หลังโซเชียลแห่ชื่นชม พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงแนวคิดไม่กดดันเด็กด้วยการใช้เกรด ช่วงการสอบปลายภาคเรียน ‘ผอ. รร.สิริรัตนาธร’ ยืนยันตั้งใจส่งต่อภายในโรงเรียน ไม่ได้คาดหวังถึงผลชื่นชม ย้ำ ต้องการให้เป็นประโยชน์กับนักเรียนและผู้ปกครองเป็นสำคัญ
จากปรากฏการณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสิริรัตนาธร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่อนจดหมายถึงผู้ปกครองระดับมัธยมศึกษา โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า ให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจร่วมกันว่า นักเรียนมีความถนัดต่างกัน หากทำคะแนนได้สูงที่สุด ก็หมายถึงการเป็นที่หนึ่ง แต่หากทำไม่ได้ก็ไม่ควรทำลายความเชื่อมั่น และให้บอกลูกว่า การสอบเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต จึงไม่ควรตัดสินชีวิตจากคะแนนสอบเพียงอย่างเดียว…
โดยหลังมีประกาศฉบับนี้ผ่านทางเว็บไซต์ Sirirattanathorn School ก็มีกระแสจากสื่อสังคมออนไลน์ ชื่นชมแนวคิดของผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างล้นหลาม เช่นเดียวกับสื่อมวลชนหลายสำนัก ทำให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์แห่ชื่นชมแนวคิดนี้ที่ทำให้รู้สึกว่าการศึกษายังมีความหวัง และการศึกษาช่วยสร้างให้ผู้เรียนมีความสุข ไม่กดดันกับการสอบหรือการแข่งขันมากจนเกินไป
ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามถึงที่มาของแนวคิด ว่าเป็นคำพูดที่คัดลอกมาจากต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือเฟซบุ๊กส่วนตัวของ Attavit Panyapinyophol ระบุเนื้อหาโดยสรุปว่า “เนื้อความเป็นไอเดียที่ดี แต่เสียดายที่ ผอ.ไม่ได้บอกว่า คัดลอกมาจากจดหมายของโรงเรียนประถมศึกษา ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีคนแปลส่งต่อกันในกลุ่มไลน์ภายใน…” พร้อมย้ำว่า “Plagiarism หรือ การคัดลอกบทความที่ผู้อื่นเขียนโดยไม่ใส่แหล่งที่มาในทางสากล ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ผิดทั้งมารยาท ผิดทั้งกฏหมาย และในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว การบอกว่าเป็นไม่ต้องซีเรียสกับคะแนนสอบอาจไม่ถูกนักในบริบทการศึกษาไทย เพราะถ้าเด็กสอบประจำภาค ที่สอบทีละสามบทยังทำคะแนนได้ไม่ดี วันที่ต้องสอบ TCAS ซึ่งต้องสอบวิชาหนึ่งยี่สิบบท ก็อาจต้องเหนื่อยมาก ๆ และถ้าทำคะแนนได้ไม่ดี ทางเลือกในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็น้อยลง บางทีอาจต้องไปเรียนคณะที่ตัวเองไม่ได้ชอบ จะบอกคะแนนไม่สำคัญเลยก็คงผิดความจริงอยู่ และในฐานะครู ถ้าเด็กที่เราสอนมาทั้งเทอมตกวิชาเรา ผมก็คงต้องซีเรียสแล้วแหละว่าผมสอนยังไงเด็กถึงตก”
The Active สอบถามประเด็นนี้โดยตรงจาก สายัณห์ ต่ายหลี ผู้อำนวยการโรงเรียนสิริรัตนาธร ได้รับคำยืนยันว่า จุดเริ่มต้นมาจากการส่งต่อข้อความจากการแปลโดยใช้ถ้อยคำจากโรงเรียนในสิงค์โปร์ที่แชร์ต่อกันในไลน์กลุ่มปริญญาเอก ซึ่งเป็นกลุ่มที่แชร์หลักการการบริหารงาน เพื่อนำไปใช้กับโรงเรียน
“ผมอ่านสิ่งที่ถูกส่งต่อมาทางไลน์ เป็นข้อความที่แปลมาจากถ้อยคำของโรงเรียนในสิงคโปร์ และเอามาเรียบเรียงต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์ กับ เด็ก ผู้ปกครอง… เราทำเพื่อประโยชน์ในองค์กรของเรา”
สายัณห์ ต่ายหลี ผู้อำนวยการโรงเรียนสิริรัตนาธร
รวมถึงความตั้งใจเขียนหนังสือราชการ ที่ไม่ได้เป็นภาษาราชการ เพราะต้องการให้ข้อความทุกตัวอักษร สื่อสารไปถึงใจผู้อ่านให้ได้มากที่สุด และเชื่อว่าผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์เดียวกันจะรู้สึกเข้าใจ และย้อนคิดถึงประสบการณ์ในการจัดการศึกษาของตัวเองได้
ผอ.สายัณห์ เล่าต่อว่า เขาเคยเป็นครูอยู่โรงเรียนชายล้วนมาเป็นระยะเวลา 15 ปี เห็นลูกศิษย์ 15 รุ่น ที่จบออกไป ซึ่งมีทั้งคนที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจเรียน ในอดีตตนเองเคยเข้มงวดกับนักเรียนที่ไม่สนใจเรียนมาก่อน ทั้งที่จริง ๆ แล้วเด็กกลุ่มนี้อาจจะมีความถนัดด้านอื่น ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เมื่อพบว่าผ่านไป 4-5 ปี บางคนจบไปแล้วประสบความสำเร็จในการทำงานบริษัท ในสายงานราชการ และเป็นผู้ประกอบการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หวนคิดถึงตัวเองในสมัยก่อน และต้องการจะใช้ข้อความดังกล่าวนี้ส่งไปถึงผู้ปกครอง และนักเรียนของตัวเองด้วยเช่นกัน
โควิด-19 กระทบ อีกเหตุผลที่ต้องการสื่อสารถึงผู้ปกครองอย่ากดดันเกรด
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลหลักที่ต้องการจะสื่อสารให้ผู้ปกครองไม่กดดันเกรด หรือผลคะแนนของเด็ก คือ เหตุผลของการเรียนออนไลน์นานถึง 2 ปี ทำให้เด็ก ๆ ขาดปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอน และมีผลการเรียนติด 0 กันมากขึ้น รวมถึงสภาพอารมณ์ สังคม จิตใจ ที่เปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ทำให้ส่วนตัวรู้สึกว่า หากนำแนวคิดนี้ส่งถึงผู้ปกครอง น่าจะช่วยสะกิดให้เกิดความรู้สึก ฉุกคิดได้ในลักษณะเดียวกัน
ผอ.สายัณห์ ยังระบุอีกว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้หวังให้เป็นกระแสตอบกลับมากมาย แต่เป็นเรื่องปกติ ผู้บริหารโรงเรียนใช้สื่อสารถึงผู้ปกครองนักเรียนภายในโรงเรียนของตัวเอง โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าจะเกิดกระแสตีกลับหรือดราม่า พร้อมยอมรับว่า เอาแนวคิดมาปรับจริง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียนเป็นสำคัญ
สำหรับ แนวคิดเด็กเก่งได้ไม่อิงเกรด ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้นในประเทศไทย มีหลายโรงเรียนที่พยายามจะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบไม่แข่งขัน กดดันให้กับเด็กนักเรียนของตัวเอง เพราะเชื่อว่าจะช่วยเปิดโอกาส และสร้างทางเลือกที่หลากหลายทางการศึกษาให้กับนักเรียนได้ หนึ่งในนั้นคือ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เดินหน้าหลักสูตรสร้างผู้เรียนแบบไม่เน้นการใช้คะแนนสอบหรือไม่อิงเกรด และได้ผลลัพธ์ทางการศึกษาที่สำคัญ คือ ความสุขและความสามารถในการปรับตัวของผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้นพบเป้าหมายในชีวิตของผู้เรียน ที่แตกต่างและโดดเด่นได้ในแบบฉบับของแต่ละคน โดยไม่ต้องแข่งขันกันเป็นที่ 1 ตามหลักสูตรแกนกลางที่รัฐบังคับให้เป็นเพียงเส้นทางเดียว