นายกฯ สั่ง ก.ยุติธรรม สอบปม ‘บุ้ง’ เสียชีวิต

ระบุข้อเรียกร้องให้สิทธิประกันตัวนักเคลื่อนไหว อยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่ ‘นักวิชาการด้านกฎหมาย’ ย้อนถาม ทำไม ? แค่พูด แสดงออก ถึงไม่ได้สิทธิประกันตัว แนะรัฐบาลทบทวนใช้มาตรการทางกฎหมายจากเบาไปหาหนัก เดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

วันนี้ (15 พ.ค. 67) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุถึงการเสียชีวิตของ บุ้ง – เนติพร เสน่ห์สังคม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจ เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดการสูญเสีย จึงขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของบุ้งด้วย

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้สั่งการไปยังกระทรวงยุติธรรมให้สืบสวนสอบสวนในแง่รายละเอียดการเสียชีวิต และใช้นิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์ด้วย ซึ่งในวันนี้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม มีแถลงข่าวเรื่องนี้ ขอให้ฟังข้อมูลรายละเอียดของทางกรมราชทัณฑ์

ส่วนข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัว หรือให้สิทธิการประกันตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เหลืออยู่ในเรือนจำนั้น นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ยินเสียงเรียกร้องมาแล้ว น่าจะกำลังพิจารณาและพูดคุยกันในวงการยุติธรรม ทั้งนี้ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคน

ส่วนกรณีการทวงถามถึงความคืบหน้านโยบายพรรคเพื่อไทยในประเด็นปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม – แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ปล่อยผู้ต้องโทษคดี 112 นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน

‘นักกฎหมาย’ ตั้งคำถาม ถึงเวลากระบวนการยุติธรรมปรับเปลี่ยนหรือยัง ?

ด้าน รศ.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีการเสียชีวิตของ ‘บุ้ง – เนติพร เสน่ห์สังคม’ นักกิจกรรมทางการเมือง วัย 28 ปี ซึ่งหัวใจหยุดเต้น หลังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการอดอาหาร 110 วัน โดยเชื่อว่าแม้กระทั่งกลุ่มคนที่สนับสนุนบุ้งเองก็พยายามโน้มน้าวให้ล้มเลิกการอดอาหารและรักษาชีวิตไว้ แต่ก็ไม่เป็นผล ซึ่งหมายความว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า ตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ ตัวเองถูกกระทํา แล้วก็พร้อมที่จะสละชีวิต
ซึ่งผลแบบนี้ ส่งผลอย่างอื่นด้วยกับระบบกฎหมาย ไม่ได้เป็นเรื่องของความไม่เป็นธรรม หรือเป็นปัญหาเฉพาะคนที่เสียชีวิต แต่ว่าสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมด้วย

ขณะที่ความผิดในลักษณะที่ไม่ได้มีการจับอาวุธ ไม่ได้มีการฆ่า ทําร้ายผู้อื่น รศ.มุนินทร์ จึงตั้งคำถามว่า เป็นเรื่องของการแสดงออก แสดงความคิดเห็น แต่นํามาสู่การไม่ให้ประกันตัวแบบยาว ๆ ได้อย่างไร นําไปสู่การอดอาหารประท้วงจนตายได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ในทางนิติศาสตร์แบบสากลการลงโทษต่าง ๆ ที่จะใช้ในกฎหมายยุติธรรม มีมาตรการเดียวทางเลือกเดียวในการจัดการกับกลุ่มคนพวกนี้ การไม่ให้ประกันตัว การลงโทษอย่างรุนแรง คิดว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ถูกต้อง บ่อนทําลายตัวระบบกฎหมายในภาพรวม

รศ.มุนินทร์ พงศาปาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในความผิดทั้งหลายที่เป็นฐานความผิดที่ไว้ซึ่งการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันหลักของชาติก็ยังมีความจําเป็นที่ต้องมี แต่ควรเป็นอาญาระดับไหน ควรมีการพูดคุยกัน หรือควรเป็นความผิดทางแพ่ง แต่กรณีที่มีคนตาย คิดว่าปล่อยไปเป็นตัวอย่าง ถามว่ามันได้ผลอย่างนั้นจริงไหม มันช่วยปกป้องสถาบันหลักของชาติจริงไหม หรือว่ามันจุดประเด็นคนอีกหลาย ๆ กลุ่มในสังคม ตั้งคําถามมากขึ้นไปอีก มันหยุดประเด็นให้ต่างชาติเขียนข่าว วิพากษ์วิจารณ์ ผลตรงนี้เกิดขึ้นไปไกลกว่าสิ่งที่เราต้องการจะเห็น”

