9 นักกิจกรรม ‘คดีชุดมลายู’ ขออัยการสั่งไม่ฟ้อง ย้ำเจตนาบริสุทธิ์

ทนายความ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม หวังหักล้างข้อกล่าวหาจากฝ่ายความมั่นคง ยันจัดกิจกรรมชุมนุมชุดมลายู เป็นสิทธิ เปิดพื้นที่แสดงออก ห่วงรัฐใช้กฎหมายเล่นงาน ฟ้องปิดปาก กระทบเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ

วันนี้ (25 ก.ค. 67) นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 9 คน ที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีการจัดกิจกรรมชุมนุมชุดมลายู (Melayu Raya 2022) ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งจัดขึ้นในปี 2565 นัดรวมตัวกันที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ตามนัดส่งผู้ต้องหาในชั้นอัยการ

อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดเผยกับ The Active ว่า คดีนี้ตำรวจได้ทำสำนวนเสร็จแล้ว จึงนำส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาให้กับอัยการ จากนี้ก็อยู่กับการพิจารณาสำนวนในชั้นอัยการว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องติดตามต่อจากนี้

ทนายความ ระบุด้วยว่า วันนี้ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการในนามผู้ต้องหาให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยขอให้อัยการพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ นำไปสู่การหักล้างในประเด็นของผู้กล่าวหา เพื่อให้อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง หรือ อัยการอาจพิจารณาส่งสำนวนให้ตำรวจสอบเพิ่มเติม

“ตอนนี้ยังดูไม่ออกว่าคดีนี้จะออกมายังไง เราก็พยายามยื่นคำร้อง และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้อัยการนำไปหักล้างในสิ่งที่ทางหน่วยงานความมั่นคง ผู้กล่าวหาดำเนินคดีกับเรา โดยเฉพาะประเด็นการชุมนุมที่เน้นย้ำว่าทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง ขณะที่การรวมกลุ่มในลักษณะการส่งเสริมวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญก็เปิดช่อง ส่วนคำกล่าวบนเวที การร้องเพลง ที่ฝ่ายผู้กล่าวหามองว่ามีความสุ่มเสี่ยง แต่ทางผู้จัดก็ยืนยันว่า สิ่งที่พูดบนเวทีวันนั้นสามารถพูดได้”

อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู

ทนายความ ยังมองว่า คดีลักษณะนี้เป็นคดียุทธศาสตร์ที่ฝ่ายรัฐใช้กฎหมายมาเล่นงานนักกิจกรรมในชายแดนใต้ หรือที่เรียกว่า คดีฟ้องปิดปาก (Strategic lawsuit against public participation: SLAPP) นำไปสู่การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในพื้นที่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็ถูกชี้ให้เห็นกับอัยการได้เห็นในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมด้วย เพราะมองว่าหากรัฐใช้กฎหมายลักษณะนี้มากดดัน ปิดกั้นเสรีภาพ ก็อาจเป็นประเด็นที่กระทบต่อกระบวนการสันติภาพ เมื่อสิทธิเสรีภาพไม่สามารถพูดคุยได้ กระบวนการสันติภาพก็เดินต่อได้ยากเช่นกัน

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ ย้ำว่า การจัดกิจกรรมที่ผ่านมาไม่ผิดกฎหมาย การตีความของกิจกรรม และเนื้อหาอาจเกินเลยไป ทั้งที่คดีนี้เกี่ยวข้องกับการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์ การแต่งกายตามวัฒนธรรม ซึ่งมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ในอดีตก็เคยเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น จึงไม่อยากให้กรณีนี้กลายเป็นเงื่อนไขในพื้นที่ กระทบต่อกระบวนการสันติภาพ

“เรามั่นใจพยานที่ยื่นต่อพนักงานสอบสวน คิดว่าตรงนี้เป็นพยานหลักฐานให้อัยการพิจารณาชั่งน้ำหนัก ไปในทางให้ความเมตตากับผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 9 คน ยอมรับว่าการจัดกิจกรรมชุมนุม มีคนเยอะอาจมีบางเรื่องหมิ่นเหม่จริง แต่ที่ผ่านมาก็ยอมรับ และแก้ไข การจัดกิจกรรมครั้งต่อไปก็พยายามพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงตลอด ว่า ไม่มีเจตนาปลุกระดม ได้พบหลายฝ่ายก็มองว่ากิจกรรมมีประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังนั้นการพิจารณาคดีไม่ควรมองด้านนิติศาสตร์อย่างเดียว ทั้งนี้ได้ฝากหนังสือถึงพนักงานอัยการที่ปัตตานี และทางอัยการสูงสุด เพื่อขอความเป็นธรรม ขณะเดียวกันทาง UN ก็ส่งหนังสือส่งมาที่พนักงานอัยการห่วงกังวลต่อการดำเนินคดีที่ละเอียดอ่อนในพื้นที่ขัดแย้งแบบนี้ รัฐต้องมองอย่างละเอียดรอบด้านมากกว่านี้ ที่ผ่านมาก็จัดกันได้ จึงไม่อยากให้เกิดประเด็นเช่นนี้ เพราะจะกระทบต่อผู้คนที่อยากมีพื้นที่ทางการเมือง หากรัฐปิดกั้นก็อาจจูงใจไปทางอื่นได้”

