กทม.- กสศ. เร่งทำฐานข้อมูล แปรงบฯ ช่วยเด็กยากจน-หลุดจากระบบ

ศานนท์ นำทีม Teleconference 437 โรงเรียน สังกัด กทม. ​พร้อมปูพรมเยี่ยมบ้านเด็กทุกหลังใน กทม. ผู้จัดการ กสศ. ชี้ไทยยังไม่เคยมีเงินอุดหนุนเด็กยากจนปฐมวัยเสนอ กทม. ​อุดหนุน “เด็กอนุบาล-ม.ปลาย”

​ภายหลัง วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภา กทม. ประกาศ Kick off เตรียมส่งทีม ส.ก. 50 เขต เก็บข้อมูลเด็กยากจนในระบบ และเด็กหลุดระบบการศึกษาเป็นฐานข้อมูลสำคัญ เพื่อนำไปใช้แปรงบประมาณแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ​ได้จัด teleconference ร่วมกับ 437 โรงเรียนในสังกัด กทม. โดยมี ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการพูดคุยครั้งนี้

​ประเด็นที่ต้องจับตาหลังการใช้กลไก สภา กทม. เก็บข้อมูลเด็ก ๆ ใน กทม. ก็คือ การแปรงบประมาณที่จะจัดสรรมาให้เด็กในโรงเรียนสังกัด กทม. หลังจากนี้ เพราะต้องยอมรับว่า เงินอุดหนุนจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ก็ยังไม่เคยมีการปรับขึ้นตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เงินอุดหนุนเด็กยากจนสำหรับเด็กอนุบาล หรือ เด็กปฐมวัย ก็ยังไม่เคยมีโรงเรียนในประเทศไทยได้รับเลย

ไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เสนอว่า หาก สภา กทม. จะนำร่องสำรวจเด็กทั้งหมด ควรสรุปเป็นข้อมูลเพื่อจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับเด็กอนุบาล ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเป็นต้นแบบของการให้เงินอุดหนุนเด็กทั้งระบบ โดยย้ำว่า ปัจจุบัน ยังมีเด็กอนุบาลทั่วประเทศ ที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับเด็กยากจนเลย ทั้งที่เป็นวัยที่มีความสำคัญ และได้รับผลกระทบจากการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss มากที่สุดถึงขั้นไม่เข้าใจความหมายของตัวเลข 0-9

“หาก สภา กทม. จะนำร่องสำรวจเด็กทั้งหมด ควรสรุปเป็นข้อมูล เพื่อ จัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมตั้งแต่ ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย

เพราะปัจจุบัน ยังมีเด็กอนุบาลทั่วประเทศ ที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับเด็กยากจนเลย

ทั้งที่เป็นวัยที่มีความสำคัญ และได้รับผลกระทบจากการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss มากที่สุด ถึงขั้นไม่เข้าใจความหมายของตัวเลข 0-9″

ไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.

ผู้จัดการ กสศ. เปิดเผยข้อมูลความน่ากังวลต่อสถานการณ์การเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัยที่เริ่มเห็นแนวโน้มเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และไม่สามารถเข้าความหมายของเลข 0-9 ได้ เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการชะลอ ปิดกิจการของหลายธุรกิจ ทำให้ พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ต้องย้ายกลับภูมิลำเนา รวมถึงการปิดโรงเรียนช่วงที่ผ่านมา ยังทำให้ภาพรวมของการศึกษาเจอปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และไม่สามารถตามกลับมาได้

