สก. บางส่วนเห็นชอบกับโครงการแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ชี้ไม่คุ้มค่า-อาจแก้ไขไม่ถูกวิธี ‘ชัชชาติ’ ชี้ กทม. ต้องดูแลเด็กเล็กเพราะอยู่ในวัยพัฒนาสมอง ด้านรองผู้ว่าฯ ศานนท์ ขอโทษทุกคนที่ยังทำให้เด็กเรียนอย่างปลอดภัยไม่ได้ รับจะกลับไปทำการบ้านเพิ่ม
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินรวมทั้งสิ้น 90,570,138,630 บาท โดยที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มติเห็นชอบกับผู้สงวนความเห็น ให้ตัดงบประมาณของสำนักการศึกษาโครงการห้องเรียนเด็กเล็กปลอดฝุ่นใน 6 กลุ่มเขตวงเงิน 219,339,000 บาท
สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.ลาดกระบัง ในฐานะ สก. ที่ขอสงวนความเห็นชี้แจงว่า ตนเห็นชอบกับแนวคิดนี้อย่างยิ่ง แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ โดยยกเอากรณีก่อนหน้านี้มาเปรียบเทียบ ที่ กทม. ได้มีการนำร่องห้องเรียนสู้ฝุ่นไปแล้ว 32 แห่ง ซึ่งเพิ่งดำเนินการเสร็จเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเน้นให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง ปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิด ติดเครื่องอ่านค่าฝุ่น ปลูกต้นไม้ดักฝุ่น ซึ่งเหล่านี้ไม่ต้องมีการติดเครื่องปรับอากาศ และใช้งบประมาณเพียงหมื่นกว่าบาท ซึ่งแนะให้นำแนวทางที่นำร่องไปแล้วมาสานต่อ
ขณะที่งบปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นในวงเงิน 231 ล้านบาท แบ่งเป็นการติดเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่องใน 1,743 ห้อง รวมทั้งสิ้น 174 ล้านบาท (คิดเป็น 3 ใน 4 ของวงเงินงบประมาณ) แต่ข้อมูลห้องเรียนปลอดฝุ่นต่างจังหวัด เช่น ลำปาง ใช้วิธีติดเครื่องฟอกอากาศ 2 เครื่อง ถ้าติดทั้ง 1,743 ห้องจะเป็นงบประมาณราว 10 ล้านบาท ประหยัดลงไปได้ถึง 17 เท่า
“ทราบไหมว่า บางเขต บางโรงเรียน นักเรียนอนุบาลมีแค่ 1-2 คน แล้วจะติดแอร์ขนาด 60,000 บีทียูเพื่ออะไร เลยมีคำถามว่าโครงการนี้ตอบโจทย์แก้ปัญหาหรือไม่ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ในทางตรงข้ามเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ มันคุ้มค่ากับงบประมาณหรือเปล่า”
สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นจากที่ประชุมว่า การนำเด็กไปไว้ในห้องปรับอากาศตลอดเวลานั้นเหมาะสม ปลอดภัยจริงหรือไม่ และยังมีค่าไฟที่เพิ่มขึ้นมา แนะให้ กทม. ถ้าจะทำโครงการนี้ควรติดตั้งโซลาร์เซลล์ควบคู่ไปด้วย และชี้แนวทางแก้ปัญหา คือ การปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่น ปลูกฝังให้เด็กรักและผูกพันกับต้นไม้ ตลอดจนงดกิจกรรมกลางแจ้ง และหมั่นทำความสะอาดห้องเรียน
ทางด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า เด็กเล็กเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพราะเป็นช่วงชีวิตที่มีการพัฒนาสมองมากที่สุด หากเราละเลยเด็กเล็ก เราจะเสียโอกาสในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า ในขณะที่ตนก็คิดว่า ห้องของผู้ว่าฯ เองก็ยังมีเครื่องปรับอากาศ แล้วทำไมห้องเรียนเด็กถึงไม่มีเงินติดเครื่องปรับอากาศให้ ส่วนเรื่องค่าไฟก็เป็นโจทย์ที่จะต้องพิจารณาในอนาคต ควบคู่ไปกับการติดโซลาร์เซลล์ เพราะเด็กทุกคนควรได้เรียนในห้องเรียนที่มีคุณภาพและปลอดภัย ไม่ว่าจะรวยหรือจน
ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูแลด้านการศึกษา ได้ยอมรับต่อความคิดเห็นของที่ประชุมที่ยังเห็นว่าโครงการดังกล่าวยังไม่คุ้มค่า น้อบรับและจะกลับไปทำการบ้านมาเพิ่ม เพื่อให้พร้อมต่อการเสนองบประมาณรอบหน้า
ทั้งนี้ ศานนท์เห็นพ้องกับชัชชาติว่า เด็กปฐมวัยเป็นช่วงสำคัญมาก ถ้าพัฒนาการไม่ดีก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตระยะยาว โดยคณะผู้บริหารมีนโยบายรับเด็ก 3 ขวบเข้าโรงเรียน จะทำให้มีเด็กเพิ่ม 50,000 คน ห้องเรียนจึงต้องมีคุณภาพมากขึ้น แม้ว่าช่วงค่าฝุ่นสูง โรงเรียนประกาศหยุดได้ แต่แทนที่เด็กจะต้องอยู่ในบ้านสูดอากาศที่มีฝุ่น สู้สร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น ลงทุนติดเครื่องปรับอากาศให้พร้อม ก็อาจจะปลอดภัยกว่า
ภายหลังการพิจารณางบประมาณ ศานนท์ ได้โพสต์ลงเฟสซบุ๊กส่วนตัว ใจความว่า ตนอยากขอโทษทุกคนที่ยังทำให้นักเรียน กทม. ไม่สามารถเรียนในห้องเรียนที่ปลอดภัย ปลอดฝุ่นได้ แม้ตนจะยอมรับความเห็นของสภา แต่ปฏิเสธความรู้สึกเสียดายไม่ได้ โดยเฉพาะความเห็นที่ว่า “โรงเรียน กทม. ที่ให้เรียนฟรี จะทำห้องติดแอร์เป็นมาตรฐานเทียบกับเอกชนที่เก็บตังแพง ๆ ได้อย่างไร”
“ในวันที่การศึกษาควรเป็นสวัสดิการที่เท่าเทียมทั่วกัน เรายังต้องเดินทางอีกยาวไกลมากเลย ขออภัยทุกคนโดยเฉพาะเพื่อนผองในแวดวงการศึกษา เราคงต้องทำการบ้านกันหนักขึ้นครับ”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