Sex Worker บุก พม. ขีดเส้น 3 เดือน กม.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ต้องเข้าสภาฯ

ชี้ แม้ผ่านรับฟังความคิดเห็นแล้วแต่ถูกแช่แข็ง เหตุกังวลด้านสถาบันครอบครัว และเยาวชน หวังนายกฯ จริงใจหลังประกาศสนับสนุนในไพรด์พาเหรด

วันนี้ (13 มิ.ย.67) ที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตัวแทนพนักงานบริการ (Sex Worker) จาก จ.เชียงใหม่, อุดรธานี, กรุงเทพมหานคร และ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ร่วมกันติดตาม ทวงถามร่าง พ.ร.บ.มาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ พ.ศ. …. เนื่องจากร่างฯ ฉบับนี้เป็นกฎหมายใหม่ที่ผ่านการจัดทํา และรับฟังความคิดเห็นมานานกว่า 5 ปีทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของภาครัฐ พนักงานบริการ และสถานบริการ

ตัวแทน Sex Worker ยังร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ด้านหน้ากระทรวงฯ ด้วยการผูกเชือกลากตุ๊กตาเต่า แสดงออกถึงความเชื่องช้าในการออกกฎหมาย และราดน้ำแข็งใส่ร่างกฎหมายฯ สะท้อนถึงการที่กระทรวง พม. ในฐานะเจ้าภาพเป็นผู้แช่แข็งกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ให้ไปข้างหน้า

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.มาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ พ.ศ. …. กล่าวว่า ร่างฯ ฉบับนี้ผ่านการจัดทํา และรับฟังความคิดเห็นมานานกว่า 5 ปีทั่วประเทศ โดยมีกระทรวง พม. เป็นเจ้าภาพ ทั้งในส่วนของภาครัฐ พนักงานบริการ และสถานบริการ

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์

ตามไทม์ไลน์เดิมในเดือน พ.ย. 66 ร่างฯ ฉบับนี้จะต้องอยู่บนโต๊ะของ รมว.พม. และยื่นเข้าสู่ ครม. ในเดือน ธ.ค. 66 แต่กลับหยุดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย โดยได้รับคําตอบว่า พม. ขอเวลาศึกษา และรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 3 เดือน แต่พบว่าตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นต้นมา กลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

“เราทราบมาว่าทาง พม. แสดงความห่วงกังวลเรื่องสถาบันครอบครัว และการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ แต่เราได้ชี้แจงมาตลอดการรับฟังการคิดเห็นในหลาย ๆ ครั้ง ว่าเราเป็นเหยื่อของอคติเหล่านี้ และมีกฎหมายอื่น ๆ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่กลับปล่อยให้คนในอาชีพนี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง ถูกเอาเปรียบต่อไป”

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล

ขณะที่ตัวแทนกลุ่ม Sex Worker บอกว่า ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และตัวแทน พม. ต่างพากันไปร่วมงานไพรด์ที่จัดขึ้นใน กทม. และ จ.เชียงใหม่ ยืนยันที่จะผลักดันให้งานบริการทางเพศถูกกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติทั้ง ๆ ที่มีร่างฯ ดังกล่าวอยู่ตรงหน้าแต่กลับไม่ทำอะไร จึงอยากเห็นความจริงใจ และให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

ด้าน วรรณภา สุขคง รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นตัวแทนรับหนังสือ รับปากนำประเด็นนี้เสนอต่ออธิบดี สค. เพื่อนำเข้าที่ประชุมกระทรวง พม. ขณะที่กลุ่มพนักงานงานบริการ ได้ขีดเส้น 3 เดือนที่กระทรวง พม. ต้องเสนอร่างฯ ฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ หากล่าช้าเครือข่ายจะกลับมาทวงถามอีกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active