‘พีมูฟ’ แถลงประณาม ย้ำ พ.ร.ฎ. 2 ฉบับ สะท้อนความเพิกเฉย ไร้ประสิทธิภาพ ของรัฐบาล ผลัก 4,000 กว่าชุมชน เป็นผู้เสียสิทธิ์ในเขตป่าอนุรักษ์ ด้าน เลขาฯ กฤษฎีกา ยันไม่ใช่การจำกัดสิทธิ์ แต่ช่วยบรรเทาความผิดทางอาญาตามกฎหมายเก่า
วันนี้ (12 พ.ย. 67) คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และร่าง พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ เพื่อช่วยเหลือเรื่องปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินให้กับประชาชนที่อยู่มาก่อนจะมีการออกกฎหมายเป็นการชั่วคราว โดยกำหนดเขตพื้นที่อยู่อาศัยหรือทำกินที่ชัดเจน และไม่ให้มีการขยายพื้นที่
อ่านเพิ่ม : สรุปผลการประชุม ครม. 12 พ.ย. 67
“ไม่ใช่การให้สิทธิ์ แต่เพื่อให้คนที่อยู่ในป่า สามารถทำกินดำรงชีพ และอยู่อาศัยได้ในระหว่างที่มีการพิสูจน์สิทธิ์”
คารม พลพรกลาง
ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกว่า การออก พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับ จะไม่ตัดสิทธิของประชาชนในการพิสูจน์สิทธิ์ การพิสูจน์สิทธิ์ยังต้องดำเนินการกันต่อไป ไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นการบรรเทาความผิดทางอาญาตามกฎหมายเก่า
“ตามกฎหมายเดิมใคร ก็ตามอยู่ในเขตป่าจะมีความผิดอาญาสถานเดียว ทำให้เกิดปัญหาโต้แย้งจากประชาชน จึงต้องมีการแก้กฎหมายเพื่ออยู่อาศัยและทำมาหากินในระหว่างพิสูจน์สิทธิ์ได้ โดยไม่มีความผิดทางอาญา สามารถอยู่ได้โดยชอบตามกฎหมาย ให้คนอยู่ในป่าได้อย่างมีความสุข”
ปกรณ์ นิลประพันธ์
เลขาฯ คณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำว่า หากภายหลังการพิสูจน์สิทธิ์แล้ว พบว่า ประชาชนอยู่อาศัยมาก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้จริง ภาครัฐก็จะต้องเพิกถอนที่ดินนั้น ออกจากการเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ แต่หากพิสูจน์สิทธิ์แล้ว พบว่า ประชาชนมาอยู่ทีหลัง ก็จะต้องออกจากพื้นที่
‘พีมูฟ’ ประณาม ครม. ไฟเขียวกฎหมายลูก ละเมิดสิทธิ์ชุมชนในเขตป่า
ด้าน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ซึ่งรวมตัวบริเวณประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล ได้เคลื่อนไหวคัดค้านการพิจารณานำร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พร้อมออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีเร่งผลักดันร่าง พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์ ละเมิดสิทธิประชาชน โดยระบุว่า เป็นความเพิกเฉยและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลที่นำโดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่า ในสายตารัฐบาลการสมประโยชน์กันทางการเมืองนั้นมีคุณค่ามากกว่าชีวิตประชาชน 4,000 กว่าชุมชน ประชาชน 3 แสนกว่าคน ที่ต้องกลายเป็นผู้เสียสิทธิ์ในป่าอนุรักษ์
“เราขอประณามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีรัฐมนตรีชื่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่เคยรับนโยบายโฉนดชุมชนของประชาชนไปดำเนินการ และคือพรรคการเมืองเดียวกันที่ดันร่างพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์ ที่ละเมิดสิทธิ์ประชาชนเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในวันนี้ ข้าราชการระดับกระทรวงและกรม ทั้งปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมอุทยานฯ พวกท่านไม่ได้กำลังดำเนินงานเพื่อนุรักษ์ป่าดังที่ท่านกล่าวอ้าง แต่ขณะนี้ท่านคือโจรปล้นที่ดินและมอบอาวุธให้เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ไล่เข่นฆ่าประชาชนโดยสร้างภาพตัวเองให้เป็นนักอนุรักษ์ ทั้งที่ไม่ใช่ความจริง”
แถลงการณ์ ยังอ้างว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์ทั้ง 2 ฉบับ จะส่งผลกระทบต่อที่ดินทำกินของประชาชนในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และจะมีผลบังคับใช้แน่นอนแล้วหลังวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 โดยกลุ่มพีมูฟ ยืนยัน จะออกมาปกป้อง ลุกขึ้นสู้ และเดินหน้าต่อเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
