สส. – สว. สอนงาน ครม. ใหม่ คิดจะแก้ปัญหาการศึกษาไทยต้องใช้ยาแรง

สมาชิกรัฐสภา ย้ำลงทุนกับเยาวชนคุ้มค่าที่สุด แนะ เร่งพัฒนาทักษะแรงงานให้ทันก่อนวิกฤตแรงงานขาดแคลนและสังคมสูงวัยรุนแรงกว่านี้

วันนี้ (12 กันยายน 2566) เป็นวันที่สองของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยคณะรัฐมนตรี ภาพรวมการอภิปรายเน้นหนักไปที่ปัญหาเชิงสังคม ทางฝ่ายค้านจัดทัพวิพากษ์นโยบายด้านสวัสดิการ-การศึกษา หวังรัฐชูการพัฒนาเยาวชนให้เป็นวาระแห่งชาติ ด้าน สว. มองการศึกษาไทยต้องใช้ยาแรง แค่ปฏิรูปอาจไม่พอ ต้องปฏิวัติทั้งโครงสร้าง 

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล อภิปรายเนื้อหาคำแถลงนโยบายเศรษฐา 1 กล่าวถึงปัญหาโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ยอดการตายแซงหน้ายอดการเกิด ประชากรในวันแรงงานถดถอยลงทุกวัน ในขณะที่จำนวนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤติขาดแคลนแรงงาน แต่ในคำแถลงยังไม่ปรากฏรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า มีเพียง ‘สวัสดิการโดยรัฐ’ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าการที่ประชาชนจะได้รับสวัสดิการขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลแต่ละยุคสมัยในลักษณะที่ประชาชนเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาลชุดนั้น

ศศินันท์ ชี้ว่า วัยเด็กเป็นวัยสำคัญที่จะได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งพ่อแม่ต้องให้เวลาเลี้ยงดูอย่างดี สวัสดิการในการลาคลอดเพื่อให้แม่สามารถให้นมบุตรได้อย่างครบถ้วนเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเด็กวัย 0 – 2 ขวบ หากเด็กได้รับการดูแลที่ดีตั้งแต่วัยทารก บ่มเพาะนิสัยได้ตั้งแต่วัยเด็ก ก็จะสามารถโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้ และจะช่วยลดปัญหาสังคมได้ไม่มากก็น้อย แต่สวัสดิการในการแม่และเด็กยังไม่เพียงพอ

“ปัจจุบันประเทศไทยเรายังลาคลอดได้แค่ 3 เดือน การให้นมบุตรต้องเป็นภาระของแม่ ดิฉันเป็นแม่ลูกสองคนหนึ่งที่ผ่านช่วงเวลานั้นมา จะออกจากบ้านทีเหมือนไปออกรบ กระเป๋าซ้ายขวาสะพายหลังอีกหนึ่ง ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ [การลาคลอด สวัสดิการแม่และเด็ก] ควรเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐควรมีให้กับประชาชนและแม่ทุกคนที่กำลังบ่มเพาะทรัพยาการมนุษย์ที่สำคัญมากกับประเทศนี้”

ศศินันท์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้เมื่อได้อ่านแถลงนโยบายกลับว่างเปล่า ตนเข้าใจว่าการเพิ่มเงินอุดหนุน 3,000 บาท ต้องใช้เวลา ชี้ การสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กไม่ควรต้องพิสูจน์ความยากจน ต้องเปลี่ยนให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ให้เด็กอีก 4 ล้านคนไม่ตกหล่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะยากเกินไป และตั้งคำถามกับรัฐบาลเศรษฐา ว่า สวัสดิการที่ต้องพิสูจน์ความจนจะทำให้คนไทยมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีไปพร้อม ๆ กันได้อย่างไรและสงสัยว่ารัฐบาลกำลังเห็นสิ่งใดสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะงบประมาณที่ควรนำไปสนับสนุนเด็กเล็ก เด็กแรกเกิด กลับถูกแย่งไปกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ขยับขึ้นมาในวัยเรียน ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขึ้นอภิปรายถึงปัญหาระบบการศึกษาที่ติดหล่มซ้ำ เพราะรัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างไม่ตรงจุด อ้างจะปฏิรูปแต่ยังไร้แนวปฏิบัติที่ชัดเจน พร้อมถามหา พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติที่เคยหาเสียงไว้นั้นหายไปไหน แล้วรัฐบาลจะปัดฝุ่นฉบับเก่าหรือร่างใหม่ ตนย้ำเตือนว่า พ.ร.บ. การศึกษาฉบับเก่ามีการล็อกสเป็คผู้เรียน เหมือนจับเด็กยัดใส่กรอบพัฒนาเดียวกันหมด ห่วงการปฏิรูปการศึกษาไร้แนวปฏิบัติ ย้ำการกระจายอำนาจการศึกษาที่ดีที่สุดคือให้หน่วยเล็กสุดอย่างโรงเรียนเป็นผู้จัดการศึกษาทั้ง 4 มิติ

