แนะรัฐสร้างระบบส่งต่อเด็ก-เยาวชน ก้าวข้ามกับดักยากจนภายใน 10 ปี

อุ่นเครื่องก่อนศึกเลือกตั้ง 66 ชวนพรรคการเมืองแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอแก้เหลื่อมล้ำการศึกษาไทย กสศ. เผย หลังโควิด-19 เด็กยากจนเพิ่มกว่า 3 แสนคน รายได้ครอบครัวยากจนลดลง

โหมโรง ก่อนเลือกตั้ง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จัดทัพชวนพรรคการเมืองแลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายทางการศึกษา เมื่อไทยเจอศึกหนักทั้งความยากจน เด็กหลุดระบบการศึกษา และภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย หลังโควิด-19 แม้สถานการณ์ของโรคระบาดจะคลี่คลาย แต่สิ่งที่ยังเรื้อรังและเป็นปมปัญหาที่หากไม่สางจะส่งผลเสียต่ออนาคตของชาติ คือ ปมปัญหาการศึกษาไทย ที่ส่อแววเหลื่อมล้ำไม่จบสิ้น เด็กยากจนดูจะมีหนทางการสร้างโอกาสในชีวิตลดน้อยลงเรื่อย ๆ The Active ประมวลบางช่วงของ เวทีเสวนา จุดเปลี่ยนอนาคตการศึกษาไทย เพื่อเป็นข้อมูลที่เตรียมพร้อมรับมือก่อนเจอนโยบายการศึกษา ของแต่ละพรรคการเมือง

แนะปรับงบฯ อุดหนุนเพิ่มทุกระดับชั้น ก่อนกระทบเศรษฐกิจภาพรวม

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ระบุว่า จากการสำรวจเด็กยากจนในประเทศไทย ภาคการศึกษาที่ 1 ของปี 2565 มีเด็กอายุ 3-14 ปี ราว 9 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ระดับที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 5 ล้านคน แต่มีเด็กที่ได้รับทุนอุดหนุนความยากจนพิเศษ จาก กสศ. ประมาณ 1.3 ล้านคน และ ราว 1.8 ล้านคนเป็น นักเรียนยากจนที่ได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานจาก สพฐ. อย่างไรก็ตาม มีเด็กส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับการอุดหนุนอีก 2.5 ล้านคน

ขณะที่ตัวเลขรายได้เด็กยากจนจากข้อมูลคัดกรอง กสศ. ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ยังพบว่า รายได้เฉลี่ยของครอบครัวยากจนลดลง จาก 1,289 บาท ในปี 2561 เหลือ 1,044 บาท ในปี 2565 สวนทาง สถานการณ์เด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนคน ไปแตะที่ 1,307,152 คน ในปี 2565

“2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เด็กยากจนพิเศษเพิ่มกว่า 3 แสนคน แตะที่ 1.3 ล้านคนในปี 2565… ขณะที่งานวิจัย ระบุ เด็กหลุดระบบการศึกษา 5 แสนคน มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 1.7 ต่อ GDP

เห็นควรปรับเงินอุดหนุนเด็กยากจนเพิ่มทั้งในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา”

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.

นักเศรษฐศาสตร์ จึงมีความกังวลว่า หากไทยยังไม่ปรับงบเงินอุดหนุนเด็กยากจนมากขึ้นอาจมีผลกระทบในทางเศรษฐกิจ โดยใน ปี 2015 มีงานวิจัยคำนวณ ว่า จำนวนเด็กที่หลุดจากระบบ 5 แสนคน มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 1.7 ต่อ GDP หรือประมาณ 6,520 ล้านเหรียญ และหากสามารถทำให้เด็กไม่หลุดจากระบบการศึกษาเลย ก็จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 ทุกปี ในช่วงโควิด-19 เราเจอปัญหาการเรียนรู้ถดถอย ณ ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนสำหรับผลในทางเศรษฐกิจ แต่น่าจะพอคาดเดาได้ว่า เด็กหลุดจากระบบการศึกษาน่าจะเยอะขึ้น และมีผลในทางเศรษฐกิจเช่นกันหากไม่สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที โดยมีข้อเสนอเห็นควร ปรับงบเงินอุดหนุนเด็กยากจนเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มจาก 1,000 บาท เป็น 1,190 บาท ในระดับชั้นประถมศึกษา ขณะที่ระดับมัธยมต้นเพิ่มเป็น 3,570 บาท

สอดคล้องกับ ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ระบุว่า การช่วยเหลือเด็กยากจนในมิติการศึกษา จำเป็นต้องช่วยทั้งระบบ บูรณาการส่งต่อข้อมูลตั้งแต่ระดับอนุบาล-มหาวิทยาลัย 20 ปี เชื่อมโยงสังกัดทางการศึกษาต่าง ๆ และให้รัฐบาลสร้างแรงจูงใจภาคเอกชนในการบริจาค เพื่อมาช่วยเหลือประชาชน และเพิ่มมาตรการบัตรสวัสดิการดูแลผู้ปกครอง

โดยวางเป้าหมาย เพิ่มอัตราการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ของนักเรียนยากจน /ยากจนพิเศษให้สูงกว่าร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี และเยาวชนจากครัวเรือนยากจน /ยากจนพิเศษ ก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น เข้าสู่ฐานภาษี และรายได้เฉลี่ยถึงระดับรายได้สูงภายใน 10 ปี ย้ำความยั่งยืนของประเทศ คือ อนาคตเด็กกลุ่มนี้ คาดว่า มกราคมนี้จะนำเสนองบประมาณจัดสรรเพื่อเด็กเยาวชนต่อไป ซึ่งยังจำเป็นต้องจับตาว่ารัฐบาลจะตัดสินใจและให้ความสำคัญกับการศึกษาไทยอย่างไร

4 พรรค ชูนโยบายแก้เหลื่อมล้ำการศึกษา ไม่จำกัดแค่การศึกษาในระบบ หนุนเด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ 4 ประเด็นสำคัญ คือ

  1. เริ่มต้นที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก หากพบพื้นที่ไหนที่มีปัญหา ต้องส่งเสริม และ สนับสนุนเป็นพิเศษทั้งเรื่องงบประมาณ อัตราบุคลากร หรือการสนับสนุนเรื่องโภชนาการ
  2. สุขภาพของคน ต้องมาเป็นอันดับแรก อยากให้ กสศ.ทำมูล ของเรื่องสุขภาพ ของเด็กเพิ่มขึ้นไปด้วย เพราะกว่าจะรอให้ถึง 6 ขวบก็อาจจะช้าไป อัตราความสูงเฉลี่ยของประเทศไทยหากเทียบกับญี่ปุ่น ถือว่าเตี้ยมากตรงนี้ถ้าหากเพิ่มข้อมูลเข้าไปได้ ก็จะต่อยอดก็เพิ่มขึ้นได้
  3. ปัจจุบันอาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยประเด็นคือว่าทำไมเด็กที่จบ ม.6 จากข้อมูลระบุว่ารายได้น้อยทำงานไม่ได้ และทั้งที่ประเทศไทยต้องการสายอาชีพมหาศาล แต่คนมุ่งเป้าแรงงานไปที่มหาวิทยาลัยมาก่อน
  4. “ยิ่งเรียน ยิ่งหาย” จากสถิติ เด็กยากจนในช่วงประถม 150,000 คน มาถึงมัธยมปลายเพียง 40,000 คน เข้ามหาวิทยาลัยได้ 20,000 คน หายไปตลอดเส้นทางการเรียน ทั้งนี้ต้องแก้ปัญหาแบบ “มุ่งเป้า” ไม่ฉาบฉวย นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้ ยังเสียพลัง เสียงบประมาณแบบไม่คุ้มค่า

