เปิดข้อค้นพบ งานวิจัยเกี่ยวกับ ครูยุคใหม่ ที่จำเป็นต้องปรับบทบาท กล้าตั้งคำถาม ให้สอดรับกับการพัฒนาเด็กยุคใหม่ และแก้ปัญหาในสังคม โจทย์ยากที่ต้องทำให้สำเร็จ
วันนี้ (18 ก.พ.66) Education Journey Forum เสวนาวิชาการด้านการศึกษา โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งได้จัดตั้ง คณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ (Strategic Agenda Team: SAT ด้านการศึกษาและการเรียนรู้) และขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้โครงการจัดการความรู้ และขับเคลื่อนระบบการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานวิจัยเชิงระบบที่เกี่ยวกับการศึกษาของประเทศไทย และให้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต กับ ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง โดยครั้งนี้เสวนาวิชาการ Education Journey Forum ครั้งที่ 6 จัดขึ้นใน หัวข้อ “ครูในฐานะนักขับเคลื่อนการเรียนรู้บนความแตกต่างหลากหลาย”
11 ปรากฎการณ์ระดับโลก กับการปรับตัวของ “ครูแห่งยุคสมัย”
โดยช่วงแรกบรรยายโดย ศ.เกียรติคุณ เจตนา นาควัชระ ในหัวข้อ “ข้อคิดว่าด้วยการเป็นครูแห่งยุคสมัย” ระบุว่า การศึกษาถูกทำให้เป็นสินค้า เป็นเรื่องที่น่าอับอาย เพราะการศึกษาเป็นเหมือนอุตสาหกรรม ที่ผลิตครูและเด็กจบอกมาเหมือน ๆ กัน จนล้นตลาดงาน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ และการสร้างประสบการณ์ ทั้งนี้พบ 11 ปรากฎการณ์ระดับโลก ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ และประสบการณ์ ประกอบด้วย
- ความรวดเร็วของชีวิตในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนมีเวลาในการคิด การไตร่ตรองน้อยลง
- เทคโนโลยีเปลี่ยนจากเครื่องมือไปเป็นวิถีชีวิต
- ความท่วมท้นของข้อมูล
- ความล่มสลายของสิ่งแวดล้อม
- ปัญญามนุษย์ไล่ไม่ทันปัญญาประดิษฐ์?
- พยาธิสภาพที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้
- สงครามในฐานะอัตวิบาตกรรม
- ความถดถอยของกลไกของรัฐ
- ความยากจนของคนส่วนใหญ่
- ความสับสนและซับซ้อนของกฎหมายและกฎระเบียบ : ความย่อหย่อนนการบังคับใช้
- มรณกรรมของวิทยาทาน : การศึกษาในคราบของการผลิตและจำหน่ายสินค้า
ศ.เกียรติคุณ เจตนา จึงเห็นว่า บทบาทของครูปัจจุบันจึงควรสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง เช่น ครูควรรับประสบการณ์อันหลากหลาย, ครุ่นคิด พินิจ นึก รวมมถึงกระบวนการลดความเร็ว, การตีความประสบการณ์, การเชื่อมโยงประสบการณ์, ทวิวัจน์ (dialogue) ในฐานะกลไกในการเสริมสร้างปัญญา, การถางทางไปสู่วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์, สุนทรียภาพแห่งการเรียนรู้
ข้อค้นพบระบบผลิตครู ต้องปรับตามยุคสมัย
ผศ.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา พบว่า คุณภาพของครู เปลี่ยนไปตามนโยบายของแต่ละยุค แต่ละสมัย เช่นเดียวกับปัจจุบันที่คุรุสภาเอง ก็ต้องปรับมาตรฐานการผลิตครู เช่น การจัดกลุ่มวิชา/สาระวิชา ที่ยังมีคำถามว่าควรจะบูรณาการ หรือ แยกส่วนมากกว่ากัน
เลขาธิการคุรุสภา ยังย้ำถึงความต้องการผลิตครู ที่พบว่าเวลานี้ทุกสถาบันต้องการผลิตครู ทุกคณะมีความต้องการจะผลิตครู โดยมองว่าในอนาคต ครูอาจจะล้นตลาด จึงจำเป็นต้องมีแผนงานรองรับประเด็นนี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน
ครูต้องมีความรู้เชิงวิพากษ์ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี
ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ครูทิว ครูโรงเรียนราชดำริ กทม. ตั้งคำถามถึงบทบาทของครู ทำไมถึงไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม และอุดมการณ์ความเป็นครู กับ นักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อกันอย่างไร ? โดยครูทิว ย้ำว่า หากต้องการให้เด็ก และสังคมเป็นอย่างไร ครูก็ต้องแสดงเจตจำนงค์ อุดมการณ์แบบนั้นด้วย ครูจะต้องไม่เป็นฟันเฟืองทำตามคำสั่ง โดยไม่ตั้งคำถามว่ามีผลประโยชน์ต่อเด็กหรือไม่
