กทม. – ยูนิเซฟ หารือความร่วมมือด้านการพัฒนาเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย ครอบคลุมไปถึงเยาวชน/วัยรุ่น และการป้องกันการทำร้ายเด็กและผู้หญิง
วันนี้ (15 ส.ค. 65) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย เพื่อหารือความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและยูนิเซฟ โดยมี ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักงานการต่างประเทศ สำนักพัฒนาสังคม และผู้เกี่ยวข้อง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทางยูนิเซฟได้เข้ามาเยี่ยมกรุงเทพมหานคร ซึ่งยูนิเซฟเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องของเด็กและการศึกษา โดยมีหลายโปรแกรมที่ทำกับกทม.อยู่ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสาธิต ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. 4 แห่ง ที่เป็นต้นแบบในการพัฒนา ซึ่งมีการเก็บข้อมูลเชิงวิจัยต่าง ๆ ไว้โดยละเอียด เพื่อให้ กทม.สามารถนำไปขยายผลต่อในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกทม.แห่งอื่น ๆ ต่อไป รวมถึงมีการช่วยเหลือกลุ่มเยาวชน/วัยรุ่น อายุ 18-24 ปี ในเรื่องการหางาน การฝึกงานต่าง ๆ และมีการทำสำมะโนหรือการเก็บข้อมูลประชากรเด็ก วัยรุ่น ข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีรายละเอียด ทำให้เราเข้าใจสภาพของประชาชนได้ค่อนข้างดี ก็เป็นความร่วมมือด้านแรก ๆ และคงจะมีความร่วมมือกันอีกหลาย ๆ ด้าน
เกษรา กล่าวเสริมว่า สำหรับการหารือในวันนี้ ประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นการพัฒนา และประเด็นการป้องกันการใช้ความรุนแรงหรือการทำร้ายเด็กและผู้หญิง ซึ่งในทุกประเด็นจะต้องมีการหารือในรายละเอียดกันอีกครั้ง
ประเด็นที่ 1 การพัฒนา ได้แบ่งการหารือออกเป็น 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน (childhood center) ซึ่งได้มีการทำการฝึกอบรม (training) ให้แก่ครูและบุคลากรที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร มีการเก็บข้อมูลเชิงวิจัยต่าง ๆ ไว้โดยละเอียด โดยได้ดำเนินการนำร่องแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ 1. ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนวัดเทพากร เขตบางพลัด 2. ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนนวมประดิษฐ์ เขตภาษีเจริญ 3. ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา เขตมีนบุรี และ 4. ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนเอื้ออารีย์ เขตสวนหลวง ซึ่งจะมีการส่งข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้ให้ทางกทม. เพื่อให้กทม.สามารถนำไปขยายผลไปยังศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนแห่งอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานครต่อไปได้ ทั้งนี้ การจะเลือกศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่จะขยายผลนั้น จะต้องพิจารณาจากความพร้อมในองค์ประกอบต่าง ๆ ของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน อาทิ จำนวนเด็ก ครู เป็นต้น
ส่วนอีกเรื่องในประเด็นการพัฒนา คือ เรื่อง youth program (เยาวชน/วัยรุ่น อายุประมาณ 18-24 ปี) ที่อาจจะออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว ได้หารือถึงการพัฒนาให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ เรียนต่อได้ หรือจัดฝึกอาชีพ ฝึกงาน เพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานได้
ประเด็นที่ 2 การป้องกันการใช้ความรุนแรงหรือการทำร้ายเด็กและผู้หญิง เป็นเรื่องที่ทางยูนิเซฟมีความชำนาญอยู่แล้ว ทำให้สามารถเข้ามาช่วยกทม. เพื่อให้กทม.เป็นองค์กรต้นแบบในเรื่องนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ในที่ประชุม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้รายงานผลการดำเนินงานแผนความร่วมมือ (Work Plan) ระหว่างองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ฉบับปี พ.ศ. 2563/64 ในด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยและด้านการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของเยาวชน เพื่อวางแผนความร่วมมือในแผนงานการพัฒนาเด็กปฐมวัยฉบับใหม่ ปี พ.ศ. 2565/66 ซึ่งประกอบด้วย
ภาพรวมของแผนความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ฉบับปี พ.ศ. 2563/64 ซึ่งเป็นแผนความร่วมมือที่อิงกับนโยบายการดูแลเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560-2564 ของรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมียุทธศาสตร์หลัก 3 ประการ คือ 1. ความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาชั้นต้นของเด็กทุกคน 2. การดีร่วมโครงการสอนการดูแลบุตร (Parenting Programme) 3. การพัฒนาคุณภาพในทุกด้านของการดูแลเด็กปฐมวัย
ภาระหน้าที่รับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร อันได้แก่ 1. เป็นผู้ประสานงานในการจัดกิจกรรมและติดตามผลในความร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ 2. รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานและเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้แทนของทั้งสองฝ่าย การสาธิตการดูแลเด็กปฐมวัย โดยมีองค์การยูนิเซฟให้ความช่วยเหลือในด้านงบประมาณการจัดกิจกรรม และส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ
ตัวอย่างกิจกรรมความร่วมมือที่ได้ดำเนินการร่วมกันระหว่างองค์การยูนิเซฟและหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร อาทิ 1. โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสาธิต ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัดสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร 4 แห่ง หลักสูตรพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบองค์รวม หลักสูตรการสื่อสารกับผู้ปกครอง 2. โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการอ่าน 3. โครงการอบรมครูและพยาบาล จากสำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ 4. โครงการจัดทำหนังสือชุด อ่าน อาน อ๊าน และ 5. ในส่วนของความช่วยเหลือระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 องค์การยูนิเซฟได้มอบกล่องมหัศจรรย์ (ของเล่น หนังสือนิทาน ที่ส่งเสริมการพัฒนาการของเด็ก) จำนวน 1,000 กล่อง แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสาธิต 4 แห่ง และสถานรับเลี้ยงเด็กภายใต้การดูแลของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมด้วย