นายกฯ ปักหมุด ‘ราชบุรีโมเดล’ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน

สร้างนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ แก้โจทย์ช่วยเด็กไปต่อไม่ไหวระบบแพ้คัดออกการศึกษาไทย ผุดทางเลือกการเรียนรู้ ยืดหยุ่นเงื่อนไข เวลาเรียน เปิดโอกาสนำ ‘วิชาชีพ’ วัดผล ‘วิชาเรียน’ เล็งขยายผล กระจายความเป็นเจ้าของทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน ร่วมแก้ปัญหาการศึกษา

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.66 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี เครือข่ายหน่วยงานรัฐ และ ภาคเอกชน เปิดพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ ตอบโจทย์ชีวิต ราชบุรี ‘Zero Dropout’ เด็กทุกคนต้องได้เรียน สร้างพื้นที่ทำงานร่วมกันให้กับหน่วยงานที่จัดการศึกษาทุกประเภท และทุกภาคส่วนใน จ.ราชบุรี เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กสศ. พบข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย มี 35,003 คน สาเหตุของการออกจากโรงเรียนกลางคัน อันดับแรกคือ ความยากจน (ร้อยละ 22.38) รองลงมาคือ ปัญหาในครอบครัว (ร้อยละ 13.40) และ เด็กถูกผลักออกจากระบบ เนื่องจากปัญหาพฤติกรรม (ร้อยละ 10.77) ในจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบเหล่านี้ 4 ใน 5 ไม่มีเป้าหมายด้านการศึกษา และการประกอบอาชีพที่ชัดเจน แม้ว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านการศึกษาก็ตาม

ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ระบุว่า ในแต่ละปีมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ปีละแสนกว่าคน โดยเฉพาะช่วงรอยต่อในการเปลี่ยนช่วงชั้นการศึกษา (ป.6 ขึ้น ม.1 หรือ ม.3 ขึ้น ม.4) จะมีเด็กออกจากระบบไปด้วยเหตุผลของความยากจนเป็นหลัก และความยากจนเป็นรากปัญหาของสาเหตุทั้งหมด เช่น การอาศัยอยู่ในแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาครอบครัวแยกทางกัน ตลอดจนปัญหายาเสพติด

หากภาครัฐ สามารถนำเด็กที่หลุดไปคืนกลับสู่ระบบการศึกษา (ทั้งในและนอกระบบ) ได้ทั้งหมด จะสามารถเพิ่ม GDP ในประเทศได้ถึงร้อยละ 3 และ ถ้าสามารถทำให้เด็กจบการศึกษาในระดับสูงขึ้นได้ เช่น ปวช. ปวส. ปริญญาตรี พวกเขาจะมีโอกาสยกระดับรายได้มากขึ้น นำไปสู่การจัดเก็บภาษีเข้ารัฐได้มากกว่าเดิม เพราะมีจำนวนประชากรที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำของการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดา ยิ่งไปกว่านั้น ภาษีนี้ก็จะเข้าหนุนระบบการศึกษาอีกครั้ง เป็นวัฏจักรที่ทำให้สังคมไทยก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยคำว่า “โอกาสทางการศึกษาถ้วนหน้า”

ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

‘ราชบุรีโมเดล’ นวัตกรรมเรียนรู้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ

สำหรับพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ ตอบโจทย์ชีวิต จ.ราชบุรี หรือที่เรียกว่า ‘ราชบุรีโมเดล’ นี้ กสศ.วางบทบาทการทำงานเอาไว้ 3 โจทย์สำคัญ คือช่วงตั้งต้นปีแรก ในปี 2565 เน้นไปที่การ ‘ฟื้นฟูโอกาส’ ซึ่งเวลานั้นอยู่ในช่วงหลังวิกฤตโควิด โจทย์สำคัญที่ กสศ.พยายามทำคือ สร้างโอกาสและหลักประกันการศึกษา เช่น การให้ทุน ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบ การฟื้นฟูโรงเรียน ให้มีโอกาสจัดการศึกษาที่ต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์โควิด

เมื่อฟื้นฟูโอกาสได้แล้ว ปีที่ 2 คือในปีนี้ ก็มองว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบ หรือเด็กที่อยู่นอกระบบ ทำอย่างไรถึงจะมีหลักประกันโอกาสการเรียนรู้ตามที่ต้องการ รวมถึงโอกาสการทำงานด้วย ดังนั้นจำเป็นที่โรงเรียนต้อง ‘ยืดหยุ่น’ เพื่อสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียน ไม่ควรมองโจทย์การศึกษาแค่ด้านเดียว ต้องทำให้ระบบยืดหยุ่น จนเกิดเป็น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ขึ้นซึ่งปัจจุบันเริ่มต้นไปแล้วในโรงเรียน 12 แห่ง ที่เอื้อให้เกิดการจัดการศึกษา 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. การศึกษาในระบบ 2. การศึกษานอกระบบที่ยืดหยุ่นด้วยเนื้อหา หลักสูตรที่สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการของผู้เรียน รวมถึง 3. การศึกษาตามอัธยาศัย เรียนรู้ตามศักยภาพ และความสนใจ โดยทั้ง 3 รูปแบบนี้ สามารถเทียบโอนผลการเรียนที่สะสมไว้ระหว่างเรียนในรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบก็ได้ อีกทั้งยังมีทางเลือก ผ่านศูนย์การเรียนรู้ สร้างโอกาส ผ่านพื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมจัดการศึกษาอย่างเต็มที่ ออกแบบการเรียนรู้เป็นรายคน ยืดหยุ่นทั้งเวลา รูปแบบเงื่อนไขการเข้าเรียน ไม่จำกัดอายุผู้เรียน เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยได้ แม้สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ พูดกันมานานแล้วแต่ที่ผ่านมาไม่ได้ถูกทำให้เกิดความยั่งยืน

ที่สำคัญคือเวลานี้ ราชบุรีโมเดล ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากภาคเอกชนอย่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ทำให้มีงบฯ นอกระบบราชการ สามารถยืดหยุ่นได้มากกว่า เพื่อทำให้จัดการศึกษาที่มีหลายทางเลือก นำไปสู่โจทย์ที่ 3 คือการสร้างความ ‘ยั่งยืน’ ของรูปแบบโครงการ เพื่อขยายผลต่อไปสู่การสร้างสมัชชา ภาคี เครือข่ายการศึกษา เพื่อขยับให้ภาคเอกชนอื่น ๆ ในพื้นที่เข้ามาทำงานด้านการศึกษามาขึ้น

“เมื่อเราสร้างโอกาส สร้างหลักประกัน ทำให้มีรูปแบบที่ยืดหยุ่น สามารถกระจายความเป็นเจ้าของการจัดการศึกษา ให้ทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วม ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ และคาดหวังว่า ราชบุรีโมเดล จะเป็นจุดเริ่มต้นให้จังหวัดอื่น ๆ ใช้เป็นต้นแบบ สร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน”   

ไกรยส ภัทราวาท

‘เอกชน’ ตัวช่วย เติมเต็มโอกาสการศึกษา

ขณะที่ สมัชชา พรหมศิริ ประธานผู้บริหารฝ่ายการตลาดดิจิตอลและสื่อสารการตลาดองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บอกว่า  เป้าหมายความร่วมมือที่เกิดขึ้น เพราะต้องการมีส่วนช่วยผลักดันความเท่าเทียมทางการศึกษาซึ่งหมายถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ แน่นอนว่าผลลัพธ์ทางการศึกษาเหล่านี้ ไม่สามารถวัดได้ด้วยผลกำไร หรือผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับบริษัท แต่การศึกษาที่มีคุณภาพ ย่อมนำไปสู่การผลิตแรงงานที่มีศักยภาพ และนำไปสู่เศรษฐกิจที่ขยายตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลย้อนกลับมายังภาคเอกชนในประเทศอยู่ดี

สมัชชา พรหมศิริ ประธานผู้บริหารฝ่ายการตลาดดิจิตอลและสื่อสารการตลาดองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

“การเข้ามาสนับสนุนพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ ตอบโจทย์ชีวิต จ.ราชบุรี บริษัทฯ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงธุรกิจกับพื้นที่ จ.ราชบุรี ทำให้เราเลือกทำงานในพื้นที่แบบนี้ ซึ่งมองว่าภาคเอกชนมีส่วนสำคัญกับการเข้ามาช่วยทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสามารถสร้างโอกาสให้กับเด็กเยาวชนได้มองเห็นอนาคตของตัวเอง เพราะการจัดการงบฯ ของเอกชนที่ยืดหยุ่นมากกว่า ทำให้สามารถเติมเต็มในสิ่งที่โรงเรียน และพื้นที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงอยากเห็นภาคเอกชนในแต่ละพื้นที่ ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนโอกาสให้กับเด็ก เยาวชนให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนการแก้ปัญหาทางการศึกษาของประเทศ”    

สมัชชา พรหมศิริ

สร้างทางเลือกการเรียนรู้ กำหนดชีวิตตัวเอง

เนตรดาว ยั่งยุบล อาจารย์จากศูนย์นวัตกรรมทางสังคม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะ ผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานโครงการดังกล่าว ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาไม่ใช่เพียงเพราะความยากจน แต่พวกเขาตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก เจอปัญหาความด้อยโอกาสในชีวิตที่ซับซ้อน ดังนั้นการศึกษาในระบบภาคบังคับ สำหรับพวกเขาจึงไม่ตอบโจทย์ จึงจำเป็นต้องมีระบบการเรียนรู้ที่สามารถส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ได้ค้นพบความต้องการ ความถนัดที่แท้จริงของตนเอง และมีเป้าหมายว่าตนเองเรียนไปเพื่ออะไร มีความสำคัญมาก

“การพาน้องกลับเข้าโรงเรียนอาจไม่ใช่ทางออกทั้งหมด เด็กบางคนการพากลับเข้าสู่ระบบโรงเรียน คงไม่ต่างจากการถูกข่มขืนซ้ำสอง จึงต้องหาทางออกที่หลากหลาย สอดคล้องกับตัวเด็ก ให้เขาเป็นผู้กำหนดชีวิตว่าต้องการการศึกษาแบบไหน เราจำเป็นต้องมีพื้นที่แห่งโอกาสที่ทำให้เด็กได้สร้างสรรค์ทั้งรูปแบบการเรียนรู้ และชีวิตของเขา เพื่อดึงศักยภาพออกมาให้ได้สูงสุด”

เนตรดาว ยั่งยุบล

ผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. บอกอีกว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนอกระบบใน จ.ราชบุรี เข้าสู่โปรแกรม ‘Zero Dropout’ เพื่อเด็กทุกคนต้องได้เรียนการศึกษานอกระบบแล้ว 400 คน นำร่องใน 5 อำเภอ 32 ตำบล ประกอบด้วยอำเภอเมือง, บ้านโป่ง, สวนผึ้ง, บ้านคา และจอมบึง โดยโมเดลการศึกษานี้ ช่วยสนับสนุนให้เกิดกลไกโอบอุ้ม คุ้มครองระดับตำบล เพื่อวางระบบการค้นหา ช่วยเหลือ ฟื้นฟู พัฒนาและส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งสุขภาพกายใจ สังคม การศึกษา โดยมีอาสาสมัครเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเด็กและชุมชน

วงษ์สัน คูหามณีโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7 อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

ใช้ ‘วิชาชีพ’ วัดผล ‘วิชาเรียน’

วงษ์สัน คูหามณีโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7 อ.จอมบึง จ.ราชบุรี หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบ 1 โรงเรียน 3 ระบบ ตามแนวทางของราชบุรีโมเดล ระบุถึงการจัดรูปแบบการศึกษาหลักสูตรทางเลือกของโรงเรียน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือเด็กจะได้รับการเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป และอีกส่วนคือวิชาชีพที่บูรณาการกัน เช่น เด็กบางคนออกนอกระบบไปแล้วมีงานทำอยู่ร้านซ่อมรถ หรือ ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร รับจ้างต่าง ๆ ก็สามารถนำวิชาชีพเหล่านั้นมาปรับให้เข้ากับการวัดผลของโรงเรียน ว่าอ้างอิงตัวชี้วัดกับวิชาอะไรได้บ้าง แล้วสามารถวัดผลได้เลยโดยไม่ต้องมาเรียนอีก ทำให้การเรียนสั้นที่สุด รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กที่ไม่ต้องการอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งมองว่า 2 ส่วนที่ทำสำหรับการจัดพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้ จะทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้น ส่งผลทั้งต่อคุณภาพการศึกษา และชีวิตของเด็กจะดีขึ้นด้วย

เพิ่มทางเลือก สร้างจุดเปลี่ยนชีวิตเด็ก

ขณะที่ ดุดดาว พานิชเจริญวงศ์ มารดาของ ‘เอ็ม’ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนมหาราช 7 ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเรียน 10 คน ที่เข้าสู่กระบวนการเรียนแบบทางเลือก เล่าว่า ลูกชายเริ่มบ่นว่าไม่อยากเรียนต่อก่อนจบ ม.2 เหตุผลที่เขาอธิบายคือ “หนูไม่ชอบครู” เมื่อถามที่มาที่ไปลูกก็บอกว่า “ครูดุ” ไม่ว่าวิชาไหนที่ครูคนนั้นสอน ทำให้เขาไม่อยากเรียนไปด้วย จนเปิดเทอม ม.3 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าไปเรียนได้แค่ 2 สัปดาห์ ลูกก็ขอไม่ไปโรงเรียนอีกเลย

“เราไปส่งลูกที่โรงเรียนทุกเช้า เห็นเขาเดินเข้าโรงเรียน แต่เมื่อเรากลับเขาก็หนีออกจากโรงเรียน เป็นแบบนี้มาตลอด จนครูแจ้งให้ทราบว่าลูกไม่ได้เข้าเรียนเลย ทีแรกก็โกรธ เครียดมาก แต่ก็คุยกับเขาอย่างเปิดใจ ก็ได้รู้เหตุผล จึงไม่ได้บังคับ แล้วก็ให้เขามาช่วยทำงานในไร่ ช่วยเลี้ยงวัว แล้วให้เงินเป็นค่าตอบแทนเหมือนจ้างคนงานทำงาน ซึ่งเขาก็โอเคขึ้น จนในที่สุดครูที่โรงเรียนก็มาตามที่บ้าน ช่วยเสนอทางเลือกการศึกษาให้ เขาก็เลือกในรูปแบบการเรียนออนไลน์ เรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ โดยไม่ต้องเข้าไปเรียนในห้องเรียน ซึ่งสามารถยืดหยุ่นเวลาเรียนได้ มีครูคอยมาให้คำแนะนำตลอด ก็รู้สึกดีขึ้นอย่างน้อยเขาก็ยังมีวุฒิการศึกษาติดตัว ถึงแม้เบื้องต้นอาจได้แค่วุฒิ ม.3 ก็แล้วแต่เขา ถ้าเขาอยากไปต่องานช่าง อย่างน้อยก็มีวุฒิไปเรียนต่อสายอาชีพ ดีกว่าออกมาอยู่บ้านเฉย ๆ โดยไม่มีอะไรติดตัวเลย เพราะเราก็ตั้งใจส่งเขาให้เต็มที่ที่สุด จะได้ไม่ลำบากเหมือนแม่”  

ดุดดาว พานิชเจริญวงศ์

‘นายกฯ เศรษฐา’ ยก ‘ราชบุรีโมเดล’ ต่อยอดแก้ปัญหาการศึกษา

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. เชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นผ่าน ราชบุรีโมเดล ช่วยตอบโจทย์เด็กที่ทนไม่ไหวกับระบบการศึกษาที่แข่งขันแบบแพ้คัดออก เมื่อระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ชีวิตและความต้องการ การแก้ปัญหาจึงมองแค่มิติเดียวไม่ได้ การจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ จึงเป็นนวัตกรรมที่กำลังขับเคลื่อนไม่ใช่แค่ที่ราชบุรีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการทำให้เกิดศูนย์การเรียน ที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ฉบับใหม่ ให้ผู้เรียนมีสิทธิเสรีภาพ ออกแบบการเรียนรู้ตามความถนัน ความสนใจ ไม่ใช่ระบบที่ยึดติดระบบโรงเรียนอย่างเดียว จากนี้โรงเรียนขยายโอกาส จะต้องขยับมาเป็นโรงเรียน 3 ระบบ เพื่อสร้างการเรียนรู้ตอบโจทย์โลกอนาคต เรียนรู้สมรรถนะ ทักษะ การลงมือปฏิบัติ

“จากนี้รูปแบบการศึกษาจะเปลี่ยนไป ครูไม่ใช่ผู้บรรยาย แต่ปรับบทบาทเป็นนักจัดการเรียนรู้ ราชบุรีโมเดลกลายเป็นจุดปักหมุด ที่นายกฯ เศรษฐา ให้ความสำคัญกับการใช้เป็นรูปแบบเปลี่ยนแปลงการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยั่งยืนต่อจากนี้คือความท้าทายที่ทุกภาคส่วนในราชบุรี ต้องร่วมกันทำให้เกิดจังหวัดจัดการตัวเองด้านการศึกษา ถ้าราชบุรีทำได้ โดยทำให้เชื่อมโยงตั้งแต่ปฐมวัย จนถึงอุดมศึกษา ก็จะยิ่งกว่าการตอบโจทย์การศึกษา แต่หมายถึงโมเดลพัฒนาคนที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้เรียน และความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง”

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active