วันภาษาไทย 2565 พบเด็กอ่านเขียนสื่อสารภาษาไทยถดถอย

นายกรัฐมนตรี-ครม. ร่วมรณรงค์วันภาษาไทยแห่งชาติ 2565 พร้อมจัดงานใหญ่ 26 ก.ค. นี้ ด้านนักวิชาการห่วงทักษะภาษาไทยถดถอยหลังเรียนออนไลน์นานนับปี แนะฟื้นฟูการเรียนรู้อย่างจริงจัง ผ่านการประเมินระดับทักษะของเด็ก ๆ

วันนี้ (18 ก.ค. 65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ครม. ร่วมชมกิจกรรมประชาสัมพันธ์การส่งเสริมการใช้ภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2565 ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ อีกทั้งปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถึงปัจจุบันครบ 60 ปี

ทาง วธ. ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายต่าง ๆ จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้น เพื่อน้อมนำพระบรมราโชบายและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงงาน เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดแนวพระราชดำริด้านภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงเพื่อกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักในความสำคัญ คุณค่าของภาษาไทย การใช้ให้ถูกต้องต่อไป

ด้าน รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการ การศึกษานานาชาติ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ระบุว่า สถานการณ์ปัญหาทักษะด้านภาษาไทยของเด็กนักเรียนไทยเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากการการระบาดของโควิด-19 ทำให้นักเรียนต้องเรียนอยู่ที่บ้าน ส่งผลกระทบต่อเด็กการเรียนรู้พื้นฐานภาษาไทยของเด็กเล็กสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นความถดถอยทางการศึกษาที่ชัดเจน

“ถ้าลงพื้นที่ไปดู โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงในต่างจังหวัด มีความเหลื่อมล้ำสูง มีครูที่ไม่ครบชั้น โรงเรียนขนาดเล็กขนาดขนาดกลาง จะเห็นการถดถอย หรือการสูญเสียการเรียนรู้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องภาษาไทย การอ่านออกเขียนได้หายไปเลย เด็ก ป.1-2 เด็กที่เรียนออนไลน์ ครูส่งแบบฝึกหัดให้พ่อแม่สอน แต่เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย อาจจะไม่ได้สอน หรือเด็กพิเศษ บางคนเรียนไปได้เยอะแล้ว เมื่อต้องเรียนออนไลน์เป็นปีก็พบว่าความรู้ถดถอยไปเยอะ หรือเด็ก ป.3 บางคน เมื่อเปิดเทอมอีกครั้งพบว่าไม่มีความพร้อมในการเรียนชั้น ป.3 ต้องกลับมาสอนใหม่ในเรื่องทักษะภาษาไทยของ ป.1”

รศ.ดารณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาษาไทยคือภาษาแม่ เด็กไทยทุกคนต้องมีศักยภาพต้องมีทักษะตั้งแต่การพูด อ่านเขียน การสื่อสาร เพราะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ทุกวิชา รวมถึงภาษาอื่น ๆ ด้วย จึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ สำหรับเด็กเล็กที่ต้องฝึกเรื่องภาษาไทย ยังพบว่าการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยังทำให้เด็ก ๆ ไม่เห็นอวัจนภาษา เช่น สีหน้า ท่าทาง การขยับปากเพื่อการออกเสียง เป็นสิ่งที่กระทบต่อการเรียนรู้ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาคือ การฟื้นฟูการเรียนรู้อย่างจริงจัง ผ่านการประเมินระดับทักษะของเด็ก ๆ

“ต้องประเมินเด็ก ว่าขณะนี้เด็กแต่ละคนมีความรู้ ทักษะการอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างไร เพิ่มเวลาในการเรียนรู้ภาษาไทยมากขึ้น ประยุกต์กับวิชาอื่นๆ ทำกิจกรรมเสริม ใช้เทคนิคให้เด็กสนุกกับการเรียนภาษาไทย ต้องตระหนักว่าทักษะภาษาไทยเป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญ ถ้าเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็ไม่สามารถเรียนวิชาอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะในเด็กประถมต้น ประถมปลาย”

รศ.ดารณี กล่าวอีกว่า ในเด็กโต เด็กมัธยม ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ก็พบว่ามีการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง ไม่สามารถเขียนเรียงความได้ตามมาตรฐาน จึงต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ ฝึกฝน และกาปรับหลักสูตรการศึกษา

“โรงเรียนต้องให้ความสำคัญ เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถเขียนเรียงความได้ตามมาตรฐาน เด็กจะต้องสามารถคิดแล้วเขียน และสื่อความหมายออกมาให้ได้  เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ครูต้องทำให้เด็กสามารถอ่านแล้วจับใจความให้ได้ บูรณาการทุกหลักสูตรทุกระดับชั้นต้องส่งเสริมการอ่าน จับประเด็น จับคอนเซปต์ของการอ่านให้สามารถเรียนรู้เล่าสู่กันฟัง ส่งเสริมการอ่านที่จะสนุกสนาน สอดรับไปกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆ สามารถนำเสนอผ่านออนไลน์ จัดให้มีการถกเถียง อ่านร่วมกัน เพื่อสะท้อนความคิดจากการอ่านและนำไปเขียนได้”

สำหรับกิจกรรมการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 นั้น วธ. และหน่วยงานในสังกัด จะร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยจะมีพิธีมอบโล่เกียรติยศและโล่รางวัลแก่หน่วยงานและผู้ได้รับรางวัลด้านภาษาไทย ผู้ชนะการประกวดด้านภาษาไทยต่างๆ อาทิ รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย และรางวัลเด็กและเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน , รางวัลการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) และการจัดนิทรรศการหนังสือหายาก ,การมอบรางวัลการประกวดสื่อสร้างสรรค์ “รักนะจ๊ะ ภาษาไทย”, รางวัลประกวดคำขวัญวันภาษาไทยแห่งชาติ และรางวัลประกวดการอ่านทำนองเสนาะ รวมไปถึงการออกร้านจำหน่ายหนังสือ สื่อการเรียนการสอนด้านภาษาไทย จากสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สถาบันไทยปัญญ์สุข มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย และมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และร่วมชมวีดิทัศน์ ความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติและวีดิทัศน์ ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย จากสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆประจำประเทศไทย โดยจะมีการมอบเกียรติบัตรให้แก่สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้