เชื่อมั่นข้อมูลพยาน แต่หากศาลไม่รับฟ้อง เตรียมเดินหน้าอุทธรณ์ต่อ เชื่อถ้าศาลรับฟ้อง เป็นโอกาสให้จำเลยได้แก้ต่างข้อกล่าวหา พิสูจน์ความจริงต่อหน้าศาล หลังถูกสังคมประณามหนัก
ภายหลัง ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดไต่สวนต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาว่า คดีมีมูลฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่ ในคดีที่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจาก เหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งมีโจทก์รวม 48 คน ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม และการขนย้ายชาวบ้าน ในปี 2547 จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านเสียชีวิต 85 คน
โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะหนึ่งในทีมทนายความฝ่ายโจทก์ เปิดเผยกับ The Active ว่า การนัดไต่สวนของศาลครั้งที่ผ่านมา ได้นัดสืบพยานฝ่ายโจทย์ 2 ปาก เป็นญาติผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยในวันนัดไต่สวนดังกล่าว จำเลยทั้ง 9 คน ได้แต่งทนายมาครบถ้วน ขณะที่ทีมทนายฝ่ายโจทก์ได้แถลงพยานทั้งหมด ถือว่ากระบวนไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลจึงนัดฟังคำสั่ง หรือ คำพิพากษา ว่า คดีมีมูลหรือไม่ ในวันที่ 23 ส.ค.นี้
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เชื่อว่า กระบวนการตุลาการมีความพยายามช่วยให้เหตุการณ์นี้ได้มีการค้นหาความจริงร่วมกัน โดยมองว่าฝั่งจำเลยก็อยากจะพิสูจน์ตัวเองภายหลังตกเป็นจำเลยว่าเป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ขณะที่ฝ่ายโจทก์ก็มองว่าพวกเขาไม่ได้รับความธรรม นี่จึงเป็นโอกาสที่กระบวนการยุติธรรมจะเข้ามาช่วยให้เกิดการพิสูจน์ความจริง ว่า เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ตากใบจนทำให้มีคนตาย 85 คน มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
“คดีตากใบเป็นคดีแรกของประวัติศาสตร์ไทย ที่ทำให้เห็นว่าการปราบปรามการชุมนุมได้ถูกติดตามมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถดำเนินการจนทำให้เกิดการฟ้องคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ในคดีสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ขณะที่ อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความฝ่ายโจทก์ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความุสลิม ยอมรับว่า การไต่สวนขั้นต้นในฐานะทนายความรู้สึกพึงพอใจในส่วนของพยาน การไต่สวนพยานที่เป็นญาติของผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บถือเป็นข้อมูลที่ชี้ให้ศาลได้เห็นแล้วว่า มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นจริง ทั้งการใช้กำลัง ใช้อาวุธปืนเข้าสลายการชุมนุมประชาชน มีการลำเลียงชาวบ้านที่ถูกคุมตัวจาก สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จนเป็นเหตุให้มีเสียชีวิตจริง รวมทั้งการกระทำของผู้บังคับบัญชาในส่วนจำเลยที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ทำให้เชื่อว่าข้อมูลต่าง ๆ สามารถสื่อให้เห็นได้ว่า คดีลักษณะนี้พอที่จะมีมูล และพอที่จะให้ศาลรับฟ้องเป็นคดีได้
ทั้งนี้ทนายความ ยังได้ประเมินแนวทางของคดี ภายหลังในวันที่ศาลนัดฟังคำสั่ง 23 ส.ค. 67 เอาไว้ดั้งนี้
- หากศาลมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูล และพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยังมีสิทธิ์อุทธรณ์ ฎีกาได้
- หากศาลมีคำสั่งคดีมีมูล ศาลก็จะประทับรับฟ้อง และก็จะมีขั้นตอนในการออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาล หากจำเลยไม่มาในวันนัด ศาลก็จะมีการออกหมายจับ ผู้ทำหน้าที่จับกุมก็จะเป็นตำรวจในการติดตามจำเลยมาศาลตามนัด ให้ทันวันที่ 25 ต.ค. 67 ตามกำหนดอายุความ 20 ปี
- หากจำเลยมาศาลได้เพียงแค่บางคน หรือตำรวจนำตัวมาได้เพียงบางคน ก่อนหมดอายุความ (25 ต.ค. 67) ก็จะยังเป็นคดีความได้ กล่าวคือ ต้องนำจำเลยมาศาล เพียงคนเดียวอายุความก็สะดุดหยุดลง
“หากศาลชี้ว่าคดีมีมูล และรับฟ้องจริง ๆ ก็อยากให้จำเลยได้มาแก้ต่างให้กับข้อกล่าวหาที่ตัวเองได้รับ ขอให้จำเลยมาศาล เพื่อลบคำครหาต่าง ๆ เพราะตอนนี้ศาลยังไม่คำพิพากษา แต่จำเลยก็ถูกประณามอยู่ตลอด จึงเป็นโอกาสที่จำเลยจะได้พิสูจน์ความจริงต่อหน้าศาลว่าไม่ได้สั่งการ หรือกระทำจนเกินกว่าเหตุ สังคมก็จะได้รับรู้ด้วย”
อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู
สำหรับคดีนี้ครอบครัวผู้เสียชีวิต และขาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 จำนวน 48 คน ได้ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ประกอบด้วย
- จำเลยที่ 1 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
- จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4
- จำเลยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการ พล. ร. 5
- จำเลยที่ 4 อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
- จำเลยที่ 5 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
- จำเลยที่ 6 อดีตผู้กำกับ สภ.ตากใบ
- จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับ สภ.ตากใบ
- จำเลยที่ 8 อดีตรอง ผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- จำเลยที่ 9 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมาน หรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ 289 (5) ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310