สกสว. ร่วมภาคีการศึกษา ขับเคลื่อนการศึกษาด้วย “นวัตกรรม”

รั้งแรกที่หน่วยงานด้านการทำวิจัยนวัตกรรม รวมขับเคลื่อนในประเด็นการศึกษา ร่วมกับอีกหลากหลายภาคี นักการศึกษาชี้ ฝ่ายการเมืองยังมองข้ามการแก้ความเหลื่อมล้ำเสนอเร่งแก้การเรียนรู้ถดถอย

เมื่อวันที่ (13 ส.ค.65) มีการจัดงานประชุมวิชาการ Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย ณ ห้องประชุมอารีย์ กทม. ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ร่วมกับ ภาคีด้านการศึกษา เตรียมขับเคลื่อนการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาวิจัย

รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว.

รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ย้ำว่า การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ขณะที่ความหลากหลายของสังคมไทยก็มีความสำคัญ แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้เกิดพลังและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ จึงมีความคาดหวังจะบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์องค์กรให้ความสำคัญของการศึกษา จึงเป็นครั้งแรกที่เห็นหน่วยงานด้านการทำวิจัยนวัตกรรม เริ่มงานขับเคลื่อนในประเด็นการศึกษา ร่วมกับอีกหลากหลายภาคีด้านการศึกษา ประกอบด้วย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), คณะวิทยาการเรียนรู้และศกึษาศาสตร์มหาวิทยาลยัธรรมศาสตร์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership : TEP) โดยมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีที่ สกสว.จะเดินขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

โดยช่วงแรกของการประชุมวิชาการ ผศ.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนุบุรี ได้กล่าวถึง แนวคิด และพัฒนาการการจัดการศึกษาไทยในรอบ 50 ปี โดยย้ำว่า มีหลายประเด็นที่การศึกษาก้าวไปข้างหน้า เช่น การเน้นพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีหลายส่วนที่ถอยหลัง เช่น ปัญหาในระบบราชการ และวิธีการมองการศึกษาในมุมนักการเมือง ที่ให้ความสำคัญเฉพาะเด็กที่ประสบความสำเร็จ มากกว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะประเด็นการศึกษาไม่เคยเป็นวาระใหญ่ในทางการเมือง

“ประเด็นการศึกษา ไม่เคยเป็นวาระใหญ่ของนักการเมือง เพราะให้ความสำคัญกับ นักเรียนที่ประสบความสำเร็จ มากกว่าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา…

เราทิ้งภูเขาทั้งลูก คือ เด็กไทยส่วนใหญ่ในสังคมไทย การศึกษาเราก็ถือว่า ถอยหลัง”

ผศ.อมรวิชช์ นาครทรรพ นักวิชาการด้านการศึกษา
ผศ.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนุบุรี

โดยในช่วงเช้าของการจัดประชุมวิชาการ ผศ.อมรวิชช์ ยังได้ถ่ายทอดแนวคิดและการพัฒนาการจัดการศึกษาไทยในรอบ 50 ปี สะท้อนรากปัญหาของการศึกษา และที่มาของการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย

  • ช่วงเปลี่ยนแปลงแบบ “พลิกแผ่นดิน” และกระบวนการทำให้เป็น “ตะวันตก” โดยอาจารย์ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาสำคัญเกิดขึ้นครั้งแรกๆ ในช่วงการปกครอง ร.5 ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งทั้งในแง่ภาพลักษณ์ และการสร้างคนเข้าระบบราชการ มีโรงเรียนสามัญชนเกิดขึ้นแห่งแรกในปี 2428 และมีกรมธรรมการ และเป็นรากฐานของ Education bureaucracy เป็นจุดกำเนิดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2459 เพื่อผลิตคนให้ระบบราชการ ต่างจากการถือกำเนิด มหาวิทยาลัยโลกตะวันตก
  • หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เริ่มพัฒนาระบบการศึกษาที่เป็นรูปธรรม มีการขยายตัวของโรงเรียนฝึกหัดครูช่วงปี 2484-2497 เกิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 2476 เป็นนิติบุคคลอิสระ และเป็นอุดมศึกษาระบบตลาดวิชาแห่งแรก และเกิดมหาวิทยาลัยเฉพาะทางมากมาย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในรูปแบบมหาวิทยาลัยในกระทรวง
  • ช่วงขยายตัวของระบบการศึกษา รองรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ มีแผนการศึกษาชาติ เกิดขึ้นหลังสงครามโลก เห็นการขยายตัวของการศึกษาระดับประถม-มัธยม การเร่งรัดผลิตครู พัฒนาอาชีวศึกษา และขยายอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค ขณะเดียวกันก็มีการเริ่มต้นใช้ระบบหน่วยกิตเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้คนสามารถเลือกเรียนได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็อาจจะทำให้การเน้นย้ำรากฐานด้านวิชาชีพมีน้อยลง และเป็นจุดเริ่มต้นของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • กระแสประชาธิปไตย ตุลา 2516 เห็นการขยายตัวของการศึกษาระดับปริญญา ตั้งแต่ปี 2514 เห็นความอ่อนแอลงของอาชีวศึกษา ปริญญาบัตรถูกผูกโยงกับรายได้ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ปริญญาเฟ้อ และค่านิยมมีปริญญา มากกว่า มีอาชีพ
  • ช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 2530 กับ “การศึกษาเพื่อการแข่งขัน” เป็นต้นกำเนิดการพัฒนาการสอนการวิจัยด้าน S&T, ตั้ง สกว. ในปี 2535 ,กระแส NICs และการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า คู่ขนานกับ กระแสการศึกษา วิทยาลัยชุมชน ก่อกำหนดแนวคิดการสร้างชุมชนเข้มแข็ง
  • ช่วงสุดท้าย คือ ตั้งแต่ปี 2540 เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ ความเป็นปัจเจกนิยม และกระบวนทัศน์ประชานิยมทางการศึกษา ขณะเดียวกันก็เกิดการขยายตัวของการศึกษาทางเลือก เกิดกระแสทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีการตั้ง สมศ. และสถาบันทดสอบแห่งชาติ มีความคู่ขนานของการให้เสรีภาพทางการศึกษา คู่ขนานกับการจัดระบบทางการศึกษา และที่สำคัญยังมีกระแสหลักสูตรฐานสมรรถะในการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา รวมถึงการจัดการพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา

โดยสรุปจากบทเรียนในประวัติศาสตร์ เป็นที่มาของระบบการศึกษาในปัจจุบัน โดย ผศ.อมรวิชช์ มีข้อเสนอว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการศึกษาลำพังแค่การเทรนด์คนเข้าระบบการศึกษาคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอัพสกิล-รีสกิลคนทำงาน ไม่ผูกขาดใบปริญญา วุฒิการศึกษาเข้ากับการได้งานและการมีรายได้ ขณะที่เส้นทางการเรียนรู้ จำเป็นต้องรองรับความรู้นอกระบบการศึกษา การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการสร้างพื้นที่นวัตกรรม

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหม่ทางการศึกษาด้วยก็คือ “ปัญหาการเรียนรู้ถดถอย” เป็นเรื่องใหญ่ที่จะกลายเป็นปัญหาของสังคมไทยในอนาคตหากไม่เร่งแก้ อ.อมรวิชช์ ทิ้งท้ายว่า หลายเรื่องการศึกษาไทยเดินหน้า แต่ต้องไม่ลืมว่า การศึกษาไม่เคยเป็นวาระใหญ่ของนักการเมือง เราทิ้งฐานภูเขาทั้งลูก คือ เด็กส่วนใหญ่ในสังคมไทย...

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน