ล่าสุดดูครบแล้ว 35 มาตรา แต่ยังต้องขอทบทวนหัวใจสำคัญ ประเด็น ‘พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์’ ให้ทำได้จริงตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม เดินหน้าสู่กฎหมายชาติพันธุ์ฉบับแรกของไทย
ภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร ไฟเขียวรับร่าง กฎหมายชาติพันธุ์รวม 5 ฉบับ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 67 และได้ตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ… ขึ้น และได้ประชุมนัดแรก กันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.ที่ผานมา
ทั้งนี้ตลอด 4 เดือนของการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ The Active ได้พูดคุยความคืบหน้ากับ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า การประชุมพิจารณาร่างวกฎหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างเข้มข้นต่อเนื่องทุกสัปดาห์ จนนัดล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นการประชุมครั้งที่ 21 หลายคนอาจมีคำถามว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติ ถือเป็นกฎหมายที่ใช้เวลาพิจารณาค่อนข้างนาน เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยในการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งประเทศ ที่มีอยู่ราว ๆ 60 กลุ่ม จึงต้องมีความละเอียด เพื่อพิจารณาให้รอบคอบ ครอบคลุมในทุกประเด็น
ประธานกรรมาธิการฯ บอกด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 35 มาตรา โดย กมธ. พิจารณาครบทุกมาตราแล้ว แต่ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยเฉพาะเนื้อหาในหมวด 5 เรื่อง พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มาตรา 27 ซึ่งมีความกังวลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ในเขตป่า บางส่วนจะส่งผลกระทบ กับ พ.ร.บ.ฉบับอื่น ๆ หรือไม่ ล่าสุดจึงต้องมีการประชุมเพื่อกลับมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง โดยขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ว่า ในหมวดของพื้นที่คุ้มครอง หรือว่าในหมวดอื่นจะไปกระทบกับกฎหมายอื่นหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องคิดในรายละเอียดในส่วนนี้ค่อนข้างมาก เพื่อการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้สามารถดำเนินการได้จริง และไม่ส่งผลกระทบตามมา
พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
หัวใจสำคัญสู่โอกาส-สิทธิความเท่าเทียม
อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะกรรมาธิการฯ สัดส่วนคณะรัฐมนตรี ย้ำว่า พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นหัวใจสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นมาตรการที่ใช้แก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเข้าถึงสิทธิในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญกับมีปัญหานี้จำนวนมาก และไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้ด้วยกลไกเดิมที่มี จึงคิดว่า มาตรการหนึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการกำหนดพื้นที่คุ้มครองฯ ที่จะเป็นทางออกในการจะแก้ปัญหา ซึ่งตนคิดว่า หลักการของพื้นที่คุ้มครอง จะต้องอธิบายและย้ำ ให้ทุกคนเข้าใจ
“เขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นมาตราการในการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขีอจำกัดในการเช้าถึงสิทธิในที่ดิน ที่มีหลักการชัดเจนว่า เป็นการกำหนดแนวเขตให้ชุมชนชาติพันธุ์ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมและอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมาอย่างต่อเนื่อง สามารถมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ โดยสามารถดำรงชีวิตดั้งเดิมและกินตามวิถีวัฒนธรรมโดยจะต้องไม่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทืสำคัญจะต้องไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพหรือเพิกถอนพื้นที่ เช่น ถ้าเป็นพื้นที่อุทยานอยู่แล้ว หรือว่าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอยู่แล้ว เราไม่ได้ไปเพิกถอน กันให้ชุมชนชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนแต่ดั้งเดิม ไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และใช้ประโยชน์ร่วมกันระดับชุมชนไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิเฉพาะบุคคล ”
อภินันท์ ธรรมเสนา
ที่สำคัญกว่านั้น อภินันท์ ระบุว่า การกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองฯ เป็นลักษณะของการพยายามหาทางออกในการแก้ปัญา ซึ่งคิดว่าที่ผ่านมา ไม่มีกลไกกฎหมายอะไร ไม่มีมาตรการอะไรที่จะแก้ปัญหานี้ได้ และก็สร้างความขัดแย้งต่อเนื่อง แต่ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ก็มีมาตรการนี้อยู่ในกฎหมาย จะเป็นทางออกที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ มีช่องทาง หรือมีกลไกนี้จัดการได้
“ผมคิดว่าปฏิบัติการ หรือการนำร่องประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติ ครม. 2 มิถุนายน และ 3 สิงหาคม 2553 ที่เราลงไปทดลองทำ แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐก็ยอมรับแนวคิดนี้ เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีช่องทางที่กฎหมายจะรับรองอย่างเป็นทางการ กฎหมายนี้จึงเป็นกลไกที่จะเปิดพื้นที่ให้มีการคุยกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ และก็ชุมชม ซึ่งผมคิดว่าอันนี้ คือทางออก และจะแก้ปัญหาทั้งของประชาชนเอง และแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ในพื้นที่และมีความรู้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีคุณภาพมากขึ้น ลดความขัดแย้ง“
อภินันท์ ธรรมเสนา
อภินันท์ บอกอีกว่า ปัจจุบันมีคดีเกี่ยวกับป่าไม้และชุมชนตั้ง 40,000 กว่าคดี ถ้ามีเรื่องนี้อาจจะเป็นช่องทางในการแก้ปัญหาให้เรื่องเหล่านี้ลดน้อยลง ซึ่งก็จะทำให้ไม่มีความขัดแย้ง การจัดการงบประมาณแผ่นดินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก
อีกประเด็นสำคัญ ของประโยชน์พื้นที่คุ้มครองฯ จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เกิดความมั่นใจ และมีความมั่นคงในชีวิต ว่าพวกเขาสามาถอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมได้ และพอมีความมั่นคง ความมั่นใจในชีวิตแล้ว เขาสามารถที่จะต่อยอดภูมิปัญญาของเขา ภูมิความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาได้ ขณะที่ทุกวันนี้อยู่แบบไม่มีความมั่นใจ ไม่รู้ว่าอีกกี่เดือน จะถูกไล่รื้อหรือไม่ แต่ถ้ามันมีกลไกแบบนี้ มีข้อตกลงชัดเจน หน่วยงานรัฐทำข้อตกลงชัดเจน กลุ่มชาติพันธุ์สามารถมั่นใจได้ว่า พวกเขาอยู่ได้ภายใต้กรอบที่ตกลงร่วมกัน เมื่อมีความชัดเจน พวกเขาจะสามารถใช้กลไกแบบนี้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาได้
ยันร่างกฎหมายฯ พิจารณาเสร็จ ส.ค.นี้
เดินหน้าสู่ ‘กฎหมายชาติพันธุ์’ ฉบับแรกของไทย
ขณะเดียวกัน ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยืนยันด้วยว่า การพิจารณาของกรรมาธิการฯ จะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ พร้อมย้ำว่า ร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยมีความเท่าเทียม เพราะต้องยอมรับว่า แม้ทุกคนในไทยจะมีสิทธิสวัสดิการทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริง กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางยังเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรได้รับ เพราะมีบางอย่างปิดกั้น มีบางอย่างไปขวางกั้น ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่ควรได้รับได้ ดังนั้นร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้เข้าถึงสิทธิและทรัพยากรต่าง ๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์สมควรได้รับ
รวมถึงการสร้างความเข้าใจ ลดอคติ การคุ้มครองจากการดูถูกเหยียดหยาม ดูหมิ่นเกลียดชังต่าง ๆ ด้วย และจะเป็นส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง อัตลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต โดยจะไม่มีการปิดกั้น ขัดขวางไม่ให้ใช้ภาษาถิ่น แต่จะให้ควบคู่ไปกับภาษากลาง อย่างเช่น ตอนนี้อย่างที่ได้พิจารณากันมา ในเรื่องการศึกษานั้น จะมีแกนหลักอยู่แล้วของกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะมีการเสริมการใช้ภาษาถิ่น รวมถึงการรักษาอัตลักษณ์ วิถีชีวิตประเพณีของชาติพันธุ์นั้น ๆ ควบคู่เข้าด้วย
“โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นก้าวแรกของกลไกการคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย แม้จะยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างที่อาจยังไม่สามารถระบุไว้ในกฎหมายฉบับนี้ได้ แต่ถือเป็นก้าวสำคัญ ที่จะทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ของเรามีตัวตน ในสายตาของคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน มีการส่งเสริมโดยยกความโดดเด่นของ ชาติพันธุ์เชื่อมโยงกับเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญชองรัฐบาล ให้เห็นคุณค่า วิถีชีวิต อัตลักษณ์การทำเกษตรกรรม รวมถึงประเพณี ภาษา การท่องเที่ยววิถีชุมชน อันนี้คือซอฟต์พาวเวอร์ชั้นดีที่จะส่งเสริม”
ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช
ประธานกรรมาธิการฯ ยังย้ำอีกว่า กมธ. จะพิจารณาร่างกฎหมายนี้ให้แล้วเสร็จ และร่วมลงมติยืนยันร่างฯ ภายใน ส.ค.นี้ ก่อนที่จะเดินหน้าเพื่อพิจารณาวาระ 2 ในสภาผู้แทนราษฏรต่อไป