ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีชาวบ้าน 48 คน ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมาน ทารุณโหดร้าย ‘มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม’ เชื่อศาลที่พึ่งสุดท้าย หวังรับฟ้องคดี เอาคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
วันนี้ (24 มิ.ย. 67) เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อพิจารณาว่าคดีมีมูลฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่ ในคดีที่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจาก เหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยมีโจทก์รวม 48 คน ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม และการขนย้ายชาวบ้าน ในปี 2547 ประกอบด้วย
- จำเลยที่ 1 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
- จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4
- จำเลยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการ พล. ร. 5
- จำเลยที่ 4 อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
- จำเลยที่ 5 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
- จำเลยที่ 6 อดีตผู้กำกับ สภ.ตากใบ
- จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับ สภ.ตากใบ
- จำเลยที่ 8 อดีตรอง ผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- จำเลยที่ 9 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมาน หรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ 289 (5) ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310
ข้อมูลจาก มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุว่า นับจากวันที่ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ทีมทนายได้ขอหมายศาลเพื่อเรียกพยานเอกสารจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ หลายฉบับ และเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ทีมทนายได้ส่งหมายศาลจังหวัดนราธิวาส 5 หมาย ระบุขอเอกสาร คำสั่ง และรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ตากใบ หลายฉบับ ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หมายดังกล่าว ระบุให้จัดการส่งเอกสาร ตามหมายไปยังศาลจังหวัดนราธิวาส ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2567 เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป แม้ต่อมาจะได้รับทราบว่าเอกสารราชการที่เก่าเก็บเกือบ 20 ปี อาจส่งมาไม่ถึงศาลในวันไต่สวนก็ตาม แต่เอกสารบางส่วนสามารถค้นหาได้ทางอินเทอร์เน็ต
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยังตั้งข้อสงสัย ว่า เหตุใดตำรวจ ภาค 9 ส่งสำนวนสั่งไม่ฟ้องในสำนวนการสอบสวนกรณีการวิสามัญฆาตกรรม ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 กรณีเหตุการณ์ตากใบ โดยมีความเห็นในหนังสือส่งถึงอัยการสูงสุดว่า เป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย ทีมทนายจึงได้ขอหมายศาลเรียกสำนวนทั้ง 2 สำนวน คือ สำนวนชันสูตรพลิกศพ 4 แฟ้ม และสำนวนสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรม 4 แฟ้ม เพื่อนำเอกสารสำคัญเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้อง
แต่ต่อมา ในวันที่ 20 มิถุนายน 2567 จำเลยที่ 1 และ 9 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น โดยจำเลยที่ 3 ยื่นคำแถลงข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้คำฟ้องของโจทก์ทั้ง 48 ไม่มีมูล อีกทั้ง จำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ในชั้นไต่สวน
ขณะที่ อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ตัวแทนทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดเผยกับ The Active ว่า ทีมทนายได้จัดเตรียมความพร้อมการนัดไต่สวนนัดแรกของศาลอย่างเต็มที่ โดยชั้นของการไต่สวนในวันนี้ ต้องการแสดงให้ศาลเห็นว่า คดีนี้มีมูล โดยจำเลยทั้ง 9 คน เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจริง เพื่อให้ศาลรับฟ้อง ซึ่งได้รับสัญญาณว่าศาลเข้มงวดอย่างมาก ไม่ให้เลื่อนคดีอีก อย่างไรก็ตามหากศาลรับฟ้อง ก็จะออกหมายเรียกจำเลยทั้ง 9 คน มารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป จึงขอให้สังคมติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด
“อย่างที่ทราบกันอีกประมาณ 4 เดือนจากนี้ คดีตากใบจะหมดอายุความแล้ว ดังนั้นในทางกฎหมายผู้เสียหายมีสิทธิ์ร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือฟ้องร้องด้วยตัวเองในอายุความ เพราะเราไม่เชื่อในกระบวนการที่ผ่านมา วันนี้ที่ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ก็อยู่ที่ว่าศาลจะรับฟ้องหรือไม่ เพราะถ้าดูจากสัญญาณที่ผ่านมา คาดหวังว่าศาลจะพยายามไต่สวนให้สั้นที่สุด เพื่อให้ทันมีคำสั่งในอายุความ และให้จำเลยมารับทราบข้อกล่าวหา ก็สู้คดีกันไป ถ้าจำเลยหนีอายุความก็จะหยุด ไล่จับตัวมาให้ได้ ถือว่าศาลออกหมายจับแล้ว”
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
อาดิลัน ยืนยันว่า การฟ้องร้องของชาวบ้านครั้งนี้ ไม่ได้หวังการเยียวยาที่เป็นตัวเงิน เพราะได้รับกันครบแล้ว แต่คาดหวังให้คนที่กระทำได้รับโทษ นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คนที่ต้องรับผิดต่อการกระทำ การก่อเหตุ คนรับผิดชอบคือใคร ที่ผ่านมายังไม่มีใครให้คำตอบได้เลย ถือว่าย้อนแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมีคนตายเกือบร้อยคน แต่ไม่มีคนรับผิดชอบ ถือว่าขัดกับความจริง
“เราเห็นแล้วว่า ที่ผ่านมารัฐพยายามบิดเบือนใช้กฎหมายโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ปี 2552 พอมา ปี 2567 ก็มาสั่งไม่ฟ้องคดีอีก เราก็ยังหวังว่า ศาลยังเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้กับประชาชนในการอำนวยความยุติธรรม คาดหวังให้ศาลท่านรับฟ้องคดีนี้ เอาจำเลยมารับทราบข้อกล่าวหา ให้ศาลได้พิสูจน์เองว่าพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เป็นตามที่ฟ้องหรือไม่ ว่า เจ้าหน้าที่เล็งเห็นผลในสิ่งที่ทำ เอาคนมานอนซ้อนกันเป็นเวลานาน เล็งเห็นได้ว่าอาจต้องตายได้ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่โหดร้ายตามที่ฟ้องร้อง เราหวังว่าศาลจะเห็น”
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
สำหรับความคืบหน้าของคดีนี้ The Active จะติดตามมานำเสนอต่อไป