อุตสาหกรรมการศึกษาผลิตผู้แพ้? ร่วมหาทางออกให้การศึกษาไทย

เวทีปล่อยแสง โดยเครือข่ายก่อการครู ชวนหลายภาคส่วนสร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต เปิดข้อมูลสะท้อนระบบราชการที่กดทับ ทำการศึกษาในระบบถดถอย ชวนลบมายาคติครูไทย – ไม่รอการเมือง

วันนี้ (26 เม.ย. 2566) เวทีครูปล่อยแสง ช่วงเสวนาเชิงวิพากษ์ “ทอผ้าผืนใหม่ให้การศึกษาไทย” จัดโดย เครือข่ายก่อการครู พูดถึงประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหนังสือเรียน “ภาษาพาที” ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่แม้จะถูกวิจารณ์ในหลายแง่มุม แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าหนังสือเรียนหรือแบบเรียนถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือขัดเกลาความคิดของเด็กและเยาวชน มาอย่างช้านาน นอกจากการตั้งคำถามถึงแบบเรียนที่เหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันแล้ว ยังต้องมองไปไกลถึงการแก้ปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างการศึกษาไทย ลบมายาคติ ค่านิยม วัฒนธรรมบางอย่างที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย เพื่อให้ระบบการศึกษาตอบโจทย์โลกอนาคตได้จริง 

ระบบราชการกดทับ การศึกษาในระบบถดถอย ตลาดแรงงานต้องการคนไม่มีวุฒิ แต่มีทักษะมากขึ้น

ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ เปิดข้อมูล 3 ปรากฏการณ์การศึกษาที่น่าสนใจ อย่างแรกคือ คนเรียนสูงไม่ได้มีทักษะที่ต้องการ หรือคนที่มีทักษะเป็นที่ต้องการอาจไม่มีวุฒิ โดยพบข้อมูลการเปิดรับสมัครจ้างงานคนที่ไม่มีวุฒิ แต่มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น 

สอง การศึกษาในระบบโรงเรียนและถดถอย เช่น หนังสือภาษาพาที หากไปถามโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ ที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ก็อาจจะไม่มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น 

และสุดท้าย มีการเรียนรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็น Edtech หรือ ผู้ประกอบการด้านการศึกษา เกิดขึ้น คนเหล่านี้จัดการเรียนรู้ในแบบที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่น่าสนใจ คือ จะสร้างการเชื่อมโยงงานการศึกษาในระบบและนอกระบบได้อย่างไร 

ปรากฏการณ์ 3 อย่างนำมาสู่ประเด็นคำถามที่น่าจะต้องคิดให้มากขึ้นในอนาคต คือ 1) เราจะทำอย่างไรให้วุฒิการศึกษาในระบบที่ถูกคุกคามโดยโรงเรียนและระบบการศึกษา ให้วุฒิเหล่านี้สะท้อนทักษะที่แท้จริงที่คนจำเป็นต้องใช้ และเขาอยากจะเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการคิด หรือการที่โอนหน่วยกิตแบบใหม่ ๆ

2) ทำอย่างไรจะลดความเป็นราชการในระบบการศึกษาลง ให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ทำงานที่มีความสุขมากขึ้นและตอบสนองต่อคนแต่ละยุคแต่ละวัยที่อยู่ร่วมกัน และ 3) ทำอย่างไรที่จะออกแบบความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างการศึกษาในระบบกับการศึกษานอกระบบ เช่น เรามีวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากอยู่นอกระบบการศึกษา เราจะเอาเข้ามาในระบบการศึกษาอย่างไรโดยที่ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ Edtech เจ้าใดเจ้าหนึ่ง หรือทำอย่างไรให้ไม่เป็นการตัดขาดเขาไปเลย

นอกจากนี้ ณิชา ยังตั้งประเด็นถึงข้อเสนอที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องการจ่ายค่าเทอมของเด็กตามสถานะทางสังคม หรือการปรับอาชีพครูให้เป็นพนักงาน แทนการรับราชการ เป็นต้น

สังคมไทยต้องไม่ผลิตซ้ำผู้แพ้ผ่านระบบการศึกษา  ข้อมูลเชิงประจักษ์ พบ 60% ของเด็กติดคุก มีประวัติออกจากโรงเรียนกลางคัน

ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนา เปิดเผยหลังสถานการณ์โควิด-19 พบเด็กถูกสั่งเข้าสถานการณ์ควบคุมต่าง ๆ ลดลง แต่ไม่ได้แปลว่าเด็ก ๆ ในชุมชน โรงเรียนไม่ได้กระทำความผิด แต่เพราะโควิด-19 ทำให้การจัดการบางอย่างเปลี่ยนรูปไป 

จากข้อมูลพบว่า เด็กประมาณ 66.8% เป็นเด็กที่มีประวัติถูกออกจากโรงเรียนกลางคัน สะท้อนว่าเด็กจำนวนไม่น้อยถูกปิดประตูต้อนรับจากโรงเรียน สิ่งนี้ด้อยค่าความเป็นคน และตีตราความเป็นผู้แพ้ และหากเด็กที่ออกจากระบบกลางคัน ไม่มีระบบรองรับที่ดีพอ จะถูกผลักให้ดึงดูดผู้คนกลุ่มเดียวกันมาพูดคุยกันและอาจก่ออาชญากรรมได้ภายในระยะเวลา 2-3 เดือน 

