ทปอ. เตรียมลดค่าสอบ TCAS กยศ. เตรียมส่วนลดให้ผู้กู้

กสศ. จับมือ อว. กยศ. และ ทปอ. วางระบบ “หลักประกันทางการศึกษา” ไม่ทิ้งเด็กยากจน รับมือวิกฤตการศึกษา ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจนข้ามรุ่น

กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมมือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมวางระบบรองรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอย่างไร้รอยต่อ หลังได้ทำการบันทึกความร่วมมือ สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ระดับอุดมศึกษา ในปี 2564 โดยพบข้อมูลว่าเด็กยากจนที่ได้รับทุนจาก กสศ. สามารถผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีผ่านระบบ TCAS66 มากขึ้น จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ถูกพูดคุยกันในเวที “สู่เส้นทางหลักประกันการศึกษา TCAS66”

ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า การเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นหนทางสำคัญช่วยให้ เด็ก และเยาวชน หลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่น ข้อมูลจากทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ต่างชี้ให้เห็นว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี มีโอกาสมีรายได้เฉลี่ยราว 23,000 – 27,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่า ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึง 2 เท่า

แต่หากเด็กบางกลุ่มไม่ได้รับโอกาสศึกษาต่อ ความเหลื่อมล้ำก็จะเพิ่มสูงขึ้น และไทยอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมาย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในหมุดหมายที่ 9 ผลักดันให้ความยากจนข้ามรุ่น ในประเทศไทยลดลง และหมุดหมายที่ 12 ในด้านการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2564 ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่ร่ำรวยที่สุด 10% แรกของประชากร มีโอกาสได้เข้าเรียนระดับปริญญาตรีร้อยละ 64 ซึ่งมากกว่าเด็กที่ฐานะยากจนที่สุด 10% ล่างของประชากรถึง 6 เท่า ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสได้เข้าเรียนเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ประเทศอาจสูญเสียโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานอันเป็นผลจากการก้าวสู่ภาวะสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (หรือ Aged society)

กสศ. อุดช่องว่างเด็กยากจน สู่ ความหวังเติมเด็กขาดโอกาสเข้าระดับอุดมศึกษาฯ

ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุว่า สาเหตุที่ต้องพูดกันในหัวข้อ การสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพราะยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่กล้าก้าวข้ามไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือ ก้าวจากการศึกษาภาคบังคับไปสู่ชั้นมัธยมปลายหรือไปถึงระดับอุดมศึกษา ด้วยเห็นว่าตนเองยังขาดหลักประกันที่จะสามารถเรียนต่อไปได้จนจบการศึกษา ไปสู่การมีงานทำ เด็ก และ ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจออกจากโรงเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือ สมัครใจที่จะไม่เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

ข้อมูล ปี 2566 มีเด็กยากจนยากจนพิเศษ จำนวน 21,922 คนสอบติด TCAS เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่ง มี 20,018 คนหรือเพิ่มขึ้น ราว 1 – 2 % เพราะฐานประชากรเพิ่มขึ้นและมีเด็กยากจนพิเศษจากโรงเรียนในสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และแน่นอนว่าในปี 2567 จะมีแนวโน้มของตัวเลขที่เข้าระบบ TCAS เพิ่มขึ้น จึง เป็นโจทย์สำคัญว่า จะทำอย่างไรที่จะช่วยกันสร้างหลักประกันให้เด็ก ซึ่งสอบติดใน 69 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทั่วประเทศทั้งหมด มีความมั่นใจในการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้อย่างตลอดรอดฝั่ง โดยเฉพาะในที่มาจากสังกัด อปท. ที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ได้น้อยกว่านักเรียนที่มาจากสังกัด สพฐ.

