กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สร้างการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

การศึกษาไทยที่ยังพบความเหลื่อมล้ำ นักวิชาการชี้ เมืองมีผลต่อการเรียนรู้ หากต้องการแก้ปัญหาการศึกษาและลดความเหลือมล้ำอย่างยั่งยืน แนะกระจายอำนาจบริหารให้ท้องถิ่นรับผิดชอบ พร้อมสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้

วันนี้ (22 ส.ค. 66) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายการศึกษา และท้องถิ่น จัดเสวนาหัวข้อ ‘ทิศทางอนาคต การผลักดันเชิงนโยบายการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ’ คาดผลักดันจากการระดมความคิด ข้อค้นพบงานวิจัย จากการเสนอนโยบายสู่การปฏิบัติจริง เพื่อให้การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

รองศาสตราจารย์ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร (บพท.) กล่าวว่า หนึ่งในวาระที่พบในการวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนคือ กรอบการทำงานหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญในการพัฒนาเมือง คือ การทำ Learning city เป็นวาระสำคัญของประเทศ และสิ่งนี้เป็นต้นสายของการพัฒนา หลายครั้ง ที่ประเทศไทยพยายามเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการสร้าง smart city, Go park พบว่ามีอุปสรรคและไปข้างหน้าได้ยากเพราะติดเงื่อนไข กลไกพัฒนาของการเรียนรู้มีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาระเรื่องของการศึกษาไทยที่ยังพบความเหลื่อมล้ำ เราจะต้องทำให้มันชัดเจนขึ้นว่าเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อเรื่องของการเรียนรู้ บพท.จึงพยายามสร้างนวัตกรรมพัฒนาบุคลากรผ่านงานวิจัย และสร้างภาคีเครือข่ายหารือทำงานร่วม

ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญ คือ การสร้างกลไกความร่วมมือระดับภาครัฐและท้องถิ่น, การสร้างเครือข่ายเพื่อทำงานร่วมกันอย่างเป็นกลุ่มก้อนเพื่อให้หน้างานสามารถประสานงานทำงานร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ, แต่ละท้องถิ่นควรจะมีการออกแบบนโยบายและวางแผนของ Learning city โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนการคลังท้องถิ่น ซึ่งในข้อนี้อาจจะต้องอาศัยภาคีที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ, การเรียนรู้เชิงพื้นที่ (Local study for learning city) การเรียนรู้หน้างาน และผู้ใช้งาน และนวัตกรรมเข้ามาซัพพอร์ตระบบ ด้านดิจิทัล เทคโนโลยี ด้านความสามารถในการจัดการเรียนรู้ และนวัตกรรมในการออกแบบผังเมือง 

ขณะที่ ผลิพร ธัญญอนันต์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารสาธารณะและระดมความร่วมมือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ไม่ว่าจะทุ่มงบประมาณลงไปที่เด็กสักเท่าไรเด็กไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากวิกฤตได้หมด โดยอ้างจาก กสศ. เคยทำการวิจัยเกี่ยวกับการให้งบประมาณเด็กยากจน ชื่อโครงศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนวิกฤตทางการศึกษา ซึ่งเป็นโครงการเชิงวิจัยช่วยเหลือเด็ก 1 พันคนเพื่อที่จะดูว่าเขาเหล่านี้จะพ้นจากวิกฤตความยากจนจากการการได้รับทุนการศึกษาหรือไม่ โดยใช้ระยะเวลา 6 เดือน พบว่ามีเพียงร้อยละ 32 เท่านั้นที่พ้นวิกฤต โดยเงื่อนไขที่ทำให้หลุดพ้นจากวิกฤตไม่ได้มาจากการได้รับทุนในโครงการที่เข้าไปเติม แต่เป็นการทำให้ครอบครัวของเด็กสามารถยืนหยัด และพัฒนาตัวเองได้ รวมถึงพ่อแม่มีอาชีพ 

“สิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่าที่สุดคือ การทำให้ครอบครัวของเขาสามารถลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ด้วยความภาคภูมิใจ ในครอบครัวไม่ได้ประกอบแค่พ่อแม่ แต่หมายถึง ปู่ ย่า ตา และยาย เด็กมากกว่า 70 % ของเด็กยากจน และยากจนพิเศษ ส่วนใหญ่อยู่กับ ปู่ย่า ตายาย แล้วจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ยืนหยัดขึ้นมาได้และมีอาชีพ เมืองแห่งการเรียนรู้คือคำตอบ เมื่องที่สร้างโอกาส และเมืองที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียม”

ทั้งนี้กล่าวว่า การออกแบบเมืองหรือพัฒนาประเทศไม่สามารถแบ่งคนออกเป็นส่วน ๆ ได้  การสร้างระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้อย่างเสมอภาคและตลอดชีวิต จะเอื้อให้ทุกคนในประเทศมีโอกาสและประชาชนคนไทยทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้รับสิ่งนี้  และจะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน 

นอกจากหน่วยงานที่ทำงานด้านการศึกษาแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่จะสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพหัวใจสำคัญ ผลิพร  มองว่า การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับ งานวิจัยที่ บพท.ทำ ชี้ชัดว่าการขับเคลื่อนเพื่อสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลกลาง แต่ท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าภาพ 

ศานนท์  หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร  กล่าวว่า ในส่วนของการทำให้เมืองเป็นเมืองของการเรียนรู้ กทม.ทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพนการจัดการได้ แต่ก็พบกับความท้าทายที่เป็นอุปสรรคในการสร้างเมืองเพื่อการเรียนรู้อยู่ เช่น ปัจจุบันสังคมไทยมีเด็กน้อลง ขณะที่ผู้สูงอายุมากขึ้น  และคนไทยรุ่นใหม่ไม่อยากอยู่ในประเทศไทย ฉะนั้นก็มีโจทย์ท้าทายว่าจะทำ Leaning city อย่างไรเพื่อที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุ  ถือเป็นความท้าทายที่ต้องมาวางบนโต๊ะเพื่อหาทางออกร่วมกันในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ รวมถึงเรื่องการจัดการศึกษาและอาชีพในอนาคต

“มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นพนักงานของ กทม. เรามีพนักงานกวาดอยู่ 1 หมื่นคน มีพนักงานเก็บขยะอยู่ 9 พันคน หลายคนเป็นคนรุ่นใหม่ เขาใช้ชีวิตในการทำงานส่วนนี้ช่วงหนึ่ง  และทำเกี่ยวกับ Gig economy ในช่วงหนึ่ง คนหนึ่งทำงานหลายอาชีพแล้วการที่เรากำลังพัฒนาการศึกษาไป เผลอ ๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์อุตสหกรรมในอนาคตการตั้งโจทย์จึงต้องกลับมาทวนที่ว่าปัจจุบันเราออกแบบการเรียนรู้อย่างไร มีพื้นที่การเรียนรู้แบบไหนที่ตอบโจทย์นี้ “

ขณะที่ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จังหวัดยะลา กล่าวว่า ท้องถิ่นมีความสำคัญกับการสร้างเมืองเพื่อการเรียนรู้มาก การพัฒนาคงต้องเริ่มที่ทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ ฉะนั้นกระบวนการสร้างการเรียนรู้โดยการยกระดับทุนมนุษย์ในพื้นที่ ซึ่งจะต้องมองตั้งแต่เรื่องการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้

“ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ กระบวนการเรียนที่เราสร้างเราเน้นเรื่องการอยู่ร่วมกัน กระบวนการที่เกิดขึ้นกับกิจกรรมในช่วงนั้นคือการเรียนรู้จะอยู่ร่วมกัน แต่พอวันนี้จังหวัดยะลาสงบและดีขึ้น ทิศทางท้องถิ่นในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ก็ต้องผลักต่อไป การกลับมาดูทุน เช่นเรื่องความสะอาด สิ่งแวดล้อม ทุนวัฒนธรรมที่เป็นพหุวัฒนธรรม และการศึกษา หน้าที่ท้องถิ่นการพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่น” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active