึ้น 

วันนี้ (7 ต.ค. 66) เสวนาโลกการศึกษา คู่ขนาน บริบทการเรียนรู้ของเยาวชนข้ามชาติ ได้นำเสนอสถานการณ์ ปัญหาของเด็ก เยาวชน ข้ามชาติในไทย ต่อการเข้าถึงระบบการศึกษา พบว่า รูปแบบการศึกษาที่เด็กและเยาวชาติข้ามชาติสามารถเข้าถึงได้ ในปัจจุบันมีทั้งในระบบ สพฐ.  โรงเรียนสังกัด กทม.ศูนย์การเรียนรู้  MLC และนอกระบบ  รวมกว่า 120,000 คน ขณะที่แรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาทำงานและพำนักในไทย กว่า 3 ล้านคน  และแนวโน้มคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศไทยทุกมิติรวมถึงการศึกษา

ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท ระบุว่า ที่ผ่านมา ในระยะ 10 ปีให้หลัง เด็กและเยาวชนข้ามชาติสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาของไทยได้มากขึ้น หากดูตัวเลขเฉพาะสังกัด กทม. ในปี 2553 มีเพียง 500 คนเท่านั้น แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้น ถึง 8,000 คนนอกจากนี้ยังพบว่าบางโรงเรียนได้มีการเพิ่มทั้งขนาดห้อง ปริมาณห้องเรียนเพื่อรองรับเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น  รับเด็กที่โตเกินเกณฑ์มากขึ้น หากดูปัจจัยภายนอกประเทศจะพบว่า การสู้รบในประเทศเมียนมา ทำให้แรงงานข้ามชาติจำเป็นต้องนำบุตรหลานติดตัวมาด้วยและเพิ่มมากขึ้น และเด็กที่นำมาส่วนใหญ่เป็นเด็กโตอยู่ไม่นานสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ สร้างความท้าทายให้กับประเทศไทยในเรื่องของภาษา 

“เด็กไม่พร้อม และโรงเรียนบางแห่งยังไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติการรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียนโดยเฉพาะเด็กที่ไม่หลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ความพร้อมเหล่านี้ส่งผลให้เด็กเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาและการส่งต่อที่เชื่อมโยงกับการศึกษาระบบอื่น”

ประเทศไทยมีความคืบหน้าและเล็งเห็นความสำคัญของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติ กว่า 3 ล้านคน ที่เข้ามาทำงานและพำนักในไทย จะเห็นจากมติคณะรัฐมนตรี 5 ก.ค.2548 เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย  พร้อมกันนี้ยังมีระเบียบแนวทางการจัดการ คู่มือ รวมถึงงบประมาณในการรองรับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัย ศึกษาติดตามว่าเด็ก เยาวชนข้ามชาติ ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากน้อยแค่ไหน มีชีวิตที่เชื่อมโยงกับประเทศไทยและประเทศต้นทางในการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพมากแค่ไหน หากมีงานศึกษาเหล่านี้ จะทำให้สามารถอธิบายให้เห็นถึงสิ่งที่ตอกย้ำว่าการลงทุนทางการศึกษานั้นสำคัญ

ขณะที่ ศิราพร แก้วสมบัติ มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการของไทยมีความคืบหน้าในการส่งเสริมการศึกษาเด็ก เยาวชน ข้ามชาติ เพราะหากเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจะยากมากที่จะนำกลับมาเพราะส่วนใหญ่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ รายได้ ปัญหาการศึกษาบริเวณชายแดน ครูไม่พร้อม ห้องไม่พร้อม เด็กถูกปฏิเสธเพราะว่าห้องเต็ม ยังไม่นับเด็กพิการ ซึ่งมีปัญหาซ้ำซ้อน  ปีที่แล้วตกไปเกือบ 100 คน หากมีการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ 

“การศึกษาของไทยจะเป็นอย่างไร ในการรองรับคนกลุ่มนี้ ที่มากขึ้น  ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ มีเท่าเดิมแต่เด็กเพิ่มขึ้น อยู่กันมา 30 ปี ไม่มีงบฯ อุดหนุนจากรัฐ ได้รับเงินส่วนใหญ่ จากต่างประเทศ ชุมชน ผู้ปกครอง แต่งบฯ มีเพียงแค่ดูแลเด็ก แต่ไม่พอจ้างครู” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active