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาการศึกษาในประเทศไทย มักจะมีบรรยากาศในการพูดที่จำกัด ทำให้การศึกษาไทยไม่เคยคิดใหญ่ เรามีเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 2.5 ล้านคน กสศ. ช่วย ได้ 1.3 ล้านคน เหลือเด็กที่ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลืออีก 1.2 ล้านคน

หากจะช่วย เด็ก 1.2 ล้านคนนี้ แพงหรือไม่ หากไม่คิดไปถึงเรื่องของการเพิ่มงบประมาณ หรือเงินเฟ้อ กสศ. จะต้องใช้งบประมาณอีกเท่าไร เอา 3,000 บาท x 1.2 ล้านคน เท่ากับว่าต้องการเงินอีก 3,600 ล้านบาท หากเอาเรื่องของอัตราเงินเฟ้อมาคิด แบบหยาบ ๆ ก็ 4,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเท่านี้ไม่แพง เมื่อเทียบกับอัตรากรที่หากไม่มีเด็กตกหล่น ค่า GDP จะไปได้ 3 % ตลอดศตวรรษ คิดเป็นเงิน 500,000 ล้านบาท หากเราลงทุนอีก 4,000 ล้านบาทต่อปี จะได้ผลเป็นหลักแสนล้าน

อย่างนั้นปัญหาอยู่ที่การไม่กล้าจัดสรรงบประมาณ ดึงดันหรือลงทุนในเรื่องการศึกษามากพอ ดังนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ที่วิธีคิด แต่เป็นเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ ถ้าในหลักเศรษฐศาสตร์หากทรัพยากรที่ใส่ลงไปไม่เพียงพอประสิทธิผลจะไม่เกิด เชื่อว่าถ้าเด็กมีการศึกษาที่ดีขึ้น อนาคตของเด็กก็จะดีขึ้นซึ่งส่งผลให้รายได้ของประเทศมากขึ้น

ณหทัย ทิวไผ่งาม ประธานคณะที่ปรึกษาด้านส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า
คำว่าโรงเรียนคุณภาพเกิดขึ้นได้ ทั้ง 30,000 แห่ง เพราะว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่โลกของอนาล็อก แต่เป็นโลกดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมความเหลื่อมล้ำได้ แต่อยู่ที่ว่าวิธีการและยุทธศาสตร์ว่าจะทำอย่างไร ถ้าหากจะทำให้ได้จะต้องมีเครื่องมือ เครือข่าย และอย่าบังคับว่าการศึกษาจะต้องเอาคนเข้าไปอยู่ในระบบเท่านั้น การศึกษาคือการเรียนรู้แล้วจะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นเขาได้เรียนรู้เพื่อที่จะยกระดับความสามารถของตนเอง

ช่วงหลังโควิดทำให้เห็นว่าอาชีพหลายอย่างตายไปแล้วอาชีพหลายอย่าง ต้องอาศัยความรู้ที่มากขึ้น ความรู้เดิมใช้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นความรู้จึงไม่ได้อยู่เพียงแค่ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ฉะนั้นเครื่องมือเครือข่ายและเทคโนโลยีต้องเข้าถึงประชาชนทั้งหมด รัฐบาลทำได้ถ้าหากจัดการเรื่องการบริหารเงินให้เป็น

จึงมีการคิดนวัตกรรมที่เรียกว่า Learn to Earn เรียนแล้วดี ดีแล้วจะมีรายได้ ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ทลายกรอบระเบียบโดยเฉพาะกระทรวงศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีกฎระเบียบมากมาย ส่งผลให้คนหาทางออกอื่น ๆ ที่หลุดระบบออกไป