“เราจะมุ่งไปที่การเดินหน้าเขียนกฎหมายอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฉบับใหม่ ที่ลบล้างมรดกของรัฐบาล คสช. และแนวคิดอำนาจนิยมที่กรมอุทยานฯ มุ่งใช้ปกครองที่ดินประชาชน ให้กลายเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรอย่างแท้จริง”
จากนั้น กลุ่มพีมูฟ ได้แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เผาพวงหรีด-เผาหุ่นฟาง พรรคการเมืองที่สนับสนุนป่าอนุรักษ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด้วย
ย้ำกระทบ 4,000 กว่าชุมชน ชาวบ้านนับล้านคน
ขณะที่ ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ โพสต์ข้อความ ระบุ ว่า วันนี้คือ วันที่ประชาชนในเขตป่าต้องจดจำ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่พี่น้องประชาชนและชุมชนทั้งหมด 4,092 ชุมชน 1.8 ล้านคน (ที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อน)การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ (เขตอุทยานฯ เขตวนอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าฯ) โดยย้ำว่า เฉพาะชุมชนที่อยู่มาก่อนวันที่ประกาศ ซึ่งชุมชน เหล่านั้นไม่มีทางที่จะเป็นผู้บุกรุกอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่อยู่ สิ่งที่มีมาก่อน ไม่มีทางที่จะไปบุกรุกสิ่งที่มาที่หลังได้
พร้อมขอให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมายลำดับรอง หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า พระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ภายในอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ชี้ข้อกังวล ‘จำกัดสิทธิ์’ ไม่ใช่ ‘คุ้มครองสิทธิ์’ !
เช่นเดียวกับ ธนากร อัฐฏ์ประดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษา กมธ.ที่ดินฯ ให้ความเห็นเช่นกันว่า กรณีดังกล่าวนั้น พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการออก พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ว่ามีปัญหาทั้งในแง่กระบวนการและแง่เนื้อหา อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในที่ดินของประชาชนจำนวนมาก
โดยที่มาของการออก พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ ย้อนไปในยุครัฐบาล คสช. ที่มีการออก พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 รัฐในเวลานั้นอ้างว่าจะเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้า จากในอดีตที่หากประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด กฎหมายฉบับใหม่จะอนุญาตให้อยู่อาศัยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยมาตรา 64 ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 บัญญัติให้กำหนดรายละเอียดเรื่องนี้เป็นโครงการในกฎหมายลูก จึงนำมาสู่การร่าง พ.ร.ฎ. โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
แต่ที่ผ่านมาร่าง พ.ร.ฎ. นี้ถูกคัดค้านจากภาคประชาชนมาโดยตลอด ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ยังเร่งรัดจะออกกฎหมาย ก่อนหน้านี้แม้ได้แถลงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน แต่ยังไม่มีการตอบรับใด ๆ จึงจำเป็นต้องย้ำข้อกังวลอีกครั้ง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่
ข้อกังวลในแง่กระบวนการ มี 3 ปัญหาหลัก
- ปัญหาการขาดความชอบธรรมทางการเมือง เนื่องจาก พ.ร.ฎ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายลำดับรองของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ในยุครัฐบาล คสช. ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน เนื้อหาในกฎหมายไม่อาจแก้ปัญหาป่าทับคน-คนทับป่าได้
- ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ฎ. คือประชาชนที่อาศัยในเขตป่า แต่กรมอุทยานฯ กลับเปิดรับฟังความเห็นในวงจำกัด ทำให้ประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สามารถเข้าถึง รับรู้ข้อมูล หรือแสดงความเห็นได้อย่างเพียงพอ
- ปัญหาการขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดจะออก พ.ร.ฎ. ทั้งที่รายละเอียดของแผนที่แนบท้ายไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ขัดต่อมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และ มาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ที่ต่างบัญญัติว่าต้องจัดให้มีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการที่จะดำเนินการแนบท้ายไว้ เพื่อให้ทราบว่าการใช้บังคับกฎหมายในเรื่องนั้นครอบคลุมบริเวณพื้นที่ส่วนใดบ้าง
ข้อกังวลในแง่เนื้อหา โดยรวมกล่าวได้ว่าเป็นการออกกฎหมายที่มุ่งจำกัดสิทธิของประชาชน ไม่ใช่คุ้มครองสิทธิ์ของประชาชน เป็นการ “อนุญาต” ไม่ใช่การ “ให้สิทธิ์”
- วัตถุประสงค์ตามร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดว่าเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่อาศัยหรือทำกินเป็นการชั่วคราว ซึ่งไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง เพราะประชาชนในหลายพื้นที่อาศัยมาก่อนการประกาศเป็นป่าอนุรักษ์และมีการตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร
- ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดระยะเวลาในการอนุญาตอยู่อาศัย 20 ปี โดยไม่ได้บัญญัติว่าจะมีการอนุญาตต่อได้หรือไม่ด้วยเงื่อนไขอะไร หากยึดถือตามนี้หมายความว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชาชน 4,042 ชุมชนและพื้นที่ 4.2 ล้านไร่ จะต้องส่งคืนกรมอุทยานฯ ทั้งหมด
- ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดเนื้อที่ในการอนุญาต ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว ส่วนที่เกินต้องส่งมอบแก่กรมอุทยานฯ เพื่อนำไปฟื้นฟูเป็นป่า แม้การกำหนดเพดานจำนวนการถือครองที่ดินเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ต้องไม่มีเจตนาเพื่อยึดที่ดินที่ประชาชนใช้ดำรงชีพตามวิถีชีวิตปกติของคนในชุมชนท้องถิ่น และการกำหนดมาตรการใดๆ จะต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม
- ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดคุณสมบัติหลายประการที่จำกัดสิทธิประชาชน เช่น ผู้มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัย ต้องไม่มีที่ดินอื่นนอกเขตโครงการ เงื่อนไขนี้ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ มาก่อนหน่วยงานรัฐประกาศเป็นเขตป่า ต้องสูญเสียที่ดินซึ่งครอบครัวหรือบรรพบุรุษได้ทำมาหากินมานานแล้ว, ผู้มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัย ต้องไม่เคยกระทำความผิดในเขตป่าอนุรักษ์ เงื่อนไขนี้จะส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากที่เคยถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในยุครัฐบาล คสช. จากปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ต้องสูญเสียสิทธิ์, พี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ จะถูกตัดสิทธิการอยู่อาศัยทำกินในเขตป่าอนุรักษ์
ธนากร จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการออกกฎหมายนี้ไปก่อน และร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลรวมถึงพรรคประชาชนเสนอแก้ไขมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 เพื่อยกระดับสิทธิชุมชน นำไปสู่การแก้ปัญหาป่าทับคน – คนทับป่าได้อย่างแท้จริง นี่คือโอกาสที่รัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยจะได้พิสูจน์ว่าเป็นรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือจะเป็นรัฐบาลที่สืบทอดมรดกรัฐประหาร ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนได้