ศานนท์ กางแผนรองรับจำนวนนักเรียนเข้าสังกัด กทม. เตรียมเดินหน้าทำห้องเรียนปลอดฝุ่นทางเลือก หลังงบฯ ติดแอร์ห้องเรียนปลอดฝุ่นถูกปัดตก ย้ำกายภาพสถานศึกษาเป็นพื้นฐานของคุณภาพการเรียนรู้ที่ดี
วันนี้ (12 กันยายน 2566) ศานนท์ หวังสร้างบุญ ร่วมกับ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงแนวทางการยกระดับการเรียนรู้เด็กปฐมวัยช่วง 2-6 ขวบใน กทม. และแนวทางจัดการศึกษาภายใต้งบประมาณ ปี 2567 โดยระบุว่า กทม. ยังดูแลเด็กได้ไม่มาก โดยเตรียมแผนขยายขีดจำกัดรองรับเด็กเล็ก พร้อมชูแนวทางการจัดการศึกษาผ่านการพัฒนากายภาพสถานศึกษา การพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ และการยกระดับครู
ในปีการศึกษา 2566 มีเด็กกรุงเทพฯ อายุ 0 – 6 ปี ตามข้อมูลทะเบียนราษฎรถึง 259,264 คน ซึ่งอยู่ในการดูแลของ กทม. เพียง 82,990 คน (คิดเป็นร้อยละ 32) ในขณะที่จำนวนเด็กที่กทม. ดูแลอยู่ในหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคมฯ สำนักอนามัย และสำนักแพทย์ โดยแบ่งประเภทตามหน่วยงานที่ดูแล ดังนี้
- เด็กอนุบาลในสังกัด 429 โรงเรียน 38,499 คน
- เด็กนักเรียนชั้น ป.1 ในสังกัด 431 โรงเรียน 26,945 คน
- เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในสังกัด 274 โรงเรียน 17,213 คน
- เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ในศูนย์บริการสาธารณสุข 12 แห่ง 218 คน
- เด็กในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ ในสังกัด รพ. กทม. 8 แห่ง 115 คน
ศานนท์ ระบุว่า ทาง กทม. จะมีแผนเพิ่มขีดจำกัดรองรับเด็กอนุบาลตั้งแต่ 3 ขวบเป็นต้นไป ซึ่งเท่าที่ได้มีการสำรวจและศึกษามาพบว่ามีสถานศึกษาที่จะรองรับได้ 189 แห่ง จาก 429 แห่ง และภายในปีการศึกษาหน้า (เดือน พ.ค.) จะมีเด็ก 7,000 คนที่จะเข้าสู่ระบบ โดยตัวเลขอาจพุ่งไปได้ถึง 15,000 คน ในขณะที่ศูนย์วัยเด็กของสำนักพัฒนามนุษย์ฯ มีแผนจะรับเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ มาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกด้วย
ขณะที่ประเด็นโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ทางศานนท์ ได้ระบุถึงความเป็นมาของโครงการ ชี้ว่าเด็กเล็กกทม. ต้องนอนกลางวันและเรียนหนังสือในสภาพห้องเรียนระบบเปิด (มีอากาศภายนอกหมุนเวียน) จึงจำเป็นต้องมีห้องปรับอากาศที่เป็นระบบปิด โดยจะประกอบด้วยแอร์ 2 ตัว ขนาด 30,000 BTU เพราะห้องเรียนกทม. มีความสูงกว่าห้องเรียนทั่วไป มีซีลห้อง พัดลมระบายอากาศ และเครื่องฟอกอากาศ