รศ.มุนินทร์ พงศาปาน

นอกจากนี้ รศ.มุนินทร์ ยังสะท้อนให้เห็นว่า เวลานี้คนทำงานในกระบวนการยุติธรรมก็น่าเห็นใจ เพราะเชื่อว่าทำไปตามหน้าที่ แต่ว่ามาตรการที่กฎหมายเปิดช่องเอาไว้ เป็นมาตรการที่หนัก หากเป็นไปได้ควรมีการปรับปรุงและเปิดโอกาสให้คนทำงานสบายใจมากขึ้นในการใช้ดุลพินิจ

“เห็นใจคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าสิ่งที่เขาทำได้ คือใช้อํานาจตามกฎหมาย ใช้ดุลพินิจที่มีตามกฎหมายนั่นแหละ ถ้ากฎหมายมันถูกรีวิว ถูกปรับ มีออฟชั่นอื่น ๆ ที่สามารถเลือกใช้ได้ อาจจะทําให้ผู้พิพากษา รู้สึกมั่นใจที่จะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก แต่ตอนนี้ที่มีคือไปหนักเลย เพราะว่ามันอาจจะเป็นแนวทางต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมา มันก็ต้องไปปรับปรุงกระบวนการในส่วนนี้ ให้คนที่ใช้กฎหมายรู้สึกมั่นใจ”

รศ.มุนินทร์ พงศาปาน

แนะรัฐบาลเดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ขณะที่การพิจารณาเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ภาคการเมืองก็ยังมีการพูดคุยกันอยู่ แต่ยังคงติดปัญหาว่าจะเอามาตรา 112 เข้ามารวมใน พ.ร.บ.นี้หรือไม่ แต่การพิจารณาประเด็นการใช้กฎหมายจากเบาไปหาหนัก เห็นว่ารัฐบาลสามารถที่จะทำเรื่องนี้ได้เลยเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก เพราะว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล

“คนเหล่านี้กําลังได้รับโทษ หรือว่าอยู่ในกระบวนการที่ไม่ได้สัดส่วน เราควรให้โอกาสเขาไหม เพราะสิ่งที่เขาทํา เป็นเรื่องร้ายแรงในความรู้สึกของคนหลายคน แต่ตามมาตรฐานสากล การพูด การแสดงออก มันเป็นเรื่องสากล เรื่องความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ก็ถูกตั้งคําถาม เพราะฉะนั้นแล้วคิดว่าเรื่องมาตรการทางกฎหมายก็คงอาจจะต้องคิดกันใหม่”

รศ.มุนินทร์ พงศาปาน

กสม. จี้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีบุ้ง – หาแนวทางป้องกันเกิดเหตุซ้ำ

ขณะที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ แสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติของ บุ้ง เนติพร โดยตระหนักว่าไม่ควรมีใครเสียชีวิตในระหว่างถูกคุมขัง และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ที่ต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด

โดยหลักการดังกล่าวถือเป็นสิทธิมนุษยชนสากล ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี 

กสม. ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์การอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของนักกิจกรรม และผู้ต้องขังรายอื่น ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียใด ๆ ขึ้น ก่อนหน้านี้ กสม. ได้เคยเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่อดอาหารประท้วงบางราย และได้ประสานงานกับกรมราชทัณฑ์เพื่อขอให้ดูแลผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังเป็นเพียงผู้ต้องหาไม่ให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตจากการเรียกร้องสิทธิ   

กสม. จึงขอเรียกร้องให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร อย่างรอบด้าน และโปร่งใส รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องรีบเร่งหาแนวทางป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุสูญเสียอันกระทบต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายเช่นนี้อีก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศโดยเฉพาะในด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active