เทศกาลแห่งการเรียนรู้ “Relearn Festival” ชวนคนทุกวัยได้เล่นสนุก พร้อมกับทบทวนว่าเราจะมีส่วนในการร่วมสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเติบโตสำหรับเด็ก ครอบครัว และคนรุ่นถัดไปได้อย่างไร ย้ำหลักการ “การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ต้องไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่ต้องลงมาปฏิบัติจริงในระดับนโยบาย
วันที่ 27 ม.ค. 2567 หนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน Bangkok Design Week 2024 ที่มิวเซียมสยาม คือ เทศกาล ‘Relearn Festival 2024’ มหกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ของคนทุกเจเนอเรชัน
เมื่อ Mappa และ Flock Learning โดยความร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดพื้นที่สำหรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ของคนทุกเจเนอเรชัน ใน 9 โซนกิจกรรมภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Co-Creating Next Generation’ ร่วมกันเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนาพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ไม่จำกัดเพศและวัย หวังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นต่อไป
สำหรับ 9 โซนกิจกรรม ที่ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการ ‘Unlearn’ และ ‘Relearn’ คือ
- RECREATE our play โซนสนามเด็กเล่นเปิดจินตนาการจาก Kitblox ออกแบบโดย นินา – ญารินดา บุนนาค เป็นสนามเด็กเล่นที่ไม่ได้ออกแบบโดยผู้ใหญ่ ไม่ได้มีเครื่องเล่นติดตั้งใหญ่โต แต่เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วย “จิ๊กซอว์” เครื่องเล่น เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถร่วมกันออกแบบ “สนามเด็กเล่น” ที่พวกเขาต้องการได้ ในขณะที่เขากำลังวิ่งเล่น พวกเขาก็ได้ออกกำลัง ได้สื่อสารกับเพื่อน ได้ผลัดกันเป็นผู้นำ และผู้ตาม นี่จึงเป็นสนามเด็กเล่นที่เด็กได้ “เล่น” และ “เรียนรู้” ไปพร้อมกัน
- REMAKE our art ตลาดนัด ‘ทำมือ’ ที่ชวน ‘มือทำ’ กับบูธ Art & Craft เปิดพื้นที่ให้ศิลปะอยู่ใกล้มือของเด็ก ให้พวกเขาได้ลองใช้สองมือประดิษฐ์ คิด และทำ ศิลปะจะช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้กับเด็ก และการใช้มือหยิบจับสิ่งต่าง ๆ จะทำให้เขาสามารถเรียนรู้จากการสัมผัสมากยิ่งขึ้น
- RECONNECT with our family เปลี่ยนโต๊ะอาหารให้เป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว ชวนให้ผู้ใหญ่และเด็กเปิดพื้นที่บทสนทนาบนโต๊ะอาหารให้ปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยน และแบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน เพื่อเริ่มต้นการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว บทสนทนาที่เล็กน้อยเหล่านี้ จะช่วยโอบอุ้มความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัวได้ให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
- REFORM our learning ecosystem เปิดโรงเรียนไม่ได้มีไว้แค่เรียนหนังสือ กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เมื่อการศึกษาไทยยังไม่เรียนฟรีจริง และมีเด็กอีกหลายล้านคนที่ต้องตกหล่นจากระบบการศึกษาไปเพราะความยากจน ชวนทุกคนสัมผัสกับนิทรรศการสะท้อนภาพปัญหาการศึกษาไทย ลองสัมผัสประสบการณ์ในการนั่งทำข้อสอบและการบ้านไปพร้อมกับเสียงทะเลาะของพ่อแม่ เพื่อให้เราเข้าใจว่า ก่อนที่เด็กจะกลายมาเป็น “ผู้แพ้” ในระบบการศึกษา พวกเขาต้องผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง
- REIGNITE our dream จุดประกายการเรียนรู้ด้วยศิลปะ ดนตรี และการแสดงบนเวที พื้นที่โล่งสีเขียวใจกลางงาน เป็นเวทีกลางของการจัดกิจกรรม ทั้งการเสวนานโยบายด้านการเรียนรู้ การแสดงดนตรีสด การเล่านิทาน การแสดงละครใบ้ ตลอดจนการเต้น Swing Dance
- RETHINK our future ร่วมสร้างอนาคตกับนโยบายเพื่อเด็กและเยาวชนโดย คิด for คิดส์ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ชวนกันสำรวจนโยบายในการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ภายในบูทมีกระดาษ 30 สีเป็นตัวแทนของ 30 นโยบาย หากสนใจนโยบายใดให้เกิดขึ้นในสังคม ก็จะหยิบกระดาษนั้นมาทำเป็นดอกไม้ (ดอกไม้ 1 สี 1 นโยบาย) นำไปแขวนเพื่อส่งเสียงให้มีการผลักดันคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว โดยข้อมูลที่ได้จะนำไปต่อยอด และเปรียบเทียบกับการออกแบบพื้นที่ในต่างจังหวัด เช่น พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสะท้อนว่า คนในแต่ละพื้นที่มีความต้องการในการออกแบบพื้นที่โดยรอบของชุมชนพวกเขาอย่างไรบ้าง
- REMOVE our mask, REFRAME our thought อุโมงค์ลอดที่ตกแต่งด้วยแสงไฟ ชวนให้ผู้เข้าร่วมทบทวนว่าในชั่วความคิด เราเคยตัดสินหรือเหมารวมคนอื่น และตัวเองไว้อย่างไรบ้าง และช่วยกันระบายสี แต่งแต้ม เปลี่ยนให้คำพูดเชิงตัดสินเหล่านั้น กลายเป็นดอกไม้ที่มีความสวยงามหลากหลาย มอบให้แก่กัน
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 โซนกิจกรรม ได้แก่ RE-EXPERIENCE our learning process ค้นหาตัวตนด้วยเวิร์กชอปกับ BASE Playhouse, Black Box, Studio Persona, สังคมศึกษาทะลุกะลา และ SEARCH model by Flock Learning และโซนร้านอาหารภายในงานที่มีชื่อว่า REFILL our belly อาหารที่จะมาเสิร์ฟบทสนทนาพร้อมกับเมนูแสนอร่อยภายในงาน
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. เปิดเผยว่า สังคมไทยมีทัศนคติที่มองเห็นว่าการวิ่งเล่นของเด็กนั้นเป็นเรื่องเล่น ๆ จนนำไปสู่ผลการศึกษาที่เราพบว่า ห้องเรียนไทยทำให้เด็กต้องนั่งติดกับเก้าอี้ ไม่ได้ขยับร่างกายไปไหน แต่แท้จริงแล้ว การที่เด็กได้ออกมาวิ่งเล่น จะช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งด้านสังคม สติปัญญา ร่างกาย และอารมณ์
นอกจากนี้ ณัฐยา ยังชวนให้สังคมถอดบทเรียนจากปรากฏการณ์การก่อเหตุความรุนแรงโดยเยาวชน ชวนกันมองให้ลึกว่า ก่อนที่เด็กหนึ่งคนจะกลายเป็นผู้ลงมือกระทำ พวกเขาได้เติบโตและถูกบ่มเพาะมาอย่างไร ลองสังเกตง่าย ๆ จากชุมชนรอบข้างตัวเรา ว่าสังคมนี้มีความปลอดภัยและเหมาะสมมากเพียงพอที่เยาวชนจะได้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพหรือไม่
“ถ้าผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก ทั้งคนในบ้านและนอกบ้านมีทัศนคติไปในทางเดียวกัน เข้าใจเรื่องการเลี้ยงดูเด็กในโลกยุคใหม่ ก็จะทำให้เด็ก ๆ เติบโตแบบไม่สับสน …แนวคิดที่ว่า การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน จึงไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่ต้องทำให้เป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนในนโยบายภาพใหญ่ก็เคลื่อนหน้ากันไปในหลายเรื่องมาก แต่ยังมีสิ่งที่ต้องทำหลายอย่าง หลายระดับ หลายมิติ ซึ่งต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน”
ณัฐยา บุญภักดี