โดยเห็นว่า บทบาทครู ในฐานะนักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย ครูผู้กระทำการ (Teacher Agency) โดยหยิบยกเอางานกรอบแนวคิดระบบนิเวศ ครูผู้กระทำการของ Priestley, Biesta, Robinsom, (2013) แนวคิดนี้เน้นการสร้างเสริมประสบการณ์ให้ครู โดยเติมความรู้ ประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้สังคม เช่น การทำความเข้าใจเรียนรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ก่อนนำมาเป็นกรอบคิดในการประกอบการเรียนการสอน และ ครูนักเคลื่อนไหว (Teacher Activist) โดยมองว่าครูควรมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายอื่น เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันครูก็เป็นผู้ที่สามารถสร้าง และรื้อความเชื่อต่าง ๆ ได้ด้วย
ครูทิว ทิ้งท้ายด้วยว่า ไทยสามารถสร้างสภาวะแวดล้อม และระบบที่เอื้อต่อการปลดแอกตัวเองได้ ด้วยการสร้างวาทกรรมใหม่เกี่ยวกับครู ขณะที่ระบบการผลิตครู ก็ต้องเห็นที่ทางของตัวเอง เช่น เวลาที่ไทยมีปรากฎการณ์ทางสังคม คณะคุรุศาสตร์ เคยออกมาตั้งคำถามในประเด็นการศึกษาแทนศิษย์บ้างหรือไม่? ควรสร้างองค์ความรู้การศึกษาแนววิพากษ์ให้มากขึ้น
นักการศึกษา แนะสร้างระบบนิเวศผลิตครูใหม่
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ระบุว่า ระบบฝึกหัดครูกลายเป็นอนุระบบ ของระบบราชการ เพราะตั้งแต่อดีตการฝึกหัดครู ถูกกำหนดมาเพื่อสร้างชาติ ป้องกันการล่าอาณานิคม และเป็นสิ่งที่ติดมาจนถึงปัจจุบัน สังคมก็ยังทำให้ ครูกลายเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และขาดระบบหลักที่เข้ามาช่วยดูแล ขาดเอกภาพ และอยู่ภายใต้การกำหนดทิศทางจากระบบรัฐเป็นหลัก ทำให้ครูอยู่ในกรอบของ วิทยาฐานะ วิชาชีพครู ที่เป็นระบบมากขึ้น แต่อาจจะหลงลืมชีวิต คนตัวเล็กตัวน้อย ความรู้สึก ชีวิตของผู้เรียนอย่างแท้จริง
ขณะที่ วัฒนธรรมการสอนแบบวิพากษ์ในสังคมไทยเกิดขึ้นได้ยากมาก การมีเครือข่ายกลุ่มผู้ก่อการครูไม่ทำให้ครูแบบ ครูทิว เจ็บหนัก บอบช้ำจนเกินไป… ความเจ็บปวดจะกลายเป็นแรงบันดาลใจที่สู้ต่อไปได้ โดยมีข้อเสนอให้มีทั้งมุมวิพากษ์ และบทสนทนากับคนเห็นต่างได้
“ครู ถ้ายังอยู่ภายใต้กรอบคิดของรัฐ ไม่ได้เปิดช่องให้เคลื่อนไหวแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ครูก็จะอยู่กับวิทยาฐานะ ที่สุดครูจะเป็นกลไกที่ยิ่งใหญ่กับระบบรัฐ แต่ไม่รู้ร้อน รู้หนาว กับปัญหาระบบการศึกษา…”
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.
ขณะที่ รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ มาช่วยให้มุมมองในมิติการศึกษาในยุคปัจจุบันผ่านระบบ Zoom ระบุว่า ครูในระบบ และที่กำลังอยูในระบบการผลิต ทราบหรือไม่ว่า ยิ่งใหญ่มาก เพราะต้องสร้างพลเมือง ให้มี Compitency ที่โลกต้องการ ขณะที่ครูที่ถูกผลิตออกมา ไม่สามาถสู้สายที่จบมาโดยตรงได้ ระบบของการฟื้นฟูจิตวิญญาณความเป็นครู สายอื่นที่ไม่จบครูทำได้ง่ายกว่า เพราะไม่ได้ติดกรอบทางความคิด และไม่ได้มีเรื่องรกรุงรังติดตัว มาขวนขวายเอาที่หลัง เมื่อเผชิญกับปัญหาตรงหน้า เช่น การทำเรื่อง Child Study ร้อยทั้งร้อยคนที่จบจากสายครูไม่เข้าใจ และมองไม่เห็นเด็ก
“ครูในระบบ และครูที่กำลังอยู่ในระบบผลิต ทราบหรือไม่ว่า เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่เพราะต้องสร้างพลเมือง…
เราพบว่า การฟื้นฟูจิตวิญญาณความเป็นครู ทำได้ง่ายในสายที่ไม่จบครู เพราะครูยังติดกรอบทางความคิด เช่น การทำเรื่อง Child study ร้อยทั้งร้อยคนที่จบจากสายครูไม่เข้าใจ และมองไม่เห็นเด็ก…”
รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์
แม้ระบบจะเป็นเช่นนั้น แต่ครูยังมีความเป็นมนุษย์ และยังคงต่อสู้กับระบบ หากยังอยากรักษาน้ำใจ และพื้นที่ปลอดภัย เป็นเรื่องที่ต้องสร้างระบบนิเวศเพื่อการศึกษาในระบบใหญ่ รวมถึงระบบการผลิตครูด้วย เพื่อให้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน