“ทิชา” มองต่าง ปมยกเลิกกฎหมายปกป้องเยาวชน กรณี “ป้าบัวผัน”

เชื่อปรับลดอายุเยาวชนผู้กระทำผิด ไม่ใช่ทางออก ชวนมองรากปัญหาความรุนแรง เสนอปฏิรูปหน่วยงานดูแลเด็ก ก่อนแก้กฎหมายเอาผิดเด็ก

เป็นอีกปรากฎการณ์ข่าวที่สะเทือนสังคม สำหรับคดี “ป้าบัวผัน” ถูกฆาตกรรมใน จ.สระแก้ว โดยผู้กระทำคือเด็กและเยาวชนวัยเพียง 13-16 ปี จนนำมาสู่กระแสสังคม “ยกเลิกกฎหมายปกป้องเยาวชน” เพราะพฤติกรรมโหดเหี้ยมเกินเยาวชน

จนนำมาสู่กระแสสังคม เห็นด้วยไหม ? เยาวชนอายุ 12-15 ปี ถ้าทำผิดต้องได้รับโทษ! ซึ่งประเด็นการ ลดอายุเด็กและเยาวชนที่ก่อคดีอาชญากรรมนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้พยายามหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขกฎหมาย ที่บังคับใช้กับอาชญากรเด็ก เพราะที่ผ่านมา ได้เกิดคดีสะเทือนขวัญ ที่ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เช่น คดีกราดยิงกลางห้างดัง และคดีอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ก่อเหตุก็มีอายุที่น้อยลงเรื่อย ๆ

สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการหยิบยกแบบอย่างของต่างประเทศมาศึกษา เพื่อปรับลดอายุของผู้กระทำผิดจากอายุ 15 ปี เหลือ 12 ปี ทำให้ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อย เห็นว่า “เหมาะสม” และ “สมควร” ทำอย่างเร่งด่วน

แต่อีกด้านก็มีข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับเด็กและเยาวชน อย่าง ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ที่มองว่า การแก้กฎหมายเยาวชน เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุของปัญหา และอาจทำให้สังคม “หลงทาง” หากยังไม่ย้อนกลับมาดูการทำงาน และกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน อย่าง บทบาทของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงศึกษา, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“รู้ว่าทุกคนโกรธ ส่วนตัวก็โกรธ แต่ต้องไม่เอาความเดือดดาลต่อเด็กทั้งหมด มาเป็นทางเดินสู่อนาคต เพราะนี่คือการหลงทางครั้งใหญ่อีกครั้ง ตั้งสติ และมองผู้ใหญ่ด้วยกันทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา เพราะ เด็ก คือ ผลลัพธ์ จากการกระทำและไม่กระทำของพวกเรา ฟันธง! ให้ไป ปฎิรูปองค์กรตำรวจ, กระทรวง พม. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาฯ ดูตัวเองให้ดีก่อนจะมา แก้กฎหมายเด็ก เพราะปัญหามันซ่อนอยู่ในกลไกเหล่านี้ทั้งนั้น”

ทิชา ณ นคร

ทิชา ยังวิเคราะห์ว่า ช่วงหลังมานี้เด็กทำความผิด และรุนแรงมากขึ้น อายุน้อยลง จากประสบการณ์ที่ทำงานกับเด็ก มีปัจจัยร่วมสำคัญเรียกว่า สื่อในสังคม และสารเสพติดบางอย่าง เช่น การปลดล็อคกัญชาเสรี โดยย้ำว่า เด็กและเยาวชนใช้กระท่อม กัญชา ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่ใช้เป็นยา แต่เด็ก และเยาวชน ใช้ผสมกับหลายอย่างทำให้ เมา ฮึกเฮิม ควบคุมตัวเองไม่ได้ ปัจจัยร่วมตรงนี้อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เพราะเด็กจะเคยชิน ย้ำอย่ามองเรื่องอายุของเด็กอย่างเดียว เพราะการมองปัญหาจากส่วนเดียว จะกลายเป็นผลกระทบระยะยาว

สอดคล้องกับ แนวโน้ม – เด็กเยาวชนก่อความรุนแรง ปี 2562-2564 ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน กรมพินิจฯ เคยเปิดเผยข้อมูล ในช่วงปี 2560-2565 เด็กและเยาวชนมีการใช้ความรุนแรงโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในช่วงหนึ่งปีให้หลังมานี้ คือปี 2565 ที่พบว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 5.2% จากที่ปี 2564 อยู่ที่ 3.5% แต่คดีที่ก่อเหตุมากที่สุด เป็นคดีที่เกี่ยวกับ ยาเสพติดจํานวน 6,943 คดี หรือ ร้อยละ 47.58

ปฏิรูปหน่วยงานด้านเด็ก ก่อนแก้กฎหมายเพิ่มโทษ ! เยาวชน

ข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ TIJ ระบุ เมื่อเด็กคนหนึ่ง กลายเป็นผู้กระทำความผิด จะสามารถ แบ่งผู้กระทำความผิดที่อายุน้อยออกเป็น 4 กลุ่ม ตามอายุ

• อายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำผิด ศาลจะ “ยกเว้นโทษ”

อายุ 12-15 ปี ถ้าทำผิด ยังคงได้รับการ “ยกเว้นโทษ”
แต่ศาลมีอำนาจสั่งมาตรการพิเศษสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน ส่งไปสถานฝึกอบรมหรือคุมประพฤติ

อายุ 15-18 ปี ถ้าทำผิด ศาลอาจตัดสินลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษ ให้ลงโทษ “กึ่งหนึ่ง” แต่ถ้า ยกเว้นโทษก็ให้กำหนด
มาตรการฟื้นฟู

• อายุ 18-20 ปี ถ้าทำผิด ต้องรับโทษ แต่ศาลอาญาลดโทษ 1/3 หรือ “กึ่งหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นความผิดที่สร้างความเสียหาย ถือเป็นการละเมิดต่อผู้อื่น ก็ยังคงมี “ความผิดทางแพ่ง” ที่ต้องชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย ซึ่งผู้ปกครองจะต้องมาร่วมรับผิดด้วย

แม้ข้อเสนอการจะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุของเด็ก และ เยาวชน หรือ การเพิ่มโทษให้เด็กและเยาวชน ยัง #ติดเทรนด์ X อยากเห็นโทษที่เหมาะสม กับเยาวชนที่โหดเกินอายุ และคลิปเสียงต่าง ๆ ที่เป็นหลักฐาน ก็ต้องยอมรับว่าเด็กเยาวชนกลุ่มนี้โหดจริง ๆ แต่การจะแก้กฎหมายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศไทยมีอนุสัญญาว่า ด้วยสิทธิเด็กที่เคยตกลงไว้บนเวทีประชุมระดับสากลโลก

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมถึง ทิชา มองว่า ต้นทางการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่การแก้กฎหมาย การลงโทษ แต่ต้องเริ่มจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิรูป เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงศึกษาฯ, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวง พม. ฯลฯ จะต้องเริ่มทำงานอย่างที่ในกฎหมายเขียนไว้อย่างจริงจัง เพราะเด็กจำนวนหนึ่งจะถูกวางเอาไว้ในที่ที่เหมาะสมไม่พลาดพลั้งตกอยู่ในมุมมืด แต่พอกลไกนี้ไม่ทำหน้าที่ เช่น เด็กกลุ่มที่อยู่มีบ้านเป็นของตัวเอง อยู่กันตามลำพัง ก่อเหตุ ความวุ่นวาย กลายเป็นปัญหาสังคม

“คำถาม คือ ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานใดที่จะเข้าถึงเด็กเหล่านี้ ไทยไม่ได้ทำหน้าที่เหล่านี้ในเชิงเฝ้าระวัง แล้วพอปัญหาระเบิดออกมา มองเห็นแต่ความเลวร้ายของเด็ก เห็นแต่ความผิดพลาด ซึ่งจริง ๆ ก็ใช่เกินจะยอมรับได้ แต่เวลาเราจะแก้ปัญหาเชิงระบบของประเทศจริง ๆ เราจะมองแค่ จุดใดจุดหนึ่ง และแก้แค่ตรงนั้นอย่างเดียวสะท้อนได้ว่า ผู้บริหารประเทศ ไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้ หรือมีวุฒิภาวะอะไรใช่หรือไม่”

ทิชา ณ นคร

ทิชา ยังเสนอให้กลไกที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนถึงเวลาต้องเห็นพ้องว่า ระบบนิเวศทางสังคมที่จะต้อง EMPOWER เด็ก ๆ ได้เข้าสู่พื้นที่สามารถดึงศักยภาพเด็กได้มากกว่า ดึงด้านมืดของเด็กและเยาวชน ครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณบอกให้ ทุกกระทรวง ทุกกลไกที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ต้องมานั่งคุยกันเลยว่า ระว่างพื้นที่ที่เล่นด้านมืด สารเสพติด กัญชา กระท่อม กับ พื้นที่สว่าง ให้ปล่อยแสดงปล่อยของ อะไรมากกว่ากัน ไม่ควรรอให้ เด็กทำร้ายคนอื่นก่อนแล้วค่อยจัดการ

ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ทิ้งท้ายว่า ในแง่ การแก้ กฎหมายอยากจะฟันธงไปเลยว่า ก่อนแก้กฎหมายเยาวชน ให้ ปฎิรูปองค์กรตำรวจ, กระทรวง พม., กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงศึกษาฯ, ดูตัวเองให้ดีก่อนจะมาแก้กฎหมายเด็ก เพราะปัญหามันซ่อนอยู่ในกลไกเหล่านี้ทั้งนั้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active