ชี้เป็นหน้าที่รัฐ พัฒนาคุณภาพชีวิต คาด กมธ. จะช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบที่ชัดเจน เผยลูกหลานแรงงานข้ามชาติได้ขึ้นทะเบียน G-Code เพียง 1 ใน 3
วันนี้ (10 ส.ค. 2566) ตัวแทนของ สส. ก้าวไกล เสนอญัตติขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ. วิสามัญหาแนวทางจัดการศึกษาและพิจารณา G-Code ให้เยาวชนที่ไร้สัญชาติในประเทศไทย สืบเนื่องกรณี โรงเรียนในพื้นที่ จ. อ่างทอง รับเด็กต่างสัญชาติเข้าเรียน จนครูถูกดำเนินคดีและเยาวชนอาจถูกส่งตัวกลับพื้นที่สงคราม เผยข้อมูลลูกหลานแรงงานข้ามชาติได้ขึ้นทะเบียน G-Code เพียง 1 ใน 3
จากกรณีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบรหัสประจำตัวสำหรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือ G-Code โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 (ฉบับราษฎร์อุปถัมภ์) จังหวัดอ่างทอง ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. ก้าวไกล ระบุว่า แม้ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง แต่ทางรัฐไทยและสังคมจำเป็นต้องถอดบทเรียนร่วมกันว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ตลอดจนขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีที่ต้องเคารพต่อคนไร้สถานะในประเทศไทยหรือไม่
ขณะที่ ปารมี ไวจงเจริญ สส. ก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอญัตติและคณะทำงาน ระบุว่า กรณี จ.อ่างทอง หากแก้ปัญหาไปทีละจุด ก็จะพบปัญหาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ พรรคจึงมีมติเห็นว่าควรแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืนเปิดเผยโดยการเสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้มีหน่วยงานที่ต้องเข้ามารับผิดชอบที่แน่ชัดและได้จำนวนของเยาวชนไร้สัญชาติที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา
ปารมี เผยข้อมูลเมื่อปี 2562 มีลูกหลานของแรงงานข้ามชาติได้ขึ้นทะเบียนรหัส G-Code เพียง 1 แสนคนจากเด็ก 3 แสนคนเท่านั้น ซึ่งตนชี้ว่าแต่ละหน่วยงานรายงานตัวเลขนี้ไม่ตรงกัน ทำให้สถานการณ์ดังกล่าวยังคงมีความคลุมเครือ ทั้งนี้ การลงรหัส G จะเป็นการรับรองการขึ้นทะเบียนโดย ศธ. และทำให้เยาวชนไร้สัญชาติ-ต่างสัญชาติจะได้รับสิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกด้วย
พรรคก้าวไกลยังชี้ว่า การจัดการศึกษานอกเหนือจะเป็นการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐพึงทำแล้ว ยังมีเหตุผลสำคัญด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยเลือกไม่ทำในหลายอาชีพ ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น หากเราทำให้ลูกหลานแรงงานเหล่านี้ลงรหัส G และเข้าเรียนได้ จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่จะได้แรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น ตลอดจนลดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความมั่นคง ปัญหาสาธารณสุขด้วย
ทาง มานพ คีรีภูวดล ประธานเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ระหว่างที่รอญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญ พรรคก้าวไกลร่วมกับเครือข่ายชาติพันธุ์จะทำหน้าที่ประสานข้อมูล ลงพื้นที่เพื่อประกอบการทำงาน นอกจากนี้ เรื่องใดที่ไม่ต้องรอ กมธ. โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล พรรคก้าวไกลพร้อมประสานดำเนินการโดยทันที รวมถึงการประสานงานเพื่อขอสถานะบุคคลและสัญชาติ ก็สามารถติดต่อมายังพรรคก้าวไกลได้เช่นกัน