ผู้จัดการ กสศ. ยังกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่พบเด็กยากจนเพิ่มสูงขึ้น 30% และเด็กกลุ่มนี้ยังเจอกับปัญหาทับซ้อนเรื่องภาวะการเรียนรู้ถดถอย การวางระบบเพื่อเป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาจึงมีความสำคัญ และต้องทำให้ทันต่อสถานการณ์เพื่อให้ไทยไปถึงเป้าหมายแผนที่ 13 การขจัดความยากจนข้ามรุ่นให้ได้ด้วยการศึกษา

ส.ค. 66 เตรียม เฮ TCAS ลดค่าสมัครสอบ อุดช่องว่างเด็กรวย-จน จบอุดมศึกษา

ศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS ระบุ นักเรียนยากจน ยากจนพิเศษ เข้าสู่ระบบ TCAS หรือ ยืนยันสิทธิ มีแค่ 12.46%  เท่านั้น อุปสรรคสำคัญของเยาวชนกลุ่มนี้ คือ ความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเขายังไม่ทราบว่าจะมีหลักประกันอย่างไร ที่จะทำให้จบการศึกษาได้ และค่าใช้จ่ายในการสมัคร ในการสอบ ก็ยังเป็นอุปสรรค

จนถึงวันนี้ ทปอ. พัฒนาระบบ TCAS เข้าสู่ปีที่ 5 ระบบ Admission เดิมก่อนหน้านี้เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถสมัครได้หลายที่ และสามารถวิ่งรอกสอบได้ไม่จำกัด ยืนยันสิทธิได้หลายมหาวิทยาลัยพร้อมกัน แปลว่า คนที่มีฐานะดีกว่าสามารถที่จะยืนยันสิทธิได้หลายที่ และหลายสิทธิมากกว่า ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำขึ้นมาทันที ระบบ TCAS จึงจัดการปัญหาโดยไม่ให้นักเรียนทุกคนต้องวิ่งรอกสอบ ไม่มีการเปิดสมัครสอบตรงก่อนหน้าที่นักเรียนจะสำเร็จการศึกษา และนักเรียนที่มีทุนทรัพย์มากกว่าจะไม่สามารถสมัครสอบได้มากกว่าคนอื่น ขณะเดียวกันสิทธิที่ยืนยันจะมีแค่สิทธิเดียวต่อรอบ วิธีการนี้จะช่วยลดเรื่องการเรียนพิเศษเพื่อจะไปสอบ เพราะการสอบเกิดขึ้นหลังจากการจบหลักสูตรแล้ว  สิ่งเหล่านี้เองเป็นประเด็นที่ TCAS พยายามทำมาโดยตลอด 

ส่วนในเรื่องการทำงานขั้นต่อไป ยังมีอีกหลายมาตราการ ที่เราเตรียมการเอาไว้ ได้แก่

  • การลดค่าใช้จ่าย

น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนมองเห็นชัดเจนที่สุด ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในระบบ TCAS   นักเรียนที่สมัคร 1 สาขาต้องเสียเงิน 150 บาท  สมัคร 2 สาขา 200 บาท สมัคร 3 สาขา 250 บาท  ไล่เรียงขึ้นไปซึ่งในการสมัครแต่ละรอบ/สาขา หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถ้าเรามีหลักประกันให้กับนักเรียนโดยเฉพาะกลุ่มยากจน ยากจนพิเศษ ว่าเขาสมัครได้แน่นอน โดยมีการ waive หรือ ยกเลิกค่าใช้จ่าย ตอนนี้อยู่ในระหว่างหารือกัน คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้น่าจะมีข่าวดีจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย  ในการจะช่วยยกเลิกค่าสมัคร น้องกลุ่มนี้อย่างน้อยหนึ่งลำดับสองลำดับก็จะฟรีได้ ส่วนลำดับต่อไป ก็จ่ายเงินเพิ่มเฉพาะส่วนต่าง

“TCAS สมัครได้สูงสุดสมัคร 10 อันดับ ค่าใช้จ่ายสูงสุด 900 บาท  หลายคนอาจมองว่า 900 บาทเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

แต่ถ้าเราเปรียบเทียบกับการดำเนินการ เหมือนเราสมัคร 10 มหาวิทยาลัย 

การสมัคร 1 มหาวิทยาลัย ปกติค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 300 บาท 500 บาท 700 บาท 

ดังนั้นการสมัครเหล่านี้ จะเป็นการลดค่าใช้จ่าย

และลดเพิ่มขึ้นไปอีกถ้าเป็นน้อง ๆ ที่อยู่ในกองทุน กสศ.”

ศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS

การสมัครเป็นค่าใช้จ่ายเพียงส่วนเดียว ถ้าจะเข้ารอบสาม ก็จะมีเรื่องสอบรายวิชาต่าง ๆ  แม้ว่าตอนนี้ หลายวิชามีต้นทุน สูงขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ ทปอ. ก็ไม่มีการปรับค่าสอบมาเป็นเวลานานแล้ว นั่นก็คือ ค่าสอบ TGAT /TPAT ค่าสอบรายวิชา A level ต่าง ๆ แปรผันตามจำนวนที่นักเรียนต้องเลือก  ในอนาคตเราอาจะมีกระบวนการในการช่วยลดค่าสมัครสอบได้ด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกหลายมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระบบ TCAS เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้นักเรียนกลุ่มนี้

  • สร้างแพลตฟอร์มส่งเสริมการมีงานทำระหว่างเรียน

ส่วนหนึ่งที่ ทปอ.พยายามจะดำเนินการช่วยเหลือในทุกมหาวิทยาลัย คือ การสร้างแพลทฟอร์มการทำงาน เพราะการทำงานระหว่างเรียนไม่ใช่เป็นแค่เรื่องรายได้ แต่ยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์ ความรับผิดชอบ การเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีคุณค่า หากสิ่งเหล่านี้มีอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งคือการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย  เพราะมหาวิทยาลัยมีภาระงานเยอะ ทปอ. จึงพร้อมเป็นตัวกลางในการพัฒนา แพลตฟอร์ม ชื่อ U WORK คนที่ต้องการนักศึกษาไปทำงาน สามารถประกาศบนแพลทฟอร์มตรงนี้ เป็นงานประจำ งานพาร์ตไทม์ นักเรียนนักศึกษาที่สนใจสามารถสมัครผ่านแพลตฟอร์มนี้ ช่วยพัฒนากำลังคน และฝึกให้มีงานทำระหว่างการเรียน

  • สร้างระบบ Guiding system

ทปอ. เห็นปัญหานี้มานานแล้วว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถิติของนักเรียน นักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วแต่ลาออกไปสอบเข้าคณะใหม่หรือมหาวิทยาลัยใหม่ มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิม 12-14%  ปัจจุบันเพิ่มเป็น 20% ซึ่งแปลว่า 1 ใน 5  ของ ผู้ที่สอบในระบบ TCAS  คือ คนที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย แปลว่า เรากำลังสูญเสียทรัพยากรและเวลาไปอย่างมากมาย ระบบ Guiding system เป็นระบบสำคัญที่จะผนวกการพัฒนากำลังคนของประเทศในสาขาที่เป็นที่ต้องการ และมีระบบ Interactive รายบุคคลที่สามารถประเมินตนเองได้ ก่อนจะแนะนำสาขาที่ตนเองจะเรียน ทั้งหมดนี้อยู่ใน Pipeline ของการทำงานของ ทปอ. ทั้งสิ้น ซึ่งหวังว่าทุกมหาวิทยาลัยจะร่วมกันพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

กยศ. เตรียมส่วนลด ผู้กู้ เข้าถึง อุดมศึกษา

ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า กยศ. คือ หลักประกันว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาในประเทศไทย จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาค โดยแต่ละปี กยศ. มีฐานเงินกู้เฉลี่ยที่ 4 หมื่นล้านบาท แบ่งการกู้ยืมเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่

  • ขาดแคลนทุนทรัพย์ (มีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาท/ปี)
  • ศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ
  • ศึกษาในสาขาที่ขาดแคลน
  • ศึกษาในระดับปริญญาโท

และยังเปิดโอกาสให้กูยืมในลักษณะอื่น ๆ ตามความเหมาะสม โดยคิดดอกเบี้ย 1% และมีอัตราเบี้ยปรับ 0.5% เปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมที่มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี และด้วยบริบทการศึกษาที่เปลี่ยนไป กยศ. จึงเพิ่มรูปแบบการให้กู้ยืมเพื่อการเรียนหลักสูตรระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการ ‘พัฒนาทุนมนุษย์’ โดย กยศ. มีนโยบาย ‘ลดหนี้’ ให้แก่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ (s-curve) โดยจะลดหนี้กู้ยืมร้อยละ 30 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.5% ส่วนในการเรียนสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาจะลดหนี้เมื่อจบการศึกษาที่ ร้อยละ 50

