เปิดข้อมูลปี 65 พบ รายได้ครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษ เหลือ 34 บาทต่อวัน

กสศ. แนะรัฐลงทุนเพิ่มโอกาสเด็กยากจน 2.5 ล้านคน สร้างจุดเปลี่ยนภายใน 20 ปี ปรับอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ยกระดับอัตราการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาให้สูงกว่าร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี ก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น เพิ่มรายได้เฉลี่ยถึงระดับ ‘รายได้สูง’ ภายใน 10 ปี

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565 โดยจากการสำรวจสถานการณ์เด็กยากจนพิเศษช่วงปี 2563-2565 พบมีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

  • ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน
  • ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน
  • ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน
  • ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน
  • และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน 

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุ ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า มีเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึง 2,762 บาทต่อคน/เดือน โดยพบว่า การเข้าถึงแหล่งรายได้ของครอบครัวเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่า รายได้ของผู้ปกครอง

  • ร้อยละ 59 สวัสดิการรัฐและเอกชน
  • ร้อยละ 53.9 เงินเดือนหรือค่าจ้าง 
  • ร้อยละ 42.4 เป็นรายได้ที่มาจากการเกษตร

“สถานการณ์โควิด-19 ช่วง 2-3 ปีผ่านมา ทุนเสมอภาคที่เคยอุดหนุนให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ ปีการศึกษา 2561 จำนวน 3,000 บาท หากคำนวณใหม่ ปี 2566 ที่มีแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อขึ้นไป 3.1% พบว่ามูลค่าที่แท้จริงลดลงเหลือเพียง 2,728 บาท

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

เสนอปรับเงินอุดหนุนนักเรียน ให้ทันอัตราเงินเฟ้อ

เพื่อรักษามูลค่าที่แท้จริงของอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ควรเป็นในปี 2565 อ. ภูมิศรัณย์ เสนอว่า รัฐบาล ควรเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในปัจจุบันที่จัดสรรให้

  • ระดับประถมศึกษา จาก 1,000 บาท เป็น 1,190 บาท
  • ระดับมัธยมต้น จาก 3,000 เป็น 3,300 บาท
  • ขณะที่ทุนเสมอภาคซึ่งสนับสนุนนักเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับ จาก 3,000 บาท เป็น 3,300 บาท เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา

อ.ภูมิศรัณย์ ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมา งานวิจัยของยูนิเซฟในปี 2015 ชี้ว่า จำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 500,000 คน จะส่งผลต่อมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศถึง 1.7% ของ GDP หรือคิดเป็น 6,520 ล้านดอลลาร์ ส่วนข้อมูลจากงานวิจัยของ Eric Hanushek ในปี 2020 ได้ลองคำนวณว่า ถ้าเด็กทุกคนในประเทศไทยบรรลุการศึกษาตามมาตรฐานสากล จะทำให้ GDP ของประเทศเติบโตได้ถึง 5.5% ไปได้ตลอดทั้งศตวรรษที่ 21 หรือในอีกทางหนึ่งถ้าไทยสามารถทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ได้สำเร็จ จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มถึง 3% ไปจนสิ้นศตวรรษเช่นกัน

ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ประเมินสถานการณ์ความยากจนในปี 2565 ในมิติกำลังซื้อทางการศึกษาว่า หัวใจสำคัญของการป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระบบการศึกษา ด้วยมุมมองการลงทุนเพื่อพยุงอำนาจ และกำลังซื้อให้ผู้ปกครองยังคงมีกำลังส่งบุตรหลานให้อยู่ในระบบการศึกษา โดยมองว่า ระดับการศึกษาส่งผลต่อการมีรายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

กสศ. พบว่า มากกว่า ร้อยละ 50 ของผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษจบการศึกษาสูงสุดเพียงระดับประถมศึกษา มีเพียง ร้อยละ 0.9 เท่านั้นที่จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า ขณะที่ปัจจุบันรายได้ขั้นต่ำของประชากรที่เข้าสู่ฐานภาษีเฉลี่ย 26,584 บาท/เดือน โดยมีประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 11 ล้านคน หากสามารถทำให้นักเรียนยากจน 2.5 ล้านคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมีรายได้สูงถึงฐานภาษี นอกจากจะส่งเสริมคุณภาพชีวิตยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมให้ดียิ่งขึ้น