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ

ขณะที่ มะยุ เจ๊ะนะ กรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ สภาผู้แทนราษฎร และอดีตผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี ในฐานะผู้จัดกิจกรรม MELAYU RAYA 2022 ยอมรับกับ The Active ว่า วันนี้ไม่มีอะไรมาก เมื่อทางตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้วก็ต้องส่งสำนวน ส่งตัวให้กับอัยการ ตนและนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาก็เข้าสู่กระบวนการ คาดว่าจากนี้คงต้องรอให้อัยการใช้เวลาพิจารณาต่ออีกสักระยะ จึงจะมีความเห็นว่าสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่ทางผู้ถูกกล่าวหาก็พยายามทำทุกทางเพื่อขอความเป็นธรรมว่าคดีนี้เป็นคดีที่ไม่ควรจะสั่งฟ้อง และมองว่าเป็นคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ที่สำคัญคือกรณีนี้เป็นคดียุทธศาตร์ในเชิงทางการเมือง ซึ่ง ณ ตอนนี้พื้นที่ทางการเมืองในชายแดนใต้ไม่ถูกเปิดให้แสดงออก หรือดำเนินการลักษณะนี้ หากใครออกมาเคลื่อนไหวก็จะถูกฟ้อง SLAPP เพื่อยับยั้งป้องปราม ไม่ให้มีการขับเคลื่อนดำเนินการกิจกรรม มะยุ ยอมรับด้วยว่า คดีนี้ถือกระทบโดยตรงต่อกระบวนการการพูดคุยสันติสุข ที่รัฐกำลังเดินหน้า เพราะหนึ่งใน 3 ข้อตกลงร่วมคือ การเปิดพื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะ เปิดโอกาสให้ผู้คนในพื้นที่ได้แสดงออกถึงอัตลักษณะ พร้อมย้ำเจตนารมณ์การเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มากที่สุด แต่สิ่งที่รัฐ และหน่วยงานความมั่นคงปฏิบัติอยู่นี้ ถือว่าสวนทางกับข้อตกลงร่วม

“ถ้าดำเนินคดีแบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ส่งผลดีต่อกระบวนการพูดคุย สวนทางกับความพยายามหาทางออกให้กับเหตุความไม่สงบบนโต๊ะเจรจา โดยความพยายามปิดกั้น ไม่ให้มีพื้นที่ทางการเมือง หรือถ้าจะมีก็มีแต่รูปแบบของฝ่ายรัฐอย่างเดียว ซึ่งคิดว่าไม่ใช่การนิยามตามข้อตกลงการเปิดพื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะอย่างถูกต้อง”

มะยุ เจ๊ะนะ

สอดคล้องกับ อานัส พงศ์ประเสริฐ กลุ่ม The Looker คาดหวังว่า คดีนี้อัยการจะไม่สั่งฟ้อง โดยถ้ามองในฐานะประชาชน ก็ไม่รู้จะหาความผิดตรงไหน เพราะเจตนาของกิจกรรม พยายามเปิดให้ผู้คนมีพื้นที่แสดงออก ให้อยู่ในพื้นที่ที่มีแสงสว่าง มีเจตนาดี ไม่ได้แสดงออกในที่มืด ซึ่งรัฐควรมองเห็น ควรเปิดพื้นที่แบบนี้ให้มากขึ้น เพื่อเป็นส่วนผลักดันกระบวนการสันติภาพให้เดินหน้าได้

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ภาคประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ร่วมกันจัดกิจกรรม MELAYU RAYA 2022 ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยกิจกรรมสำคัญ คือ การรวมกลุ่มกันของคนมุสลิมรุ่นใหม่จำนวนมาก พร้อมทั้งแต่งกายด้วยชุดมลายู สะท้อนถึงอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น จากนั้นเมื่อ วันที่ 5 มกราคม 2567 หรือ เวลาผ่านมาเกือบ 2 ปี ปรากฏว่า นักกิจกรรม นักต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว รวม 9 คน ได้รับหมายเรียกเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สายบุรี เกี่ยวกับคดีความมั่นคงอย่างน้อย 2 ข้อหา คือ ข้อหายุยง ปลุกปั่น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active