เปิดรายจ่ายเทศกาลเปิดเทอม เด็ก กทม. จ่ายหนักกว่าทั้งประเทศ 2 เท่า

กสศ. สำรวจภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาช่วงเปิดเทอม พบ กทม. เหลื่อมล้ำทั้งโอกาสและคุณภาพการเรียนรู้ ครัวเรือนจนสุด-รวยสุด จ่ายค่าการศึกษาห่างกัน 12 เท่า เผย เรียนฟรี 15 ปีไม่ใช่คำตอบ เสนอปรับสูตรจัดสรรงบประมาณ จัดบัตรสวัสดิการนักเรียนลดค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำเสนอข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน กทม. พบว่า เป็นจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ แทบทุกมิติ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนล่าสุดเมื่อปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่าอุปโภคบริโภคต่อครัวเรือนเฉลี่ย 10,837 บาทต่อเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ 1.5 เท่า

ด้านภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาในช่วงเปิดเทอม กทม. มีรายจ่ายด้านการศึกษาสูงกว่าทั้งประเทศ 2 เท่า จากการสำรวจค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ย 37,257 บาทต่อคนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาสูงถึง26,247 บาท ที่เหลือเป็นค่าเสื้อผ้าและเครื่องแบบ 2,072 บาท ค่าหนังสือ เครื่องเขียน และอุปกรณ์ 2,175 บาทและค่าเดินทาง 6,763 บาท  ตัวเลขเฉลี่ยเหล่านี้สูงกว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทยที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทั่งประเทศ17,832 บาทต่อคนต่อปี

เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กกรุงเทพฯ ที่มาจากครัวเรือนยากจน 10% ล่างสุด จะอยู่ที่ 6,600 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่เด็กจากครัวเรือนรวยที่สุด 10% แรก มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงถึง 78,200 บาทต่อคนต่อปี ตัวเลขที่ห่างกันถึง 12 เท่า สะท้อนถึงเหลื่อมล้ำทั้งโอกาสและคุณภาพการเรียนรู้ เนื่องจากค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน บ่งบอกถึงคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนกลุ่มยากจนและกลุ่มที่มีฐานะดีมีโอกาสได้รับแตกต่างกัน

ทั้งนี้ กสศ. มีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นแนวทางสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเด็ก กทม. คือ ปรับสูตรจัดสรรงบประมาณ ลดภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาให้ครัวเรือนยากจน ว่าควรมีการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และสอดคล้องเศรษฐฐานะของครัวเรือนยากจน บูรณาการฐานข้อมูล เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ให้ครัวเรือนยากจนพิเศษ ที่ไม่ใช่แค่การจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนยากจนเท่านั้น แต่ใช้ระบบฐานข้อมูลเพื่อการชี้เป้าบูรณาการความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงตัว และการส่งต่อการช่วยเหลือในทุกมิติ เพิ่มทรัพยากรทางการศึกษา สำหรับโรงเรียนด้อยโอกาสตามหลักเสมอภาค ให้สอดคล้องกับต้นทุนและทรัพยากรโรงเรียนแต่ละแห่ง อุดหนุนสวัสดิการสังคมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง เช่น บัตรสวัสดิการนักเรียน ลดราคาอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาย่อมเยาว์ รวมถึงแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามช่วงวัย ยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของ กทม. เพื่อดูแลบุตรหลานครอบครัวยากจน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้มีความพร้อมตามโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ครบครัน ถูกต้องตามสุขลักษณะสาธารณะสุขตามมาตรฐานปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ คุณภาพของครูพี่เลี้ยง การตรวจสุขภาพและการส่งเสริมกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกับผู้ปกครอง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม