กมธ.พิจารณาร่าง กม.ชาติพันธุ์ นัดถก 2 ข้อกังวลหลังผลโหวตถอนร่างฯ

ปธ.กมธ. ยัน พร้อมฟังทุกเสียง ให้ร่างกฎหมายครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อคืนสิทธิ เสริมสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ก่อนส่งกลับสภาฯ พิจารณา วาระ 2-3   

ในการประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ… เมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นการประชุมนัดแรก หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติถอนร่าง พ.ร.บ.ฯ เพราะไม่สามารถหาข้อยุติในมาตรา 4 เรื่องกรอบอำนาจการดูแลหลักตามกฎหมาย ของฝ่ายเลขานุการ ว่าจะเป็นศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือ สำนักปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้ง มีข้อกังวลของสมาชิกที่มีข้อสงสัยและคำถามต่อกลไกสภาชาติพันธุ์

ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  เปิดเผยกับ The Active ว่า  ได้นัดประชุมเพื่อทบทวนในบางประเด็นที่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่าน ได้มีการทักท้วง เปิดประเด็นที่ยังเป็นข้อกังวลและชี้ให้ทางกรรมาธิการฯ ได้ทบทวนให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลายเป็นร่างที่ครบถ้วน 100% 

หลัก ๆ ประเด็นแรก คือเรื่องของความแตกต่างระหว่าง  สภา กับ สมัชชาชาติพันธุ์ ที่ยังมีเรื่องประเด็นข้อกังวลในเรื่องการทำงานของกลไกนี้  ซึ่งทางสมาชิกบางท่านชี้ให้เห็นว่า มีคำถามข้อกังวลทั้งเรื่องขนาด โครงสร้าง และงบประมาณ  ซึ่งเราก็ต้องรับฟัง และนำมาพูดคุยกัน

ประเด็นที่ 2 คือ บทบาทหน้าที่ของ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือ ศมส. ที่วางให้เป็นฝ่ายเลขาคณะกรรมการตามกฎหมายนี้  ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ 

“ต้องเข้าใจก่อนว่า ศมส.เป็นผู้ร่วมยกร่างกฎหมาย มีการขับเคลื่อนในเรื่องของชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นตัวหลักที่จะทำงานร่วมกับพี่น้องชาติพันธุ์ของเราทั่วประเทศ ทางกระทรวงวัฒนธรรมเอง ได้มอบหมายงานให้กับ ศมส. ได้ทำงานร่วมกับพ่อแม่พี่น้องชาติพันธุ์มาโดยตลอด ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ค่ะว่า หน่วยงานที่มีความเข้าใจและได้รับความเชื่อมั่นจากพี่น้องชาติพันธุ์ คือ ศมส.”

ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช 
ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ปธ.กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ดังนั้นในวันพุธ ที่ 9 ต.ค. 67 กรรมาธิการฯ จะเชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังมีประเด็นข้อห่วงใยในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อหารือรับฟังความเห็นต่อข้อกังวล หรือความห่วงใย และเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้งย้ำว่า พร้อมรับฟังทุกฝ่าย ฟังทุกคน เพื่อที่จะทำให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้  มีความครบถ้วน 100 %  เพื่อคืนสิทธิ หนุมเสริมสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ  

“ยืนยันว่า ไม่หนักใจ เพราะเข้าใจว่าสมาชิกทุกท่านมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง ทั้ง 500 ท่าน วิปรัฐบาลอาจจะมองตรงกันกับข้อสรุปของกรรมาธิการฯ แต่ว่าสมาชิกบางท่าน อาจจะยังมีบางประเด็นที่ยังสงสัย ซึ่งสามารถสอบถามได้ ตั้งประเด็นได้ ก็รับฟังทั้งหมดทุกอย่าง และเดี่ยวเอามา ทบทวนแก้ไข ก็พยายามทำให้มันครบถ้วนให้สมบูรณ์ที่สุด ต้องทำต่อให้เสร็จแน่นอน”  

ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active