อดีตบอร์ดคุรุสภา ร้อง รมว.ศธ. ปลดบอร์ดคุรุสภายกแผง

อัดเหตุการณ์ที่เว็บไซต์คุรุสภาล่ม ในวันสมัครสอบใบประกอบฯ วันแรก สะท้อนการขาดความสามารถและองค์ความรู้ พร้อมเสนอ ให้ยกเลิกใบประกอบวิชาชีพครู เพราะไม่การันตีว่าสอบแล้วจะได้คนเก่งคนดี

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ธนารัชต์ สมคเณ อดีตประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพครู และอดีตกรรมการคุรุสภา ได้โพสต์ลงหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว ใจความว่า ต้องการเห็นการดำเนินการร่วมกันของกระทรวงศึกษาธิการ, คุรุสภา และ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) แก้ไขในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1) คืนคุรุสภา และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา 2546

2) ยกเลิกการสอบใบประกอบวิชาชีพครู โดยให้เหตุว่าในสถาบันผลิตครูก็เรียนกันมามากแล้ว อีกทั้งการสอบก็ไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะได้ครูที่ดี แนะให้เน้นที่การยกระดับสถาบันผลิตครูให้มีคุณภาพตามมาตรฐานคุรุสภา

3) ยกเลิกการกำหนดค่าปรับการขอใบประกอบวิชาชีพล่าช้า

4) กมว. ชุดปัจจุบันควรเร่งดำเนินการวินิจฉัยความผิดครูที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม

ก่อนหน้านี้ ธนารัชต์ ยังให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า จากเหตุการณ์ที่เว็บไซต์คุรุสภาล่ม ในวันสมัครสอบใบประกอบฯ วันแรก แสดงให้เห็นถึงการขาดความสามารถและองค์ความรู้ของบอร์ดคุรุสภาในชุดปัจจุบัน และทำให้ครูและนักศึกษาครูต้องเสียโอกาสจำนวนมาก ขณะที่คุรุสภาได้เงินค่าสมัคร 500 บาทต่อคน หรือ ค่าปรับ 2,000-3,000 บาท ต่อคน ตนย้ำว่า ถ้าเรื่องเล็ก ๆ ยังไม่สามารถทำได้ ก็ไม่สมควรที่จะดูแลครูอีกต่อไป

“เปิดสมัครสอบใบประกอบวิชาชีพครูวันแรก เว็บก็รองรับไม่ไหวแล้ว นี่คือความผิดพลาดที่ให้คนไม่รู้เรื่องครู ไม่เข้าใจครู แต่มาบริหารครู เรื่องเล็กแค่นี้ยังทำไม่ได้ บอร์ดคุรสภาชุดปัจจุบัน ควรละอายและรีบลาออกไปซะ ไม่สมควรที่จะดูแลครูอีกต่อไป”

ธนารัชต์ สมคเณ

ทาง ธนารัชต์ ได้ร้องเรียนไปยัง พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ให้ดำเนินการปลดบอร์ดคุรุสภายกแผง และพื้น พ.ร.บ. สภาครูฯ ที่ถูกรัฐบาลในอดีตแทรกแซงและแต่งตั้งบอร์ดคุรุสภาที่ไม่มีตัวแทนครูอยู่ในนั้น ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับวิชาชีพครูขึ้นอย่างมากตลอด 9 ปีที่ผ่านมา และเน้นย้ำให้ยกเลิกสอบใบประกอบวิชาชีพครูทันที

“บอร์ดคุรุสภา ควรดูแลทุกข์สุขของครูทั่วประเทศ แต่ 9 ปีที่ผ่านมา ไม่มีตัวแทนครู ทำให้ไม่เข้าใจครู ควรจะให้องค์กรวิชาชีพครูมาดูแลครูโดยแท้จริง ครูจะไปไกลมากกว่านี้ และมีขวัญกำลังใจมากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้คนสาขาวิชาชีพอื่นมาดูแลครู และเป็นเรื่องน่าเศร้า หากงานจรรยาบรรณวิชาชีพครูจะถูกโยนภาระเป็นของศึกษาธิการจังหวัดในอนาคต”

ธนารัชต์ สมคเณ
No photo description available.
ที่มา : FB ดร.ธนารัชต์ ดร.ธนารัชต์ สมคเณ

ทั้งนี้ ทาง ผศ.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวถึงเตุผลที่ต้องประกาศรับสมัครสอบเป็นรอบ เพราะการเลือกวัน เวลา สถานที่สอบ ความพร้อมของสนามสอบ ต้องผ่านชุดอนุกรรมการทดสอบและผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการคุรุสภา ชุดรูปแบบข้อสอบในการสอบแต่ละครั้งแตกต่างกัน เป็นการทดสอบสมรรถนะจริง เพราะฉะนั้นคนที่ลงทะเบียนไม่ทัน ไม่ต้องกังวลใจว่าคุรุสภาจะเปิดสอบครั้งเดียว และตั้งแต่ปี 2567 การสอบจะเปิดขึ้นทุกเดือน สำหรับนักศึกษาที่เข้าเรียนในปี พ.ศ. 2562 – 2565 (รหัส 62 – 65) จะได้รับการยกเว้นการสอบวิชาเอก สำหรับคนที่สอบผ่าน จะได้ขึ้นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น ส่วนคนที่ตกค้างยังไม่ผ่าน สามารถสอบได้ในครั้งนี้

ในประเด็นมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพครู ทางคุรุสภาเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2554 – ปัจจุบัน คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ได้วินิจฉัยโทษครูที่มีความผิดต่อจรรยาบรรณแล้วทั้งสิ้น 174 ราย ส่วนมากเป็นฐานความผิดทางเพศ ความรุนแรงต่อเด็ก และยาเสพติด โดยแบ่งตามโทษทัณฑ์ ดังนี้

  • ตักเตือน 23 ราย (13%)
  • ภาคทัณฑ์ (ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร) 41 ราย (24%)
  • พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ตามกฎหมายไม่เกิน 5 ปี) 52 ราย (30%)
  • เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ยื่นขอใหม่หลังพ้น 5 ปี) 58 ราย (33%)

ในขณะที่รอบปี 65 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการร้องเรียนครูผิดจรรยาบรรณทั้งสิ้น 27 เรื่องแบ่งตามการพิจารณาโทษทัณฑ์ ดังนี้

  • พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 3 ราย (11%)
  • เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 16 ราย (59%)
  • รอการพิจารณา 8 ราย (30%)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active