การศึกษาใต้การนำของ ครม. เศรษฐา ชูปฏิรูปแต่ยังขาดแนวปฏิบัติ

ครม. เศรษฐา ชูปฏิรูป ‘การศึกษา’ หวังสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้าน สส.-สว. แนะสูตรปฏิรูปการศึกษา เน้นกระจายอำนาจ-ลงทุนกับเด็กให้มาก กังวลการปฏิรูปยังขาดการปฏิบัติที่ชัดเจนพอ

วันนี้ (11 กันยายน 2566) ที่ประชุมรัฐสภาตั้งข้อสังเกตคำแถลงนโยบายของ คณะรัฐมนตรี ว่ามีความทะเยอทะยานน้อยกว่าที่เคยพูดหาเสียงไว้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้ให้คำสัญญาต่อการ ‘ปฏิรูป’ โครงสร้างประเทศในหลายมิติ อาทิ ปฏิรูประบบราชการ, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ ปฏิรูปกองทัพ เป็นต้น แต่ยังมีอีก 1 มิติที่คงไว้ว่าจะปฏิรูปในคำแถลงของรัฐบาล คือ ‘การปฏิรูปการศึกษา’

รัฐบาลใต้การนำของพรรคเพื่อไทยได้เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ด้วยความกังวลถึงปัญหาปากท้องและตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยอันเนื่องมาจากวิกฤติโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ทำให้นโยบายด้านการศึกษาก็เป็นเรื่องที่จะไม่พูดถึงก็ไม่ได้ เพราะการศึกษาที่ดีจะเป็นรากฐานของตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งอ้างอิงตามเนื้อความแถลงของรัฐบาล นอกจากนี้ ในคำแถลงยังสัญญาว่าจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันเป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย

May be an image of 5 people and text
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า  การศึกษาของประเทศไทยยงไม่สามารถผลิตบุคลากรให้ตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ นักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบใหม่ไม่สามารถหางานทำที่ตรงกับสายงาน หรือจำเป็นต้องทำงานในสายงานที่มีรายได้ต่ำกว่าความสามารถทางวิชาชีพ

ในคำแถลงนโยบายระบุว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงครูแนะแนวเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาของวิชาการและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกเรียนและประกอบอาชีพ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน

ระหว่างการอภิปรายในรัฐสภา ลินธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เผยข้อมูลจากทางยูเนสโกว่า ถ้ารัฐไทยทำให้เด็กด้อยโอกาส (ที่จะหลุดจากระบบการศึกษาปีละราวหนึ่งแสนคน) ไม่หลุดจากระบบการศึกษาเลย จะทำให้ GDP โตขึ้น 3% ตัวเลขนี้สะท้อนว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นเหมือนไข่กับไก่ เป็นเหตุผลซึ่งกันและกัน รัฐบาลใหม่จึงต้องเข้าไปตัดวงจรความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ โดยเสนอมาตรการเร่งด่วน 3 ข้อที่คณะรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้ทันทีได้แก่

  1. มาตรการเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กด้อยโอกาสแปรผันตามค่าครองชีพ 
  2. มาตรการเพิ่มเงินกองทุนการศึกษาด้วยวิธีการปรับมาตรการทางภาษี
  3. มาตรการออกสลากเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

นอกจากนี้ ลินธิภรณ์ หวังให้รัฐบาลสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งไม่จำกัดช่วงวัย เวลา และสถานที่ในการเรียนรู้ เพื่อยกระดับแรงงานไทยให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ โดยระบบการ Reskill-Upskill นี้จะช่วยให้แรงงานที่อยู่เหนือจากวัยเรียนสามารถพัฒนาตัวเองได้อยู่ตลอดเวลา โดย ลินธิกรณ์ ได้เสนอสูตรการปฏิรูปการศึกษาไทย 4 ข้อ ดังนี้

1) กระจายอำนาจการศึกษา โดยชี้ว่าการกระจายอำนาจการศึกษาไม่ใช่แค่ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการหลักสูตรเองได้ แต่ต้องกระจายไปถึงมือของผู้เรียนโดยตรง เพื่อให้ชุมชนและผู้เรียนออกแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ชูระบบธนาคารหน่วยกิต ทุกคนสามารถเรียนที่ไหน-เมื่อไหร่ก็ได้ สะสมไว้เป็นข้อมูลเพื่อจับคู่ระบบจัดหางาน

2) ปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น ชี้ระบบการศึกษาแบบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้อาจเป็นการตีกรอบผู้เรียน “สิ่งที่เรียนไม่ได้ใช้ สิ่งที่ใช้ไม่ได้เรียน” โดยแนะเพิ่มวิชาทางเลือกให้เด็กได้เรียนหลากหลาย ให้ได้เรียนสิ่งที่ใช่ และได้ใช้ในสิ่งที่เรียน

3) ยกระดับครู เปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้ เป็นผู้อำนวยความสะดวกนักเรียน (Facilitator) ย้ำว่าต้องคืนครูให้นักเรียน ลดงานเอกสารนอกเหนือการสอน นำเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บฐานข้อมูลนักเรียน แนะเพิ่มสวัสดิการครู-ปรับปรุงที่พักครู เพื่อให้ครูไทยสามารถจดจ่ออยู่กับการพัฒนาการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4) แก้ไขความเหลื่อมล้ำ โดยลินธิกรณ์ชี้ว่า ปัญหาความยากจนทำให้เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษา แต่ในทางกลับกัน การศึกษาก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คน ๆ หนึ่งหลุดพ้นจากเส้นล่างความยากจนได้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและทางเศรษฐกิจเป็นดั่งไก่กับไข่ และรัฐบาลต้องเข้าไปตัดวงจรความเหลื่อมล้ำ คืนเด็กกลับสู่ห้องเรียน ให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต

ลินธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

ทางด้าน เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา เผยว่ารัฐบาลเขียนนโยบายทางการศึกษามาได้ตรงกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่ยังขาดรายละเอียดในแนวปฏิบัติว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหาด้านการศึกษาที่กล่าวมาในคำแถลงจะแก้ไขได้อย่างชัดเจน แนะรัฐบาลลงทุนกับเยาวชนให้มาก โดยการเพิ่มงบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งใช้เงินน้อยกว่านโยบายเงินดิจิทัลหลายสิบเท่าแต่ได้ประโยชน์ยั่งยืนกว่า ยกตัวอย่างว่า หากอัดฉีดเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสได้ถึง 4 ล้านคน

เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active