ณหทัย กล่าวว่า หากรัฐบาลใช้ข้อมูลสารสนเทศจะเห็นว่าใครหลุดระบบและเห็นว่าเด็กอยู่ส่วนไหนบ้าง แล้วรัฐบาลต้องทำงานเชิงรุก ด้วยการใช้เครื่องมือ ร่วมกับเครือข่ายที่เป็น Internet ความเร็วสูงทำให้คนได้อัพสกิล รีสกิล และหลีกเลี่ยงเรื่องของไมโครเครดิต อย่าระบุว่าหากจะเรียนต้องมีหน่วยกิตเท่าไรกว่าจะ สะสมครบและได้ทำงาน ฉะนั้นกฎระเบียบอะไรที่ค้ำคอแล้วทำให้คนเข้าถึงการเรียนรู้ไม่ได้ คิดว่าจะต้องปรับและเดินเชิงรุกและทำให้เร็วที่สุด ทุกคนต้องได้เรียนและเรียนแล้วต้องสามารถสร้างรายได้เลยทันที

ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ในช่วงโควิดเราจะเห็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำเยอะมาก อย่างกรณีของมือถือซึ่งได้มีการขอรับบริจาคเพื่อเอาไปแบ่งปันให้กับกลุ่มครอบครัวที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือนี้ได้ หากจะต้องมีการเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับการศึกษาไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแค่การนำเสนอ อะไรที่เป็นตัวหนังสือไม่กี่บรรทัดแต่จะทำอย่างไรให้ถึงจุดที่เรียกว่าปฏิวัติการศึกษา ถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง


อย่างแรกต้องคำนึงถึง เป้าหมายการศึกษา หากดู พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งยังอยู่ในชั้นของกรรมาธิการ ณ ตอนนี้ ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีการบัญญัติไว้ว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร เรียนไปแล้วมีงานทำหรือไม่ ตอบโจทย์ตลาดแรงงานหรือไม่ การเรียนเราควรมีเป้าหมายรู้ตัวตนตัวเองให้เร็วที่สุด เราจะสามารถดึงศักยภาพออกมาได้มากสุด ครอบครัวและสังคมก็จะสามารถสนับสนุนผู้เรียนได้เต็มที่ตามศักยภาพ

สอง เป้าหมายการศึกษาต้องทำให้คนสามารถหาความรู้โดยวิทยาศาสตร์ด้วยตัวเองได้ แต่ทุกวันนี้ความรู้ไม่ได้อยู่เพียงแค่ในห้องเรียน ความรู้อยู่บนอินเตอร์เน็ต ความรู้เกิดจากการที่ได้เจอผู้คนมากมาย
หากเราสามารถทำให้เด็กหาความรู้ให้ตัวเองแบบวิทยาศาสตร์ได้ จะเป็นการศึกษาที่เรียกว่าตลอดชีวิตจริง ๆ

สามทำให้เด็กสามารถปรับตัวเอง ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเด็กมีทักษะตรงนี้ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร เขาก็จะสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวเองได้ อัพสกิล รีสกิลตัวเองได้ เด็กจะสามารถเป็นบุคลากรที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้

นอกจากนี้ ต้องคำนึงเรื่องระยะเวลาการศึกษา ณ ปัจจุบันว่าเหมาะสมหรือไม่ จะเห็นว่าประเทศไทยมีระยะเวลาการเรียนที่นานแต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ต่ำมากถ้าเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้นต้องปฏิวัติวิธีการศึกษา เรื่องหลักสูตรที่ไม่ทันสมัย วิธีการเรียนการสอน ที่ไม่ใช่เพียงแค่สอนเพื่อท่องจำ แต่จะต้องให้เด็กวิเคราะห์เป็น สามารถที่จะคิดได้ด้วยตัวเอง

“การปฏิวัติการเข้าถึงการศึกษา อยากให้เด็กเรียนฟรีจนจบปริญญาตรีได้ ไม่ใช่เพียงแค่ค่าเล่าเรียน แต่ต้องฟรีทุกอย่าง ที่เด็กคนหนึ่งเกิดมาบนแผ่นดินไทยจะต้องมีโอกาสและมีสิทธิ์ที่จะเรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active