สว. สายสื่อ เตรียมนำกรณี พล.อ. ประวิตร คุกคามนักข่าว ถกในสภาฯ

‘เทวฤทธิ์ มณีฉาย’ ย้ำ ผู้มีอำนาจ ต้องให้เกียรติ หยุดอ้างความสัมพันธ์ ความใกล้ชิด แสดงสถานะอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันต่อสื่อมวลชน เตรียมชงที่ประชุม สว. หาแนวทางปกป้องสิทธิ เสรีภาพสื่อ ขณะที่ ‘ผู้บริหารไทยพีบีเอส’ แถลงระบุ การกระทำไม่อาจยอมรับได้ เรียกร้อง พล.อ. ประวิตร แสดงความรับผิดชอบ

วันนี้ (16 ส.ค. 2567) กรณี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ แสดงพฤติกรรมคุกคามผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ที่สอบถามความเห็นว่า ได้ติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีวันนี้หรือไม่ ซึ่งล่าสุดสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ. ประวิตร แสดงความรับผิดชอบ พร้อมขอให้ให้เกียรติการทำหน้าที่ซึ่งกันและกันนั้น

ล่าสุด เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา กลุ่มสื่อสารมวลชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Tewarit Bus Maneechai ว่า เตรียมนำประเด็นนี้เข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมวุฒิสภา พร้อมเปิดเผยกับ The Active ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์คุกคามนักข่าว โดยเฉพาะ พล.อ. ประวิตร ที่ทำลักษณะนี้บ่อย ซึ่งในมุมหนึ่งก็เข้าใจวิธีการทำงานของนักข่าว มองว่าเป็นความสนิทของแหล่งข่าวกับนักข่าวที่หยอกล้อกันได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจทำให้ผู้มีอำนาจมองนักข่าวในภาพที่ต่างออกไป โดยเฉพาะภาพในทางสาธารณะ ถือเป็นการคุกคาม แม้ผู้มีอำนาจจะบอกว่าเอ็นดู แต่การกระทำดังกล่าวถือว่าคุกคามชัดเจน ไม่สมควรให้ภาพลักษณะนี้ปรากฏในทางสาธารณะ ต่อให้แหล่งข่าวที่เป็นผู้มีอำนาจจะอธิบายว่าทำไปด้วยความสนิทสนม เอ็นดูนักข่าวก็ตาม ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นถึงสถานะอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน

เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา

“ในฐานะสื่อมวลชน นักข่าวเองไม่ได้ทะนงตนมาจากไหน แต่เราทำหน้าที่ถามคำถามที่ประชาชนอยากรู้ เป็นคนนำความสงสัยต่าง ๆ มาถามแทนประชาชน มีคำถามจากประชาชนเป็นเบื้องหลัง แต่ในสถานะบทบาทพื้นที่สาธารณะ ยังไงก็เลี่ยงไม่ได้ที่ผู้มีอำนาจ หรือแหล่งข่าวต้องปฏิบัติตนอย่างเป็นทางการต่อสื่อ การกระทำแบบนี้ ทำให้ผู้อ่าน ผู้เฝ้ามอง ไม่มั่นใจ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวกับผู้มีอำนาจ บอกว่าใกล้ชิดกัน คนที่ถูกตั้งคำถาม คนแรกคือผู้มีอำนาจ และนักข่าวเองก็อาจถูกสังคมตั้งคำถามได้เช่นกัน ทั้งที่เป็นคนถูกละเมิด ว่ายอมให้ถูกกระทำได้อย่างไร แต่เรื่องนี้จะโทษนักข่าวไม่ได้ เพราะนักข่าวเองก็ทำอะไรยาก ด้วยสภาพการทำงานที่มีข้อจำกัด  นอกจากสมาคมนักข่าวฯ ที่ออกแลงการณ์มาแล้ว คิดว่าองค์กรต้นสังกัดไม่ควรยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก”

เทวฤทธิ์ มณีฉาย

เทวฤทธิ์ ระบุว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีกระบวนการตั้งกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ซึ่งในนั้นรวมถึงกิจการของสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย หากตั้งได้แล้ว ประเด็นนี้น่าจะถูกนำเสนอเข้าสู่การหารือในกรรมาธิการ เพื่อหาแนวทางทำให้ผู้มีอำนาจต้องตระหนักถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะข้าราชการผู้ใหญ่ นายทหาร จะปฏิบัติต่อสื่อมวลชนแบบลูกหลาน หรือ แบบพีอาร์องค์กรไม่ได้ ต้องปฏิบัติกับสื่อมวลชนอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน และมองสื่อมวลชนว่าเป็นตัวที่แบกคำถามของประชาชนมาเพื่อถามให้ผู้มีอำนาจช่วยหาทางออก นอกจากนั้นอาจจำเป็นต้องทำรายงานเพื่อสร้างการตระหนักรู้ไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้รู้สถานะการละเมิดสิทธิสื่อมวลชนด้วย

“แต่ที่ทำได้ได้ทัน ในวันอังคารหน้าผมจะนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระปรึกษาหารือในที่ประชุม สว. คงต้องเอาเข้าไปพูดในสภาฯ ให้ได้ ว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ ให้สมาชิก สว. เอง รับทราบ ไม่ใช่แค่การกระทำ แต่คำพูด คำจาต่าง ๆ ก็จำเป็นที่ผู้มีอำนาจ หรือแม้แต่เพื่อน สว.เอง ต้องตระหนักต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เราเองไม่ได้หวังเกียรติขนาดนั้น แต่ต้องไม่ทำให้เหตุการณ์คุกคามลักษณะนี้เกิดขึ้น จนไปถึงเหตุละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัว”

เทวฤทธิ์ มณีฉาย

ทางด้าน สมาพันธ์พนักงานไทยพีบีเอส ในฐานะที่เป็นผู้แทนของพนักงานไทยพีบีเอส ขอให้ผู้บริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) แสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวสู่สาธารณชนอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมไทย มีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง

ล่าสุด เมื่อเวลา 18.03 น. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ออกแถลงการณ์ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของผู้สื่อข่าวรายดังกล่าว สาระสำคัญระบุว่า การกระทำของ พล.อ. ประวิตร เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้และถือเป็นพฤติกรรมที่ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกปลอดภัยของผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์เดียวกันนี้พร้อมเรียกร้องให้ พล.อ. ประวิตร แสดงความรับผิดชอบ และขอให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกันหามาตรการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสื่อมวลชนต่อไป

ย้อนดูข้อมูล ความรุนแรงต่อสื่อมวลชน

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวประชาไท อ้างอิงข้อมูลจาก ม็อบเดตาไทยแลนด์ ที่รวบรวมข้อมูลการชุมนุมสาธารณะในประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 29 ต.ค. 2564 พบว่า มีการชุมนุมอย่างน้อย 1,291 ครั้ง และถูกสลายการชุมนุมอย่างน้อย 58 ครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมเหล่านี้ มีสื่อมวลชนถูกจับกุมอย่างน้อย 5 คน ถูกยิงกระสุนยางเท่าที่มีรายงานอย่างน้อย 14 คน ถูกทำร้ายร่างกายอย่างน้อย 3 คน และบาดเจ็บจากวัตถุคล้ายระเบิด พลุ หรือปะทัด อย่างน้อย 4 คน ผู้ถูกจับและได้รับบาดเจ็บทั้งหมดมีสัญลักษณ์แสดงตนเป็นสื่อมวลชน และส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บขณะยืนรวมกันเป็นกลุ่ม แยกจากผู้ชุมนุม

โดย ผศ.พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยมีข้อเสนอเพื่อยุติความรุนแรงต่อสื่อมวลชน ย้ำว่า รัฐบาล หน่วยงานรัฐ และองค์กรกำกับดูแล ควรบังคับใช้นโยบายและกฎหมายบนพื้นฐานการรับรองสิทธิในการสื่อสารของประชาชน ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรมีบทบาทในการแก้ไขกฎหมายที่จะคุกคามต่อเสรีภาพของประชาชน รับประกันการเป็นพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยในการนำเสนอข้อเท็จจริง อภิปราย ถกเถียง เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ควรมีแผนรับมือ ป้องกันเหตุรุนแรง และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน เมื่อเกิดความรุนแรงต่อสื่อมวลชน  


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active