กสศ. ยัน ครม. ไม่ได้ตีกลับแผนงบฯ ปี 2567

ผู้จัดการ กสศ. เปิดเผย เอกสารยืนยันมติ ครม. เห็นชอบแผนการใช้เงิน กสศ. ปีงบฯ 2567 วงเงิน 7.094 พันล้านบาท เดินหน้าปรับอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค ช่วยนักเรียนยากจนพิเศษ จาก 3,000 เป็น 4,200 บาท/คน/ปี แบบขั้นบันได จนถึงปีการศึกษา 2569

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.66 ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า กสศ. ได้รับเอกสารยืนยัน มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการใช้เงินของ กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 7,094.97 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

โดยการเสนอแผนการใช้เงินของ กสศ. ครั้งนี้ เป็นไปตามปฏิทินงบฯ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งให้หน่วยรับงบฯ ต้องปรับปรุงคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดทำงบฯ และนโยบายของรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่การเสนอทบทวนเนื่องจากถูกตีกลับแต่อย่างใด

ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ผู้จัดการ กสศ. บอกด้วยว่า สำหรับแผนการใช้เงินที่ ครม. เห็นชอบ ประกอบไปด้วย 9 แผนงาน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 และแผนกลยุทธ์ กสศ. 2565-2567 ที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาไปตามขั้นตอนและปฏิทินการจัดทำงบประมาณ 2567

สำหรับงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคให้เป็นไปตาม ครม. 14 มีนาคม 2566 ที่เห็นชอบหลักการการปรับอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค ซึ่งจัดสรรให้นักเรียนยากจนพิเศษใน 6 สังกัด (สพฐ., อปท., ตชด., พ.ศ., กทม. และ สช.) จากอัตรา 3,000 บาทต่อคนต่อปี ปรับเป็น 4,200 บาทต่อคนต่อปี  โดยปรับเพิ่มในลักษณะขั้นบันไดต่อเนื่อง 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 จนเต็มตามอัตราในปีการศึกษา 2569 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

“จุดเน้นของการปรับอัตรา คือ ส่วนรายการค่าอาหารเช้า ซึ่งปัจจุบันไม่มีการจัดสรรเงินอุดหนุนในรายการนี้ผ่านหน่วยงานอื่น เนื่องจากจากผลการสำรวจของ กสศ. พบว่านักเรียนกลุ่มนี้มากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาที่สมวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุ 3-14 ปี ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโต ที่จะส่งผลไปตลอดชีวิต นอกจากนั้นจากผลงานวิจัยในระดับนานาชาติล้วนชี้ตรงกันว่าการสนับสนุนอาหารเช้าให้แก่นักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการทางการเรียนรู้ ลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา”

ไกรยส ภัทราวาท

ผู้จัดการ กสศ. ยังขอบคุณรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการการลงทุนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อผลักดันให้เด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถพาครอบครัวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้สำเร็จในช่วงชีวิตของน้อง ๆ และได้โอกาสเป็นกำลังสำคัญในการพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางในช่วงชีวิตของทุกคน

ทั้งนี้ กสศ. ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนการใช้เงินในปีงบประมาณ 2567 นี้ เพื่อป้องกันการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทาง โดยหนึ่งในข้อสรุปสำคัญจากเวทีรับฟังความคิดเห็นคือ กุญแจสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืน คือการบูรณาการทำงานและทรัพยากรจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเอาเด็กเยาวชนเป็นตัวตั้ง การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจึงอาจเรียนได้ว่าเป็นการทำงานแบบ “หนุนเสริม” เพราะการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำสำหรับเด็ก 1 คนแล้ว ครู และสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีทรัพยากรและความรู้ประสบการณ์จากหลายหน่วยงานในการจัดการกับต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากมายหลายมิติ เช่น ด้านสุขภาพ ครอบครัว สังคม และมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน  อย่างไรก็ดี กสศ. ขอน้อมรับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้การทำงานของ กสศ. และหน่วยงานภาคีให้ดียิ่งขึ้นในปีงบประมาณ 2567

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แถลงผลประชุม ครม. 10 ต.ค.66)

ย้อน ‘โฆษกสำนักนายกฯ’ แถลงผล ครม. ตีกลับงบฯ กสศ. เหตุซ้ำซ้อน ศธ.

ก่อนหน้านี้ภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุม ว่า ครม.สั่งการให้ กสศ. กลับไปทบทวนแผนการใช้เงินของกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ฉบับทบทวน) จำนวน 9 แผนงาน วงเงิน 7,094.97 ล้านบาทใหม่ หลังมีข้อสังเกตว่ามีบางแผนงานอาจใช้เงินซ้ำซ้อนกับกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับแผนการใช้เงินของ กสศ. มีวงเงินเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,021.21 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเสนอมาแล้ว 1 ครั้ง และก็ถูกสั่งให้กลับไปทบทวนเหมือนกัน โดยที่ประชุม ครม. ตั้งข้อสังเกตและถกเถียงกันว่า มี 2 แผนงานที่อาจซ้ำซ้อนกัน คือ แผนงานที่ 2 การพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา เด็กปฐมวัย และภาคบังคับ เช่น พัฒนาระบบคัดกรองช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในครัวเรือนยากจน โดยการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ซึ่งเสนอขอเงินเข้ามาสูงที่สุด วงเงิน 4,448.96 ล้านบาท

​แผนงานที่ 6 การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ระดับสูงกว่าภาคบังคับ เช่น การสนับสนุนเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อในสาขาอาชีพที่เสมอภาคกับเยาวชนทุกคน วงเงิน 1,025.09 ล้านบาท

“ที่ประชุม ครม.ตั้งข้อสังเกตพอสมควร เป็นห่วงมากเลยว่าที่ กสศ.เสนอมานั้นจะซ้ำซ้อนกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดการศึกษาทุกระดับชั้นใช้งบฯ หลายแสนล้านบาทอยู่แล้ว ดังนั้นที่ประชุมจึงขอให้เอาข้อสังเกตการซ้ำซ้อน ต้องอธิบายให้ได้ว่าซ้ำซ้อนกับงบฯ กระทรวงศึกษาธิการ หรือไม่ ดังนั้นที่ประชุม ครม.จึงมีมติให้นำข้อสังเกตของครม. ให้หน่วยงาน กสศ. นำกลับไปแล้วไปพิจารณาทบทวนแล้วกลับมาเสนอใหม่”

ชัย วัชรงค์

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ภายหลังจาก เศรษฐา ทวีสิน รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีตัวแทนจาก กสศ. เข้าพบนายกฯ ในฐานะที่กำกับดูแล กสศ. ซึ่งนายกฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะสนับสนุน กสศ. อย่างเต็มที่

โดย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. ระบุว่า การทำงานที่ผ่านมา กสศ. ได้พยายามหาทางป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสหลุดจากระบบการศึกษาจากการสำรวจ ติดตามเด็กพบว่า ในแต่ละปี จะมีนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่าหนึ่งแสนคน สำเร็จการศึกษาภาคบังคับในช่วง ม.3 แต่ในจำนวนนี้จะเหลือนักเรียนเพียงหนึ่งหมื่นคน ที่ฝ่าฟันอุปสรรคจนเข้าสอบผ่านระบบ TCAS ได้เรียนมหาวิทยาลัยหรือคิดเป็นประมาณ 13% เท่านั้น

ข้อมูลพบว่า ในปี 2565 กสศ. มีงบประมาณราว 6,000 ล้านบาท แต่ผลพวงของสถานการณ์โควิด ทำให้มีเด็ก เยาวชน เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก กสศ. จึงเสนอของบฯ เพิ่มเติมดังกล่าว


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active