1) การบริหารงานทั่วไป ให้ ผอ. ตัดสินใจแนวทางจัดการศึกษาได้เองไม่ต้องรอกระทรวง 

2) การบริหารงานบุคคล ให้โรงเรียนและนักเรียนมีส่วนในการเลือกครูได้เองตามความต้องการ

3) การบริหารงานวิชาการ หวั่นการใช้หลักสูตรเดียวกันหมดทั้งประเทศ ทำให้เด็กไม่รู้จักท้องถิ่น แนะให้ท้องถิ่นออกแบบเองตามบริบทที่แตกต่างกัน

4) การใช้งบประมาณ แนะให้ทุกโรงเรียนมีอำนาจจัดสรรงบเต็มที่เพื่อออกแบบการศึกษาได้มีคุณภาพและตรงจุด

“ท่านจะกระจายอำนาจการศึกษาไม่ได้เลย ถ้าท่านไม่แตะโครงสร้างอันใหญ่โตเทอะทะของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่โตเทอะทะและซ้ำซ้อนมาก ใช้ระบบการบริหารงานแบบสั่งการจากบนลงล่าง และรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลาง โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ไม่มีความเชื่อใจผู้ปฏิบัติการ ซึ่งก็คือครู”

ปารมี ชี้ว่าปัญหาการศึกษาถูกแก้ไขอย่างไม่ตรงจุด แม้ตนจะเห็นชอบกับนโยบายแก้หนี้กยศ. ของทางพรรคภูมิใจไทย แต่ชี้ว่าเด็กไทยคงไม่อาจได้ใช้สิทธิ กยศ. ด้วยซ้ำ เพราะ 1 ใน 3 ของเด็กยากจนที่สุดไม่สามารถเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ แนะรัฐเพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก พาเขากลับคืนสู่ระบบการศึกษา ปัจจุบันรัฐใช้วิธีให้งบอุดหนุนรายหัว ซึ่งยิ่งซ้ำเติม เพราะยิ่ง รร. เล็กยิ่งได้เงินน้อย แนะใช้เกณฑ์การจัดสรรงบแบบ FSQL (Fundamental School Quality Levels) หรือเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำของโรงเรียน หลักเกณฑ์นี้จะช่วยให้เกิดการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมมากขึ้น

ทางด้านปรีดา บุญเพลิง สส. บัญชีรายชื่อพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ชี้ว่าคำแถลงของรัฐบาลเศรษฐามีความกำกวม ไม่ระบุชัดเจนว่าจะพัฒนาด้วยวิธีการใด อีกทั้งนโยบายที่ใช้หาเสียง 12 นโยบายไม่ปรากฎในคำแถลงของรัฐบาล เช่น เรียนฟรี, ขจัดปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน, เพิ่มงบกองทุนการศึกษา เป็นต้น โดยตนเสนอว่ารัฐบาลควรเร่งร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ โดยย้ำว่าต้องใช้ยาแรงเท่านั้น คือการกระจายอำนาจการศึกษาจากส่วนกลางไปยังสถานศึกษาโดยเร็ว 

“เสนอร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ โดยมีเนื้อหาที่ต้องปฏิวัติการศึกษาเท่านั้น จึงจะสำเร็จ ต้องใช้ยาแรงเท่านั้น ถ้าจะยังใช้คำว่าปฏิรูปการศึกษาอยู่ไม่สำเร็จหรอกครับ ต้องปฏิวัติโครงสร้างระบบการบริหารการศึกษาของกระทรวงและหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังสถานศึกษาอย่างแท้จริง”

ขณะที่ ศ. นิสดารก์ เวชยานนท์ สมาชิกวุฒิสภาได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ “นโยบายด้านการศึกษา” แนะรัฐควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการศึกษามากกว่านี้ ควรมีการกำกับติดตามการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ต่อเนื่อง และจริงจัง ควรพัฒนาระบบกลไกลคช่องว่างความเหลื่อมล้ำครอบคลุมทุกพื้นที่ ควรสร้างความสมดุลระหว่างการแข่งขันกับความสุขของนักเรียนและครู ให้อิสระครูออกแบบการสอนด้วยตัวเอง ท้ายที่สุด คือรัฐบาลต้องเน้นการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีพิเศษ เพราะคุณภาพการศึกษาในพื้นที่อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active