สส. ก้าวไกล ชี้ กรณี ม.1 คลอดบุตรในปั๊ม สะท้อนเพศศึกษาล้มเหลว

แนะ รร. สอนให้เด็กคิดเป็น สร้างพื้นที่ปลอดภัย ย้ำภาครัฐต้องส่งเสริมหลักสูตรการศึกษาด้านเพศวิถี ความเสมอภาคทางเพศ เน้นเคารพสิทธิทางเพศผู้อื่น ไม่คุกคามกัน

จากกรณี นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 คลอดบุตรกลางปั๊มน้ำมันขณะเดินทางไปทัศนศึกษาเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา ทาง ปารมี ไวจงเจริญ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ สะท้อนถึงความล้มเหลวในการเรียนเพศศึกษาของนักเรียนไทยในปัจจุบัน แนะ รร. ส่งเสริมเพศศึกษา-สอนให้เด็กคิดเป็น-สร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการกดขี่ในโรงเรียน เพื่อให้เด็กเรียนรู้วัฒนธรรมของการเคารพสิทธิทางเพศ จากทั้งในและนอกตำราเรียน

ปารมี ไวจงเจริญ ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยอ้างถึงรายงานผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษา ใจความตอนหนึ่งว่า การเรียนการสอนด้านเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาไทยแทบทุกแห่งนั้นมีปัญหา โดยมุ่งเน้นเนื้อหาไปที่สรีระทางกาย, พัฒนาการทางเพศ และการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลให้นักเรียนไทยขาดทักษะการจัดการเรื่องเพศ

การรายงานผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษา โดยศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ เผยว่า เพศวิถีศึกษาในโรงเรียนถูกสอนในทุกด้านแต่ไม่ครบทุกหัวข้อ เมื่อแบ่งเนื้อหาเพศวิถีศึกษาเป็นด้านต่าง ๆ ตามที่แบบสอบถามใช้ถามถึงการเรียนการสอนในหัวข้อต่างๆ นักเรียนและครูมากกว่าร้อยละ 90 ระบุว่าได้เรียน หรือสอนอย่างน้อย 1 หัวข้อในแต่ละด้านต่อไปนี้ 1) เพศภาวะ 2) พัฒนาการ สุขภาพและพฤติกรรมทางเพศ 3) สิทธิทางเพศและความเป็นพลเมือง 4) ความรุนแรง 5) ตัวตนและความสัมพันธ์ และ 6) หัวข้อสำหรับนักเรียนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาไม่ได้สอนบางหัวข้อในแต่ละด้าน โดยนักเรียนระบุว่า มีการสอนโดยเฉลี่ยร้อยละ 63-90 ของหัวข้อทั้งหมดในแต่ละด้าน ในขณะที่ครูระบุว่ามีการสอนโดยเฉลี่ยร้อยละ 67-93 ของหัวข้อในแต่ละด้าน ซึ่งด้านที่มีการเรียนการสอนน้อยที่สุดคือ “สิทธิทางเพศและความเป็นพลเมือง”

ในรายงานผลการศึกษาฉบับข้างต้นยังระบุอีกว่า สถานศึกษาไทยให้ความสำคัญกับเนื้อหาด้านชีววิทยาและการป้องกันการตั้งครรภ์โดยตรง อาจเป็นเพราะสถานศึกษาให้ความสำคัญต่อเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินแผนงานด้านเพศวิถีศึกษาจากประเทศต่าง ๆ พบว่า ร้อยละ 80 ของแผนงานที่สอนเกี่ยวกับเพศภาวะและอำนาจ ได้ผลในการลดการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์และลดจำนวนการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อเทียบกับแผนงานการสอนที่ไม่ครอบคลุมประเด็นเพศภาวะและอำนาจที่ลดความชุกของภาวะดังกล่าวได้เพียงร้อยละ 17

ข้อมูลข้างต้นชี้ว่า การสอนเกี่ยวกับเพศภาวะและอำนาจช่วยส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนให้สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ชีวิตของตัวเอง เสริมสร้างให้เห็นคุณค่าและอำนาจในตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนนำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและมีอำนาจต่อรองเรื่องเพศมากขึ้น 

ปารมี ระบุว่า หัวใจหลักในการสอนเพศศึกษาที่ช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์คือ การจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาด้วยการปลูกฝังให้นักเรียนมีทักษะในการจัดการเรื่องเพศที่ดี ทั้งมีวิจารณญาณ มีทักษะการคิดและตัดสินใจในเรื่องเพศอย่างเหมาะสม และได้ระบุแนวทางการสอนเพื่อลดปัญหาดังกล่าวให้กับครูผู้สอนทั้งสิ้น 4 ข้อ ดังนี้

  1. ครูควรปลูกฝังให้นักเรียนมีทักษะในการประเมินความพร้อมของตนเองต่อการมีเพศสัมพันธ์
  2. ครูควรจัดการเรียนการสอนที่เน้นกระตุ้นความคิดให้นักเรียนได้รู้จักวิเคราะห์และเรียนรู้ผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบของการมีเพศสัมพันธ์อย่างรอบด้าน
  3. ครูควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้นักเรียนได้มีพื้นที่สำหรับพูดคุยเรื่องเพศร่วมกับครูและผู้ปกครองได้อย่างสบายใจ
  4. ครูควรจัดให้นักเรียนได้เข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างทั่วถึงและเป็นปกติ

The Active สัมภาษณ์ ปารมี ใปประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมโดยระบุว่า การจะยกระดับเพศศึกษาไทยไม่อาจทำได้เพียงครูไทยโดยลำพัง แต่ภาครัฐต้องส่งเสริมหลักสูตรการศึกษาด้านเพศวิถีด้วย โดยเฉพาะเนื้อหาด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ เพื่อมุ่งสอนให้ผู้เรียนเคารพสิทธิทางเพศผู้อื่น ไม่คุกคามกัน รวมถึงตระหนักถึงสิทธิทางเพศของตนเอง ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้สังคมมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ การอบรมให้เด็กเข้าใจเรื่องสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ปราศจากการเหยียดและการกดขี่ทางเพศเสียก่อน ซึ่งร่วมสร้างขึ้นได้ผ่านครูทุกคนในโรงเรียน ไม่เพียงแต่ครูวิชาสุขศึกษา

“ในฐานะครูและผู้หญิงคนหนึ่ง ดิฉันสนับสนุนให้การเรียนเพศศึกษาเป็นเรื่องปกติในห้องเรียน ทุกคนสามารถพูดและแสดงความคิดเห็นได้อย่างปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนไทยทุกคนมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเพศอย่างถูกต้อง อันเป็นการช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์อย่างในกรณีดังกล่าว”

ปารมี ไวจงเจริญ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2566 โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เร่งประสานงานกับอธิบดีอัยการภาค 9 เพื่อให้ศูนย์คุ้มครองเด็กสำนักงานอัยการภาค 9 ร่วมกับพนักงานอัยการในจังหวัดพัทลุงและนราธิวาส ร่วมกันใช้กฎหมายคุ้มครองเด็ก และดำเนินการตามมาตรฐานในการคุ้มครองเยาวชนตามกฎหมาย 

โดยกฎหมายอาญา มาตรา 277 ระบุว่า ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 400,000 บาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active