อุดมศึกษา ปรับตัว รับมือโลกเปลี่ยน เด็กยากจนได้เรียนต่อ

ผศ.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มองทิศทางอุดมศึกษาที่มีโจทย์ท้าทายรออยู่หลายเรื่อง เช่น การเข้าถึงการศึกษา, การจ้างงาน ฯลฯ การผลิตกำลังคนแบบเดิมอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป “สถาบันอุดมศึกษา” จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนากำลังคนเป็นสำคัญ การเติมคนเข้าระบบโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังก็ยังเป็นเรื่องหลักที่ อว. ต้องทำได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนากำลังคน และผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่น แต่ในช่วง 2-3 ปี ที่ประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 พบอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น หลายสาขาอาชีพยังมีความต้องการกำลังคน เช่น การจัดการธุรกิจ (Business Management) วิศวกรรมและเทคโนโลยี (Engineering Technology) การดูแลความเป็นอยู่ด้านสุขภาพ (Healthcare) หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ซึ่งหมายถึงระบบการศึกษาไม่สามารถผลิตบุคลากรได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

นโยบายของประเทศไทย คือ ต้องการพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง แต่ประสิทธิภาพการพัฒนาคนเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ยังจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน อุดมศึกษาได้ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการจัดการศึกษา ให้การเรียนกับการทำงานไปด้วยกัน โดยเป็นความร่วมมือทำงานระหว่างภาคการศึกษากับผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้คนเข้าไปสู่ระบบงานที่ตรงความต้องการยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยลดเวลาในการสรรหาบุคลากร แนวทางนี้เป็นการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน ที่ทำให้สามารถขยายการศึกษาไปสู่ผู้มีความต้องการได้หลากหลาย เช่น การจัดการเรียนรู้ระยะสั้น Upskill Reskill เพื่อผลิตกำลังคนแบบเร่งด่วน หรือเป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ที่มีกลไกรองรับประชากรทุกช่วงวัยให้เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ มีระบบ Credit Transfer ประสบการณ์ที่เชื่อมกับสถานประกอบการ

การที่จะทำให้สถาบันการศึกษารองรับผู้ขาดแคลนโอกาสได้ ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก คือ ภาคเอกชน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งความรู้และประสบการณ์ โดยเชื่อว่า ถ้าพัฒนาระบบลักษณะดังกล่าวต่อไปในระยะยาวได้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาได้ทั้งในแง่ของจำนวน และตอบโจทย์ด้านคุณภาพการศึกษาที่พาผู้เรียนไปสู่การประกอบอาชีพได้ ส่วนการทำงานในอนาคต มองว่าการทำงานแบบ ‘แพลตฟอร์ม’ ที่หลายหน่วยงานสามารถทำงานไปพร้อมกัน ถือว่าเหมาะสมกับโจทย์ปัญหาของเด็กเยาวชนที่หลากหลาย และซับซ้อน

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการสร้างความร่วมมือในหลายมิติ

1.การเข้าถึงการศึกษา หรือ ‘Learning Access’ โดยจากข้อมูล TCAS66 แสดงให้เห็นว่าตัวเลขของเด็กทุนเสมอภาคที่ผ่านไปสู่ระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ในระดับต่อไปคือต้องทำให้เด็กเห็นข้อมูลว่ามหาวิทยาลัยใดมีการจ้างงานระหว่างเรียน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกสถาบันด้วย

2.ผลลัพธ์จากการเรียนรู้ (Learning Outcomes) ที่จะติดตามผู้เรียนเมื่อเข้าสู่ระบบอาชีพได้มากน้อยแค่ไหน

3.การทำงานเชิงระบบเพื่อการเปลี่ยนแปลง (System Change) โดยทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงานในทุกมิติไปด้วยกัน เพื่อให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาจนจบและเข้าสู่การจ้างงานได้โดยเร็ว นอกจากนี้ยังมองถึงการขยายพื้นที่รองรับนักศึกษาในสาขาที่มีความต้องการมากขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรคุณภาพ และท้ายที่สุดคือโมเดลในการดึงผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสังคมเช่นจาก กสศ. หรือ กยส. มาเป็นอาสาสมัครในการช่วยพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล หรือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างทักษะอาชีพที่สำคัญในมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น”  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active