กสศ.เสนอ กทม. นำร่อง แปรงบฯ อุดหนุนครอบคลุม เด็กปฐมวัย-มัธยมศึกษาตอนปลาย

อ.ไกรยส อธิบายว่า ประเทศไทยไม่มีเงินอุดหนุนความยากจนให้กับเด็กอนุบาลทั้งที่เป็นช่วงวัยที่สำคัญ และเป็นอนาคตของชาติ มีเพียงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่แทบจะไม่ได้ปรับเกณฑ์มานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยโรงเรียนในสังกัด สพฐ. และ อปท. จะได้รับเงินจาก งบฯ เรียนฟรี 15 ปีอยู่แล้ว คือ ระดับประถมศึกษา 1,000 บาทต่อปี และระดับมัธยมศึกษา 3,000 บาทต่อปี ส่วนกรุงเทพมหานคร และพัทยา เป็นเพียง 2 จังหวัด ที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กยากจน แต่หากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเด็กในสังกัด กทม. ทั้งหมดก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเด็กยากจน และทำให้โรงเรียนก็จะมีทรัพยากรเพิ่มขึ้น จึงมีข้อเสนอว่า หาก กทม. นำร่องได้ ก็อยากจะเห็นตัวอย่างของการจัดสรรงบประมาณที่ครอบคลุม ตั้งแต่ระดับ เด็กอนุบาล-มัธยมปลาย และปรับเพิ่มการจ่ายเงินอุดหนุนให้นักเรียนเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น

  • ระดับชั้นอนุบาล 1,000 บาท ต่อปี
  • ระดับชั้นประถมศึกษา 2,000 บาท ต่อปี
  • ระดับชั้นมัธยมศึกษา 4,000 บาท ต่อปี
  • ระดับชั้นมัธยมปลาย 6,000 บาท ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
เวทีเสวนา ยุติปัญหา กทม. เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

“โรงเรียนในสังกัด สพฐ. และ อปท. จะได้รับเงินจาก งบฯ เรียนฟรี 15 ปีอยู่แล้ว คือ ระดับประถมศึกษา 1,000 บาทต่อปี และระดับมัธยมศึกษา 3,000 บาทต่อปี แต่ก็แทบจะไม่ได้ปรับเกณฑ์ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพมานานกว่า 10 ปีแล้ว

ส่วนกรุงเทพมหานคร และพัทยา เป็นเพียง 2 จังหวัด ที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กยากจน”

ไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.

กสศ. จับมือ กทม. ทำฐานข้อมูล แปรงบฯ ช่วยเด็กยากจน-เด็กหลุดระบบเร่งด่วน

หากให้มองภาพรวมของโรงเรียนทั่วประเทศ อ.ไกรยส มองว่า โรงเรียนในสังกัด กทม. ยังคงเป็นโรงเรียนแห่งความหวัง เพราะ 437 โรงเรียนมีสวัสดิการที่มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ตัวอย่างเช่น อาหารเช้า สวัสดิการ ฯลฯ ซึ่งจะมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นของผู้ปกครอง แต่สิ่งที่ กทม. ยังขาด คือ การคัดกรองความยากจน เป็นรายบุคคล ซึ่งเวลานี้จะมี กสศ.เข้ามาช่วยคัดกรอง

หลังจากนี้ ทางทีม สภา กทม. และ กสศ. เตรียมลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็ก ๆ ทุกสังกัดใน กทม.ให้เสร็จสิ้นภายในกันยายนนี้ โดย กสศ. เตรียมนำตัวเลขไปเสนอต่อฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินให้เด็กกลุ่มนี้ โดยเฉพาะการนำร่องเติมเงินอุดหนุนให้กับเด็กปฐมวัย เพราะหลังโควิด-19 พบว่าเด็กวัยนี้การเรียนถดถอยแทบจะทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กหลายคนไม่สามาถเข้าใจความหมายของเลข 0-9 ได้

โดยจะเริ่มต้น Kick off ผ่าน Teleconference ร่วมกับ 437 โรงเรียนในสังกัด กทม. โดยมีรองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ มาร่วม Kick off ในครั้งนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มปูพรมเยี่ยมบ้านเป็นรายชุมชน โดยข้อมูลที่ได้จะนำกลับมาประกอบการจัดสรรงบประมาณ ในกรอบปี 2566-2567 เพื่อให้การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า มีความเสมอภาค

อ.ไกรยส ทิ้งท้ายว่า ปัญหาการศึกษาไทยเป็นเหรียญ 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็ต้องป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา มีทั้งมาตรการป้องกันที่ต้องเดินหน้า ขณะที่มาตรการแก้ไขเร่งด่วน เช่นการมีศูนย์ฉุกเฉินช่วยเหลือก็ยังต้องทำคู่ขนาน หลังจากนี้ กสศ. และ กทม. จะทำงานร่วมกัน 2 มิติ ทั้งการป้องกันและแก้ไข จึงจะแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน