การศึกษาเปลี่ยนชีวิต สานฝันเรียนรู้ สร้างโอกาส ‘เยาวชนที่ก้าวพลาด’

ภาคีด้านการศึกษา จัดพิธีมอบวุฒิบัตรแก่เด็กและเยาวชน ในกระบวนการยุติธรรม ต่อยอดการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างทางเลือกการศึกษา อาชีพ สู่เป้ายุติส่งต่อความจนข้ามรุ่น

วันที่ 16 มี.ค.2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ มูลนิธิปัญญากัลป์, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (DJOP) จัดงานนิทรรศการแสดงผลงาน พร้อมจัดพิธีมอบวุฒิบัตรแก่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จ.อุบลราชธานี ซึ่งสำเร็จการศึกษา ณ โรงละครศิลปศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า การศึกษาของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ในรูปแบบของการศึกษาทางเลือกสามารถช่วยต่อยอด และสร้างโอกาสให้กับเด็ก เยาวชน สำหรับการสร้างอาชีพ และการใช้ชีวิตในอนาคตได้ โดยย้ำว่า การศึกษาสามารถเปลี่ยนคนได้ ช่วยเปลี่ยนเยาวชนที่อยู่ใต้สุดของสังคม ให้กลายเป็นพลเมืองดี พร้อมยกประเด็นนวัตกรรมทางการศึกษา อย่าง mobile learning และการเปลี่ยนลักษณะของผู้คุมให้เป็นนักจัดการการศึกษา การมีนวัตกรรมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จะช่วยออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมให้กับทุกคน เมื่อปัญหาเด็กมีความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากภาวะสังคม หากรู้เท่าทันเด็กและเยาวชนก็จะช่วยส่งเสริมให้เขามีทักษะชีวิต วิชาการ และวิชาชีพ ได้

“เมื่อเด็กก้าวพลาด เราสร้างเขา เราออกแบบโอกาสให้กับเขาดี ๆ เขาเรียนรู้ผ่านกระบวนการอะไรต่าง ๆ เขาก้าวพลาดเรากำลังให้เขาก้าวถูก แต่พอออกจากสถานพินิจฯ เราจะให้เขาก้าวต่อไปอย่างไร”

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ

ศ.สมพงษ์ บอกด้วยว่า กสศ. ไม่ได้มีบทบาทแค่สนับสนุนทุนเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งเงื่อนไข และการติดตามผล ซึ่งได้ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อจะให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้ไปต่อ

สำหรับกระบวนการนั้น มูลนิธิปัญญากัลป์ ขับเคลื่อนร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยมี กสศ. ร่วมสนับสนุนทุนให้พื้นที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ให้เกิดผู้อำนวยการรู้ ครูนักจัดการเรียนรู้ และเยาวชนนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

โดยกรมพินิจฯ มีภารกิจหลัก คือ การดูแล บำบัด แก้ไข ฟื้นฟู ให้การสงเคราะห์เด็กและเยาวชนที่ศาลเยาวชนและครอบครัวพิพากษาให้เข้าฝึกอบรม ซึ่งโครงการนี้มีพื้นที่ที่รับผิดชอบเยาวชนในพื้นที่อีสานใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, ยโสธร, อำนาจเจริญ, มุกดาหาร, นครพนม และ สกลนคร

เมื่อเข้าศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนแล้ว มีระยะแรกรับ ด้วยกิจกรรมบำบัดแก้ไขฟื้นฟู และระยะฝึกอบรม ซึ่งมีทั้งการศึกษาสายสามัญอย่าง กศน., ศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโก, อุดมศึกษา รวมทั้งการฝึกวิชาชีพ เช่น ช่างเชื่อมโลหะ, ช่างไม้, ช่างก่อสร้าง, ช่างไฟฟ้า, ดนตรี, ช่างศิลปหัตถกรรม, ช่างตัดผม, เกษตรกรรม และ การช่างสตรี

ส่วนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น จะมีหลักสูตร ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์, การทำเบเกอรี่, ช่างตัดเย็บ, การนวดเพื่อสุขภาพ, การแปรรูปสมุนไพร และคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างอาชีพ

ขณะที่ระยะเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เยาวชนที่เหลือเวลาฝึกอบรมไม่เกิน 6 เดือน จะได้รับการวางแผนการติดตามผลหลังการปล่อย ซึ่งครอบคลุมทั้งด้าน ครอบครัว, การคบเพื่อน, การใช้เวลาว่าง นอกจากนี้ยังจะติดตามภายหลังการปล่อยอีก 1 ปีด้วย โดยจะติดตามจากหลายฝ่ายทั้ง มูลนิธปัญญากัลป์ กรมพินิจฯ และ กสศ. ที่จะมีเงื่อนไขในการประเมินผลหลังปล่อย

ตี้ อายุ 18 ปี เป็นหนึ่งในเยาวชนที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จ.อุบลราชธานี ซึ่งอีกไม่ถึง 10 วัน จะได้รับการปล่อย เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาไม่เคยได้เรียนหนังสือ เมื่อเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ เขาเลือกเรียนทั้ง กศน. และหน่วยฝึกช่างเชื่อม ตอนนี้เขาจบวุฒิการศึกษา ระดับ ป.6 โดยตั้งเป้าว่า หากได้ออกไปก็อยากเลือกเรียนต่อในโรงเรียนฝึกทหาร พร้อมกับนำทักษะที่เรียนไปต่อยอดในอนาคต

“เมื่อได้รับการศึกษาทำให้มุมมองของผมเปลี่ยนไป เพราะการศึกษาให้ทั้งโอกาส และความรู้ จากเคยเป็นเด็กเกเร ตอนนี้ผมพร้อมที่จะศึกษาต่อเพื่อมีอาชีพที่มั่นคง”

กำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันการศึกษาให้เกิดความเสมอภาค และเปิดกว้างสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน พร้อมขอบคุณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กสศ. และ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่ให้โอกาสเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมที่มีโอกาสทางการศึกษาน้อยลงกว่าคนอื่น ๆ ได้รับวุฒิบัตรเพื่อไปต่อยอดได้ ไม่ติดกับดักด้านการศึกษา

ขณะที่ ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ยืนยันถึงบทบาทหน้าที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมได้เลือกเรียนในสิ่งที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาแบบ กศน. ศูนย์การเรียนรู้ ปวส. หรือ ปวช. จนไปถึงพรีดีกรีในระดับปริญญาตรี ซึ่งมี 1,000 กว่าคน ที่เริ่มเข้ากระบวนการเรียน และอีก 400 กว่าคน ที่เริ่มจบการศึกษา พร้อมย้ำว่าอยากยุติความยากจนข้ามรุ่น เนื่องจากเยาวชนเหล่านี้เมื่อเรียนจบ ก็จะมีเส้นทางในการทำงาน มองเห็นอาชีพ และกลับไปดูแลครอบครัว พวกเขาก็จะไม่ใช่ภาระของครอบครัว ซึ่งเป็นหนทางในการยุติความยากจนต่อไป  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active