สำหรับข้อเสนอแก้ปัญหาอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้ คือ สร้างให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะสังคมไทยไม่ต้องการแค่เด็กเก่ง หรือเด็ก ฉลาดเท่านั้น แต่เด็กทุกคนมีด้านขาว-ดำ จึงต้องสร้างความมั่นใจให้พวกเขารู้สึกเป็นมิตรทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษา ตามอัธยาศัย 

สร้างกระบวนการที่ทำให้เด็กคิดเป็น และเห็นใจเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกัน ไม่ผลักใครทิ้งไว้ข้างทาง และเป็นนโยบายภาพใหญ่ที่รัฐต้องทำ คู่ขนานไปกับการสร้างพลังให้พ่อแม่ และครอบครัวเข้าใจปัญหาเด็กและเยาวชน

สุดท้าย คือ ผู้ใหญ่ไทยและครูไทยจำนวนหนึ่งรวมทั้งองค์กรรัฐในประเทศไทยเสพติดบริโภคอำนาจนิยม เชื่อว่าอำนาจนิยมเป็นสิ่งที่ทำให้เราปลอดภัย อำนาจนิยม กับ comfort zone มีความเท่ากันอยู่มาก หากอยู่ในนั้นก็จะรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย 

สร้างการต่อรองครูกับรัฐด้วย “สหภาพแรงงานครู”

ไม่เพียงปัญหาของเด็กที่ถูกกดทับจากอำนาจนิยมในโรงเรียน คุณครูเองก็เจอปัญหาเดียวกันจากการถูกกดทับของระบบราชการ

รศ.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ตั้งคำถามกับบทบาทการต่อรองของคุณครูที่ค่อนข้างมีน้อยในสังคมไทย ส่วนหนึ่งมาจาก ระบบการปกครองของไทยที่อยู่ในช่วงเวลาของสังคมประชาธิปไตยน้อย มีเพียง ปี 2540 ที่ไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เกิดการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาที่ประนีประนอมระหว่างส่วนกลาง กับการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น แต่หลังจากนั้นมาก็เจอกับการรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ครูไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่มีอำนาจออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับนักเรียน และท้องถิ่นของตัวเองมากนัก 

ขณะที่ครูเองก็ไร้ความเป็นปึกแผ่น ไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อสู้หรือต่อรองกับรัฐได้ แต่เป็นกลไกที่ทำงานให้กับระบบราชการ โดย รศ.ภิญญพันธ์ ยกตัวอย่างการรวมตัวของครูในรูปแบบสหภาพครูในประเทศที่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีการรวมในลักษณะแบบนี้มากว่า 100 ปี ไม่ว่าการเมืองจะอยู่ในขั้วของอนุรักษ์นิยม หรือสังคมนิยม เสรีนิยม มีนโยบายที่แตกต่างกัน แต่สหภาพครู จะเป็นคนต่อรองเรื่องเงิน หลักสูตร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครูและคนในระบบการศึกษา แต่ข้อมูลปลายปี 2559 ไทยมีประชากร 66 ล้านคน มีประชากรครู 350,000 คน แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันการตั้งสหภาพครูได้เพราะติดกฎหมาย

ลบมายาคติครูไทย – ไม่รอการเมือง แต่ใช้พลังคนอยากเปลี่ยนแปลงช่วยกันสร้างความหวังเปลี่ยนการศึกษาไทย

ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หยิบยกตัวอย่างมายาคติ เกี่ยวกับครู เช่น ครู คือเรือจ้าง คือผู้เสียสละ, ครู คือผู้ใช้ความรุนแรง, ครู คือเหยื่อของระบบโครงสร้าง ฯลฯ พอมาในยุคปัจจุบันมายาคติของครูก็เปลี่ยนไป เช่น ความคาดหวังให้ครูเป็นมากกว่าผู้สอน แต่จริง ๆ แล้ว ครูก็คือมนุษย์ ปถุชน-คนธรรมดาที่สามารถทำผิดพลาดได้ แต่ยังทำงานได้เข้มข้นเท่ากับมายาคติเรื่องอื่นที่สังคมกำลังคาดหวังกับ “ครู”  

เสนอปรับมุมมองผ่าน 4 บทบาทที่ครูควรมี คือ มองครูในมิติการโอบอุ้มดูแลนักเรียน, สร้างแรงบันดาลใจ, ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองตื่นรู้, ครูที่ต้องลุกขึ้นมาวิพากษ์สังคม พลิกวิธีการมองและการปฏิบัติต่าง ๆ ที่อยู่ในโรงเรียน และสังคม โดย ผศ.อดิศร เชื่อในพลังการผลักดันของคนทุกภาคส่วนในสังคม อย่าง เครือข่ายก่อการครู เป็นโครงการหนึ่งที่พยายามจัดสร้างพลังความเชื่อภายในให้กับครู

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เรารอให้การเมืองเปลี่ยนไม่ได้ รอให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไม่ได้ เราก็ต้องทำงานใต้ดินงานบนดิน หรืออะไรก็แล้วแต่ไปด้วยกัน

เด็กที่อยู่ในระบบตอนนี้รอให้โครงสร้างรอให้อำนาจเปลี่ยนแปลงไม่ได้…

เราต้องรู้ว่า เรากำลังทำงานในระยะยาวทำงานในเชิงระบบ ขณะเดียวกันก็ทำงานกับเด็กที่อยู่ตรงหน้าไปพร้อม ๆ กัน”

ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active