วางหลักการคุ้มครองสิทธิในฐานะชุมชนดั้งเดิม ส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ
วันนี้ (6 ก.พ. 67) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เสนอ
โดยร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. เป็นร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 และเป็นร่างกฎหมายสำคัญตามแผนปฏิรูปประเทศ มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่มีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำเป็นสาเหตุของความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทย
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมาย ‘คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม’ ของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ เน้นสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย สร้างพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มวัฒนธรรมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยอย่างเสมอภาค โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ในวันนี้ ถือเป็นกฎหมายชาติพันธุ์ฉบับแรกของประเทศ ที่วางหลักการในการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์มีสำนึกความเป็นไทย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มีหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
- คุ้มครองวิถีชีวิตตามหลักสิทธิทางวัฒนธรรม
- ส่งเสริมศักยภาพ ให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนบนฐานทุนทางวัฒนธรรม
- สร้างความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“กฎหมายชาติพันธุ์ไม่ใช่เป็นการให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นการกำหนดหลักการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิม และกำหนดแนวทางในการส่งเสริมศักยภาพ ให้กลุ่มชาติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม”
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม เป็นหลักประกันให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต สามารถประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยทุนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และทุนวัฒนธรรมที่หลากหลาย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
ขณะที่ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกฎหมายที่มุ่งส่งเสริมให้สังคมเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้เกิดความเข้าใจ ยอมรับและเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่ดูถูกเหยียดหยามทางวัฒนธรรม วางรากฐานทางความคิดให้คนไทยเห็นคุณค่าของความหลากหลาย มีทักษะชีวิตที่จะดำรงอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างทั้งทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ วัยและเพศวิถี เป็นประโยชน์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยให้หลุดพ้นจากการเป็นสังคมเปราะบางที่มีปัจจัยเสี่ยงจากความแตกต่างที่อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงอย่างต่อเนื่องเป็นเงื่อนไขฉุดรั้งการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกฎหมายที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ร่วมกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และภาคีองค์กรเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนโดยมีที่มาจากมติ ครม. ฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553 หลังจากนี้รัฐสภาจะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป