‘โคทม’ ยกกรณีบุ้ง สะท้อนความรุนแรง ‘กระบวนการยุติธรรม’

ชี้กระบวนการยุติธรรม ต้องปรับตัว กับประเด็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี จากกรณีความเห็นต่างทางความคิด แนะบทเรียนสังคม เคารพความเชื่อที่แตกต่าง ลดการยึดมั่นถือมั่น ไม่ปล่อยให้ความสูญเสียเป็นเรื่องตลก

ภายหลังกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง – เนติพร นักเคลื่อนไหวทางการเมือง The Active ใช้เครื่องมือ Zocial Eye เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ในวันที่ 14 พ.ค. 2567 ต่อประเด็นการเสียชีวิตของบุ้ง หลังถูกคุมขังมา 110 วัน และอดอาหารมา 109 วัน พบว่า โซเซียลฯ พูดถึงประเด็นการอดอาหารประท้วง, อาการ, การเสียชีวิต, พินัยกรรมของบุ้ง ประกอบด้วย

  1. บทสัมภาษณ์ของบุ้งก่อนที่จะเสียชีวิต

  2. พูดถึงโพสต์ต่าง ๆ บนโลกโซเชียลฯ ที่ผู้คนโพสต์ถึงบุ้ง เช่น หยก ธนลภย์ นักกิจกรรมทางการเมือง, พรรณิการ์ วาณิช คณะก้าวหน้า, รังสิมันต์ โรม สส. พรรคก้าวไกล

  3. ข้อเรียกร้องของบุ้ง ได้แก่ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ไม่ควรมีใครต้องติดคุก หรือไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง), ยุติการคุมขังผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง, รวมไปถึงเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมผู้ต้องขังทางการเมือง (โยงเข้ากับเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม)

  4. เปรียบเทียบมาตรฐานของราชทัณฑ์ ระหว่างกรณีผู้ต้องหาคดีการเมืองเด็กกับผู้ใหญ่อื่น ๆ

  5. รวมไปถึงมีการโพสต์ถึงบุ้งในด้านต่าง ๆ เช่น แสดงความเสียใจ, เศร้าใจกับการจากไป แม้อาจจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการของบุ้งก็ตาม, มีบางคนที่ยินดี สะใจกับการเสียชีวิตของบุ้ง ผ่านการคอมเมนต์, กดหัวเราะในโพสต์รายงานการเสียชีวิต, มีกระแสตอบกลับว่า คนที่สะใจกับการตายของบุ้ง ไม่ต่างจากคนที่สะใจกับการล้อมปราบคนเสื้อแดง, คนที่หัวเราะในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ได้มีความเป็นมนุษย์

  6. ยอมรับว่าบุ้งเคยทำเรื่องแย่ ๆ แต่ก็ไม่ควรมีใครโดนลงโทษจากคดีการเมืองจนเสียชีวิต

ส่วนยอด Engagement ต่อกรณีที่เกี่ยวข้องกับกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง สามารถแบ่งได้เป็นหลายประเด็น เช่น

  • “อดอาหาร” มียอด Engagement มากที่สุดที่ 112.5K พูดถึงบุ้ง เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง

  • “ตะวัน-แฟรงค์-หยก” มียอด Engagement  99K พูดถึงบุ้ง เขียนพินัยกรรม ยกทรัพย์สินให้หยก ธนลภย์ และพี่สาว, การบริจาคร่างกาย เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา รวมถึงโพสต์ของหยก ธนลภย์ “Respect มาก ๆ ที่ตั้งตรงอยู่ในหลักการ”

  • “ราชทัณฑ์” ยอด Engagement  90K โดยพูดถึงสถานการณ์บุ้ง หัวใจหยุดเต้น, กฤษฎางค์ นุจรัส ทนายความศูนย์ทนายความฯ ให้สัมภาษณ์ ตั้งคำถามถึงความเป็นมาตรฐานของราชทัณฑ์ไทย เปรียบเทียบกรณีเด็กที่โดนคดีการเมืองกับผู้ใหญ่บางคน ว่าได้รับการดูแลรักษาได้ดีเท่ากันหรือไม่

  • “พินัยกรรม” ยอด Engagement  87.6K โดยพูดถึง บุ้งเขียนพินัยกรรม ยกทรัพย์สินให้หยก ธนลภย์ และพี่สาว

  • “สิทธิประกันตัว” ยอด Engagement  67.2K พูดถึง โพสต์ของพรรณิการ์ วานิช คณะก้าวหน้า ว่า สิทธิประกันตัวเป็นของทุกคน คนเห็นต่างไม่สมควรตายในคุก และยังมีอีกหลายคนที่ยังอยู่ในคุก ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว, มีการพูดถึงการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เรื่องสิทธิประกันตัว ที่จะขอความร่วมมือศาล แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้า

  • “กระบวนการยุติธรรม” ยอด Engagement  52.1K พูดถึง โพสต์ของพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้เร่งพิจารณากระบวนการนิรโทษกรรม ฟื้นฟูความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมไทย, บทสัมภาษณ์ของบุ้ง ว่า “สิ่งที่บุ้งยอมแลกคืออย่างน้อยก็ให้เป็นตราประทับว่า ศาล ผู้พิพากษา และกระบวนการยุติธรรม ได้ฆ่าลูกหลานของตุลาการเสียเอง” และ “ไม่มีใครในประเทศนี้ปลอดภัยหรอก ถ้ากระบวนการยุติธรรมยังเป็นอย่างนี้”, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และจะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก

  • “ม.112” มียอด Engagement 37.6K พูดถึง บุ้ง ถูกดำเนินคดีในความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พูดถึงว่าบุ้งเป็นผู้ต้องขังคนที่ 2 ที่เสียชีวิตในระหว่างการถูกคุมขังในมาตรานี้ (คนแรกคือ อากง – อำพล ตั้งนพกุล)

  • “ไม่เห็นด้วย” มียอด Engagement 31.5K พูดถึงว่า แม้หลายคนจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการของบุ้ง แต่ก็นับถือหัวใจ แสดงความเสียใจ และไม่ควรมีใครตายแบบนี้ รวมไปถึงอนาถใจกับบางคนที่สะใจกับเรื่องนี้

  • “ยินดี – สะใจ” มียอด Engagement 15.4K โดยมีคนที่สะใจกับการตายของบุ้ง ว่าไม่ต่างจากกลุ่มคนที่สะใจตอนคนเสื้อแดงโดนล้อมปราบ, ไม่ควรยินดีกับการตายของคน แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล

เสียงสะท้อนจากโซเซียลฯ ในมุมมองของ รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปิดเผยกับ The Active โดยเชื่อว่า กรณีการเสียชีวิตของบุ้ง – เนติพร ได้ให้บทเรียนที่สำคัญแก่สังคม สิ่งแรกที่สังคมควรต้องเข้าใจให้ตรงกัน คือ ต้องเห็นชีวิตของเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ และทุกฝ่ายต้องพยายามไม่ให้เกิดเกิดกรณีการเสียชีวิตในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการต่อสู้ การเรียกร้องในประเด็นที่เกิดความเห็นต่างทางความคิด ด้วยสันติวิธี

“อยากให้ทุกคนมองเรื่องนี้เป็นความสูญเสียร่วมของสังคม ไม่ว่าแต่ละคนจะคิดอ่าน มีความเห็นอย่างไร ผมคิดว่า บุ้ง ต่อสู้ในเรื่องของความคิดทางการเมือง และความเชื่อทางการเมือง ยังไงก็ไม่ควรต้องเสียชีวิตจากเรื่องเหล่านี้ กรณีการอดอาหาร พอถึงระดับหนึ่งก็จะพาตัวไปดูแลในโรงพยาบาลเพื่อพยุงชีวิต และกระบวนการยุติธรรมเองก็ต้องสามารถผ่อนผันให้ประกันตัวไปเลย เพราะยังอยู่ในขั้นการถูกกล่าวหา กรณีนี้ราชทัณฑ์ อาจต้อง มองตัวเองให้มากขึ้น กระบวนการให้ประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว ที่ศาลเคยพูดว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องหา ถ้าไม่ไปทำความยุ่งเหยิงพยาน ไม่หลบหนี ก็เป็นสิทธิที่ควรได้รับ สังคมควรเรียนรู้เรื่องนี้ ไม่ให้สิ่งแบบนี้เกิดขึ้นอีก”  

รศ.โคทม อารียา

รศ.โคทม อยากให้สังคมใช้บทเรียนกรณีของบุ้ง ผ่อนคลายกับสิ่งที่ยึดติด ขออย่ายึดมั่นกับประเด็นความเห็นต่างที่เกิดขึ้นมากจนเกินไป ต้องเคารพความเชื่อของผู้อื่น และลดความยึดมั่นถือมั่นของตัวเองลง ก็จะทำให้ทุกคนเข้าใจไม่ทำให้การสูญเสียเป็นเรื่องล้อเล่น เรื่องตลก

“เราต้องเคารพการต่อสู้ การเรียกร้องที่ยึดหลักสันติวิธี แต่ก็อยากขอร้องว่าถึงยังไงก็ต้องรักษาชีวิตเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นโดยหลักแล้ว เมื่อมีสัญญาณออกมาให้สังคมรับรู้ถึงความมุ่งมั่น และความเชื่อบางอย่างของตัวเอง  เมื่อคิดว่าสังคมได้เริ่มรับรู้ เริ่มตระหนักแล้ว ก็ต้องดูแล รักษาชีวิตของตัวเองด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายก็ต้องเคารพการตัดสินใจของบุ้ง ซึ่งเรื่องนี้สังคมต้องช่วยกันทำความเข้าใจมากกว่าวิพากษ์วิจารณ์”

“เราเรียกร้องสันติวิธี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมาก็ต้องพยายามต่อสู้ในแนวทางนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่อย่าให้เกิดความสูญเสียอีกเลยไม่ว่าฝ่ายใด อย่าให้สังคมต้องไปถึงจุดที่มองหน้ากันไม่ได้”

ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ทิ้งท้ายว่า บทเรียนนี้สะท้อนชัดเจนถึงผลกระทบของการสร้างขั้วในสังคม เพราะมันนำไปสู่ความรุนแรงได้ทุกเมื่อโดยไม่จำเป็น การเสียชีวิตของบุ้งมาจากทั้งความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ความเชื่อ และความรุนแรงของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ว่าฝ่ายใด หรือหน่วยงานใดที่รู้สึกว่าทำผิดพลาดไป ก็ต้องปรับเปลี่ยน อย่างที่มีการพูดอยู่เสมอถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถ้าการเสียสละชีวิตเพื่อสะท้อนปัญหาเรื่องนี้สังคมไม่ยอมรับฟัง ก็ถือว่าน่าเสียดายที่ปล่อยให้หนึ่งชีวิตหลุดลอยไป โดยไม่ทำอะไรเลย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active