กทม. จัดกิจกรรม Big Day พื้นที่แสดงผลงานของเด็ก-เยาวชน จากโปรแกรมโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School) เล็งต่อยอดไอเดียสู่แนวทางพัฒนาการศึกษาไทย
วันนี้ (18 ก.พ.66) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดการแสดงนิทรรศการเผยแพร่ผลงาน (Big Day) ในโครงการเปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้ (Open Education) ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยกล่าวว่า การศึกษาเป็นนโยบายที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พูดตั้งแต่วันแรก และมีแผนชัดเจน หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ อาจเป็นคำที่ดูสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่หัวใจคือทำอย่างไรให้ทุกที่ ทุกเวลาสามารถเรียนรู้ได้ ต่างจากการศึกษาซึ่งต้องเตรียมให้เด็กเข้ามาเรียน แต่การเรียนรู้เปิดให้เด็กคิดและสามารถสร้างโปรเจกต์และสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เขาสนใจได้
จากการดูผลงานของนักเรียนโรงเรียนวันเสาร์ จะเห็นว่าน้อง ๆ มีความสนใจที่แตกต่างหลากหลาย บางคนก็นำปัญหาของชุมชนมาออกแบบแก้ไข เช่น การสร้างรูปแบบถังขยะเพื่อการแยกขยะ บางคนก็สนใจเรื่องของภาษา หุ่นยนต์ ศิลปะต่าง ๆ ถือเป็นการเปิดโลกให้กับสำนักการศึกษา กทม. ที่สามารถนำโครงการและความคิดความสนใจของเด็ก ๆ มาเป็นหัวข้อการศึกษาได้
“หัวใจสำคัญคือ กรุงเทพฯ เราอยากเดินหน้าต่อ มีคนพูดว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองธุรกิจ และเป็นเมืองนักออกแบบ แต่ยังไม่มีใครพูดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้หรือ learning city คิดว่าการที่มีแพลตฟอร์ม Saturday school โรงเรียนวันเสาร์ เป็นต้นทุนสำคัญที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ลองคิดภาพดูว่าวันเสาร์-อาทิตย์ หรือหลังเลิกเรียนทุก ๆ ที่ มีครูอาสา มีนักเรียนเข้าไปเรียน ซึ่งเป็นภาพที่เราอยากเติมเข้าไปให้ได้มากที่สุด ต้องขอบคุณทางมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์และครูอาสาที่ทำให้โครงการนี้มีการขยายไปอย่างต่อเนื่อง”
Saturday School Bangkok (SSBKK) เป็นโครงการที่สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ ร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ วิชาการและทักษะชีวิต ตามความสนใจของนักเรียน มีการเพิ่มอาสา เพิ่มนักเรียน และเพิ่มความสนุกในการพัฒนาทักษะผ่านห้องเรียนที่หลากหลายหลังเลิกเรียน เช่น การเรียนรู้และลงมือทำ สำรวจชุมชน มองหาหนทางและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพื่อสังคมที่ดีขึ้นด้วยไอเดียของน้อง ๆ เอง การฝึกฝนการสื่อสารภาษาอังกฤษและก้าวข้ามกำแพงทางภาษา ผ่านห้องเรียนออนไลน์จากอาสาสมัครหลากหลายเชื้อชาติ เป็นต้น
“การศึกษาไม่ได้จำกัดแค่ครู บางคนที่ไม่ได้จบครูอาจไม่มีโอกาสที่จะทำเรื่องการศึกษาเลย แต่มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้คนที่มีใจอยากมีส่วนร่วมกับการศึกษาและการเรียนรู้มาร่วมทำให้โรงเรียนวันเสาร์ได้ขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีการสร้างห้องเรียนมากกว่า 50 ห้องเรียน มีเด็กมาเรียนมากกว่า 1,000 คน และจะเติบโตขึ้นไปอีก”
BIG DAY ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีอีกงานหนึ่งที่เปิดพื้นที่แสดงความสามารถจากการเรียนรู้วิชานอกห้องเรียนของเยาวชนที่ทำกิจกรรมกับอาสาสมัครของมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ มีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสสะท้อนการเรียนรู้ที่ผ่านมาและนำสิ่งที่ได้พัฒนาระหว่างการเข้าร่วมโครงการมานำเสนอเป็นผลงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงถึงศักยภาพและความภูมิใจของเยาวชนเองแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าชมงานเกิดไอเดียเพื่อที่จะต่อยอดการพัฒนาด้านการศึกษาให้กับเยาวชนไทย