ข้อโต้เถียงของทางสภา กทม. มี 2 ประเด็นหลักด้วยกันคือเรื่องของค่าไฟที่จะเป็นภาระงบฯ ของกทม. และ การแนะนำให้ใช้งบซื้อแอร์ไปซื้อเครื่องฟอกอากาศ ทางศานนท์ เผยว่า ทางสำนักการศึกษาได้คำนวณค่าไฟไว้หลายกรณี เช่น หากเปิดแค่ช่วงนอนกลางวันจะมีค่าไฟเพิ่มขึ้นราว 3,000 บาท/ปี/เครื่อง หรือหากเป็นช่วงวิกฤติฝุ่นเป็นเวลาครึ่งวันจะมีค่าไฟเพิ่มขึ้นราว 6,000 บาท/ปี/เครื่อง ทั้งนี้ ตัวงบฯ อุดหนุนด้านการศึกษาที่ได้รับจากรัฐบาล 640 ล้านบาท ทาง กทม. ได้ใช้จ่ายไปเพียง 172 ล้านบาท ศานนท์ มองว่าการใช้จ่ายนี้ยังไม่ถึงร้อยละ 30 ซึ่งยังมีช่องว่างงบฯ เผื่อไว้อีกร้อยละ 10 ที่ปัดไปเป็นค่าไฟได้โดยไม่ตึงมือมากนัก
ส่วนประเด็นเรื่องเครื่องฟอกอากาศ ทางศานนท์ เผยว่า ทางสภาได้อนุมัติงบเครื่องฟอกอากาศไปแล้ว โดยสาเหตุที่ต้องแยกโครงการเครื่องฟอกอากาศและเครื่องปรับอากาศ เป็นเพราะผู้รับเหมามีความถนัดงานเทคนิคที่แตกต่างกัน แต่ในเมื่อทางสภาฯ ปัดตกงบโครงการเครื่องปรับอากาศไปแล้ว จึงจะเดินหน้าทำห้องเรียนปลอดฝุ่นทางเลือก คือ 1) Positive Pressure หรือการติดตั้งพัดลมเติมอากาศสะอาด และ 2) การติดตั้งแอร์คู่กับโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
ศานนท์เน้นย้ำว่า ห้องเรียนปลอดฝุ่นเป็นเพียง 1 ในแผนงานการพัฒนากายภาพสถานศึกษา ซึ่งถ้าเราไม่อาจพัฒนากายภาพของโรงเรียนให้ดี ก็เป็นไปได้ยากที่นักเรียนจะได้รับคุณภาพการเรียนรู้ที่ดี โดยทาง กทม. จะเดินหน้า 3 แนวทางคือ ปรับปรุง ก่อสร้าง และซ่อมแซม โดยแต่ละโรงเรียนจะได้รับงบซ่อมแซมแห่งละ 5 แสนบาท ซึ่งทาง ผอ. สามารถจัดการงบฯ ก้อนนี้ได้เองเลย นอกจากนี้ ทาง กทม. ยังได้ริเริ่มการปลดล็อกข้อจำกัดและลดภาระครู ดังนี้
- เพิ่มงบคำวัสดุอุปกรณ์เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 100 เป็น 600 บาท/คน/ปี
- เพิ่มค่าอาหารเด็กและนมในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 20 เป็น 32 บาท/คน/ปี
- อยู่ระหว่างปรับเพิ่มคำตอบแทนอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน
- จ่ายเงินตรงเวลา กำชับให้เขตจ่ายเงินค่าตอบแทนและค่าอาหารให้ตรงเวลา
- ลดภาระงานครู โดยการจ้างเหมาธุรการในโรงเรียนและลดงานเอกสาร
- ปรับเกณฑ์ รูปแบบและขั้นตอนการเลื่อนวิทยฐานะครูให้เหมาะสม
- เติมอัตรากำลังครู โดยเฉพาครูปฐมวัย ครูแนะแนวและครูการศึกษาพิเศษให้เพียงพอต่ออัตรากำลังที่ว่างอยู่
“เรื่องของการเรียนรู้เด็กปฐมวัย 2 – 6 ขวบ เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราทำตรงนี้ได้ดี มันจะทำให้คุณภาพของเด็กที่ส่งต่อไปชั้นประถมศึกษาและอนาคต ก็จะนำไปสู่คุณภาพของเมืองที่ดีด้วย เพราะพวกเขาคืออนาคตของเมือง”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