ผู้ถูกดำเนินคดีการเมือง ย้ำ ‘นิรโทษกรรม’ ต้องจำกัดไว้สำหรับประชาชน

เชื่อนิรโทษกรรมเป็นหมุดหมายที่ดี คืนเสรีภาพให้ประชาชน ขณะที่ ‘หมอทศพร’ เชื่อเริ่มต้นใหม่ ชวนสังคมเปิดใจหาทางออกร่วมกัน

ในกิจกรรม “11.2 Love Fair” ที่เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดรวมตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมืองจากทุกฝั่ง ทุกฝ่าย กว่า 300 ชีวิต นับตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ที่บริเวณลานประชาชน อาคารรัฐสภา เมื่อวานนี้ (11 ก.พ. 67) เพื่อแสดงออกทางการเมือง พร้อมเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่สนใจร่วมลงชื่อ เพื่อนำเสนอเป็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนต่อสภาผู้แทนราษฎร

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม บอกกับ The Active ว่า มาทั้งในฐานะผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และสส.ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รู้สึกว่ากิจกรรมนี้แสดงออกถึงความเข้มแข็ง และพลังของประชาชนที่เรียกร้องให้มีกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผลที่ควรจะทำ

นพ.ทศพร บอกด้วยว่า คดีทางการเมืองทั้งหลายเป็นการต่อสู้กับความคิดทางการเมืองด้วย การออกมาชุมนุมต่าง ๆ เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชน ตราบใดที่ไม่ได้ทำให้ใครต้องเสียชีวิต หรือทำลายทรัพย์เสียหายมาก ๆ การแสดงออกของประชาชนก็ควรเป็นสิ่งที่ต้องทำได้ แต่ที่ผ่านมาในอดีต แต่ละคดี แต่ละคำตัดสินนั้น ก็มีความหลากหลายกันออกไป

“เพราะฉะนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว ก็ควรจบให้หมด แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ด้วยการนิรโทษกรรม ยกเว้นกรณีที่คุณไปทำให้คนเสียชีวิต หรือทำให้มีความเสียหายอย่างร้ายแรง”

นพ.ทศพร เสรีรักษ์
นพ.ทศพร เสรีรักษ์

นพ.ทศพร ยังมองว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นสิ่งที่รู้สึกอ่อนไหวต่อคนในสังคมบางส่วน แต่ก็ต้องเปิดใจคุยกัน เชื่อว่าหากยอมรับฟังความคิดเห็นกัน โดยไม่มีการบีบบังคับกัน ก็จะสามารถหาทางออกให้กับประเทศได้

นภัสสร บุญรีย์ หนึ่งในประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ในการร่วมกิจกรรมการชุมนุมหลาย ๆ ครั้ง บอกว่า เริ่มโดนคดีทางการเมืองในปี 2561 กรณี กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” 4 หมาย จากกิจกรรมยืนหยุดขัง 1 หมาย และกิจกรรมเรียกร้องต่อกรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หน้าสถานทูตกัมพูชา 1 หมาย และล่าสุดร่วมกิจกรรมกับกลุ่มทะลุฟ้าก็โดนคดีมาอีก 2 หมาย รวมแล้วถูกนภัสสรดำเนินคดีทางการเมืองไปแล้ว 8 หมาย

แม้จะถูกดำเนินคดีหลายคดีแต่ นภัสสร บอกว่า ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่บางครั้งจะมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างที่ต้องตรวจสอบบัตรประชาชน ก็จะปรากฏว่ามีคดีติดตัวขึ้นมา ทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการเข้าร่วมงาน

นภัสสร บุญรีย์

นภัสสร ยังมองว่า ถึงเธอจะไม่ได้เป็นแกนนำในกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ และถือว่าตนเองไม่ได้โดนคดีที่ร้ายแรงนัก หากเทียบกับนักกิจกรรมคนอื่น ๆ  แต่หวังว่าการนิรโทษกรรมประชาชนในครั้งนี้จะครอบคลุมไปถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย เพราะหลายคนยังเป็นเยาวชนอยู่ การนิรโทษกรรมจะช่วยให้พวกเขากลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง

พร้อมทั้งยังเชื่อว่าการที่นิรโทษกรรมประชาชนนั้นเกิดขึ้น ถือเป็นหมุดหมายที่ดี ผู้ถูกดำเนินคดีจะได้สามารถกลับมามีเสรีภาพอีกครั้ง แต่กฎหมายนี้ต้องจำกัดไว้สำหรับประชาชนเท่านั้นไม่ควรนำไปใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กำลังรุนแรงต่อประชาชน

นอกจากนั้นยังหวังว่า ประชาชนทุกคน ที่กลายเป็นนักโทษทางการเมือง และถูกคุมขังจะได้ออกมาจากนอกเรือนจำอย่างเท่าเทียม แต่เมื่อออกมาแล้วก็ไม่อาจคาดได้ว่ากลุ่มที่มีความเห็นต่างจะมีการต่อต้านกันอย่างไร

ขณะที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ย้ำว่า “ข้อเสนอนิรโทษกรรมประชาชน ที่ต้องเรียกร้องเพื่อให้ได้มาในวันนี้ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่เราเรียกร้องกันมาตลอดหลายปี คือ เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และคือการทวงคืนความยุติธรรมให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และคือ การเสนอใช้สิทธิช่วยกันเสนอต่อผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างเป็นทางการให้ปล่อยเพื่อนเรา”

ภาพ iLAW

โดยเนื้อหาหลักของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน คือการยกเลิกคดีที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมืองหรือมีมูลเหตุทางการเมืองทั้งหมดตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยครอบคลุมคดีที่เกิดขึ้นตามกฎหมายเช่น คำสั่งและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงมาตรา 112

ขณะเดียวกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จะมีกิจกรรม “ส่งรักให้ถึงสภา ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน” ที่ลานประชาชน โดยจะเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมารับรายชื่อประชาชน พร้อมกับแสดงความเห็นและจุดยืนต่อการนิรโทษกรรมประชาชนด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active