“การที่ประเทศไทยมีเป้าหมาย เป็นประเทศรายได้สูงใน 20 ปี รายได้เฉลี่ยขั้นต่ำของประชากรควรอยู่ที่ 38,000 บาท/เดือน แต่ปัจจุบันนี้ประชากรไทยยังมีรายได้เฉลี่ยเพียง 20,920 บาท/เดือน

ดังนั้นการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อผลักดันให้มีจำนวนการจบปริญญาตรีหรือสูงกว่า การเพิ่มสมรรถนะของสถานศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศเพื่อให้ตลาดแรงงานแข็งแรงพอที่จะยกระดับรายได้เฉลี่ยประชากรไปที่ 38,000 บาท/เดือนในอนาคต ต้องลงทุนวันนี้

เพราะถ้าไม่ลงทุนวันนี้ เราจะสูญเสียโอกาสของประเทศ นี่คือค่าเสียโอกาสที่น่าเสียดายที่สุด”


ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ไกรยส ยังได้นำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 โดย กสศ. พบว่า วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นส่งให้มีรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงานเพิ่มขึ้น

  • ประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยมีวุฒิการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 6 จะมีรายได้เฉลี่ย 9,136 บาท/เดือน
  • วุฒิการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 จะมีรายได้เฉลี่ย 10,766 บาท/เดือน
  • วุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะมีรายได้เฉลี่ย 13,118 บาท/เดือน
  • วุฒิปริญญาตรี จะมีรายได้เฉลี่ย 27,132 บาท/เดือน

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า แนวทางฟื้นฟูระบบการศึกษาไทยให้มีความเสมอภาคและเกิดความยั่งยืนในอนาคต คือ การลงทุนทำให้ประเทศไทยมีฐานภาษีที่กว้างขึ้นจากการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีรายได้มากขึ้น โดยมีข้อเสนอว่า นอกจากการจัดสวัสดิการด้านการศึกษาแบบเท่ากันทุกคน (Universal) ด้วยฐานงบประมาณเรียนฟรี 15 ปีแล้ว ควรให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (Targeting) หรือการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขติดตามการคงอยู่ในระบบการศึกษาประกอบกัน ซึ่งการลงทุนด้านการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดย กสศ. ได้สรุปข้อเสนอ 3 รูปแบบ ดังนี้

1.) ข้อเสนอด้านอัตราอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ สำหรับงบประมาณ 2567

ปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน (เรียนฟรี 15 ปี) โดยจัดให้

  • ระดับอนุบาล 1,000 บาท
  • ระดับประถม 1,00 บาท
  • ระดับมัธยมต้น 4,000 บาท
  • ระดับมัธยมปลาย 9,000 บาท

ปรับปรุงอัตราทุนเสมอภาค เริ่มตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัย-มัธยมปลาย

  • จัดรายหัว ระดับอนุบาล 4,000 บาท
  • ระดับประถม 5,100 บาท
  • ระดับมัธยมต้น 4,500 บาท
  • ระดับมัธยมปลาย 9,100 บาท

2.) ข้อเสนอเชิงคุณภาพ การจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข เพื่อติดตามผลการคงอยู่ในระบบการศึกษาของผู้เรียนและการศึกษาต่อหลังขั้นพื้นฐาน รวมถึงติดตามผลด้านพัฒนาการด้านกายภาพและการเรียนรู้ การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลและระบบส่งต่อการทำงานและติดตามนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการหลุดออกจากระบบซ้ำ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 7 กระทรวง เพื่อต่อยอดจากโครงการพาน้องกลับมาเรียน จัดทำมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการระดมงบประมาณ/ทรัพยากร จาก อปท. และการบริจาคจากภาคเอกชนเพื่อลดภาระทางการคลังของประเทศ

3.) เป้าหมายในอนาคต เพิ่มอัตราการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าของนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษให้สูงกว่าร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี เยาวชนจากครัวเรือนยากจน/ยากจนพิเศษ ต้องก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น เข้าสู่ระบบฐานภาษีและรายได้เฉลี่ยถึงระดับรายได้สูงภายใน 10 ปี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active