ศาลนราธิวาส นัดไต่สวนพยาน ‘คดีตากใบ’ เพิ่ม 2 ปากวันนี้

ทนายขอสังคมร่วมกันจับตา การค้นหาความจริงเหตุการณ์ตากใบ หวังกระบวนการยุติธรรม นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ยุติวัฒนธรรมเจ้าหน้าที่รัฐลอยนวล พ้นผิด

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 67 ภายหลัง ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดไต่สวนมูลฟ้องเพื่อพิจารณาว่าคดีมีมูลฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่ ในคดีที่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจาก เหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยมีโจทก์รวม 48 คน ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม และการขนย้ายชาวบ้าน ในปี 2547 นั้น

ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ
ติดตามการไต่สวนนัดแรกของศาลจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดเผยข้อมูลว่า จำเลย 4 คน แต่งทนายความส่วนตัวเป็นตัวแทนมาศาล แต่จำเลยอีก 5 คน ไม่ได้แต่งทนายความมา แม้จะขอให้พนักงานอัยการมาว่าความให้ โดยพนักงานอัยการได้แถลงต่อศาลขอให้เลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้อง แต่เนื่องจากไม่มีใบแต่งทนายความจึงยังไม่สามารถแต่งเข้าเป็นตัวแทนได้ และจะมาขอเลื่อนการพิจารณาคดีไม่ได้ ศาลให้สืบพยานต่อโดยไม่เลื่อนการพิจารณา

ทั้งนี้ทนายความโจทก์ ได้เสนอพยาน 3 ปาก เพื่อให้ศาลไต่สวนมูลฟ้อง พยานปากแรกเป็นทนายความที่ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความใ ห้ช่วยเหลือคดีชาวบ้านตากใบตั้งแต่ ปี 2548 และให้ความช่วยเหลือตลอดมา การไต่สวนได้ดำเนินไปตลอดช่วงบ่าย จนเสร็จสิ้นในเวลา 17.00 น. ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งนัดไต่สวนพยานอีก 2 ปากที่เหลือในวันนี้ (25 มิ.ย. 67) โดยพยานทั้งสองเป็นผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อ ปี 2547 หลังจากการไต่สวนพยานทุกปากเสร็จสิ้น ศาลจะมีคำสั่งว่าจะรับฟ้องเป็นคดีอาญาต่อไปหรือไม่

สำหรับอัยการจังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับคำร้องขอจากจำเลยที่ 4-8 ให้มาเป็นทนายแก้ต่างให้ ได้ขอศาลเลื่อนการพิจารณา อ้างเหตุผลว่า อัยการสูงสุดเพิ่งได้รับสำนวนคดีในเหตุเดียวกันจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด ทำให้ยังไม่ทราบคำสั่งจะใช้เวลานานเท่าใด ถ้าหากอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ก็ไม่อาจมาทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างให้กับจำเลยในคดีได้ ทนายโจทก์ร่วมกันคัดค้านการเลื่อนการพิจารณาไต่สวนไปเพราะคดีล่าช้า เกือบหมดอายุความ จำเลยรับหมายโดยชอบ มีสิทธิที่จะแต่งทนายความมาถามค้าน ศาลจึงวินิจฉัยให้ไต่สวนคดีไม่เลื่อนนัด

เหตุการณ์ชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 ตัวแทนผู้เสียชีวิตและผู้เสียหาย จึงได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเป็นคดีอาญา โดยมีจำนวนโจทก์รวม 48 คน ลำดับที่ 1-34 เป็นผู้ที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนทันทีที่หน้าโรงพักตากใบ 2 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน รวม3 คน และที่เสียชีวิตจากการขนย้ายรวม 31 คน ลำดับที่ 35-48 เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ

โจทก์ทั้ง 48 คน ได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4, จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4, จำเลยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการ พล. ร. 5, จำเลยที่ 4 อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า, จำเลยที่ 5 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, จำเลยที่ 6 อดีตผู้กำกับ สภอ.ตากใบ, จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับ สภอ.ตากใบ, จำเลยที่ 8 รองผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย, และจำเลยที่ 9 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

เหตุการณ์ชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547

โดยจำเลยทั้ง 9 คน ถูกชาวบ้านฟ้องในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ289 (5) ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310

สำหรับการฟ้องร้องคดีอาญาเหตุการณ์ตากใบในครั้งนี้ เกิดจากความพยายามของกลุ่มผู้เสียหาย ครอบครัวผู้เสียชีวิต กลุ่มทนายความและชาวบ้าน ที่ต้องการให้เกิดการค้นหาความจริงและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหตุการณ์ตากใบเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลอย่างมากต่อปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ ขอให้สังคมและประชาชนมีส่วนร่วมติดตามความคืบหน้า และผลของนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีตากใบต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะสิทธิในการรู้ความจริง (Rights to Truth) ได้รับความยุติธรรม สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษต่อไป และยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในเจ้าหน้าที่รัฐที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเช่นนี้กับบุคคลใดได้อีก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active