พีมูฟ จี้ ‘ประวิตร’ ดันร่างกฎหมาย ‘นิรโทษกรรม’ เหยื่อทวงคืนผืนป่า ทิ้งทวน!

หลัง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ลงนามรายงานผลศึกษา ยกร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ก่อนลาออกจาก รมว.ยุติธรรม หวังช่วยเหลือเหยื่อจากนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ 48,000 ราย ขณะเดียวกัน พีมูฟ เตรียมประชุม จัดทำข้อเสนอต่อการเลือกตั้ง หวังทุกพรรค ผลักดันกฎหมายค้างคา ช่วยชาวบ้านจริงจัง

จากกรณี สมศักดิ์ เทพสุทิน ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งก่อนลาออกได้ลงนามในหนังสือ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง “รายงานผลการศึกษาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ…” เสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 

โดยระบุว่า กระทรวงยุติธรรม ขอเรียนว่า คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรฯ ได้ดำเนินการศึกษาและยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ…เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขอส่งรายงานผลการศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป

จากกรณีดังกล่าว The Active พูดคุยกับ สุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ประสานงานกฎหมาย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ บอกว่า ถือว่าการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ แก่ราษฎรซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ที่พีมูฟศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ที่ดิน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า จากคำสั่งที่ 64,66 / 2557 ซึ่งตัวเลขจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร พบผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 48,000 กว่าราย ยังไม่รวมตัวเลขของกรมป่าไม้ ซึ่งส่วนนี้ถ้าดูจากรูปการของคดีส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มผู้ยากไร้ ไม่ใด้เป็นไปตามเป้าหมายของการออกคำสั่ง เพื่อจัดการนายทุนที่บุกรุก แต่ในข้อเท็จจริงที่พบ ส่วนใหญ่จะเป็นคนยากไร้ แม้รัฐบาลจะมีคำสั่งที่ 66 เพื่อมาคุ้มครอง แต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ชาวบ้านเข้าไม่ถึงการคุ้มครองตรงนี้  ซึ่งควรได้รับการนิรโทษกรรม

เป็นที่มาที่คณะทำงานชุดดังกล่าว ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ.ประวิตร หลังจากที่กลุ่มพีมูฟ ไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อต้นปี 2565 เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟ และได้มติ ครม. 1 ก.พ.2565 แต่งตั้ง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้น มาเป็นประธานคณะทำงานยกร่างกฎหมายฉบับนี้กระทั่งมีการลงนามดังกล่าว 

ทั้งนี้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎรฯ มีเนื้อหาประมาณ 9 มาตรา สาระสำคัญคือนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายด้านป่าไม่ที่ดิน และนโยบายทวงคืนผืนป่า  ครอบคลุมเหตุการณ์ตั้งแต่คำสั่ง 64,66 /2557 จนมาถึงยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า ปี 2562 และผู้ที่มีอำนาจในการรักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็คือรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม

โดยกระบวนการขั้นตอนจากนี้ กลุ่มพีมูฟจะไปยื่นหนังสือฉบับนี้ต่อ พล.อ.ประวิตร ในช่วงรัฐบาลรักษาการ เพื่อให้เร่งรัดเท่าที่จะดำเนินการได้ เพราะว่า หนังสือลงนาม ของ รมว.กระทรวงยุติธรรม ได้เขียนว่า นำเสนอต่อประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ คือพล.อ.ประวิตร เพื่อดำเนินการต่อไปตามเห็นสมควร 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วน เรื่องอิสรภาพ ความเสียหายจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่กระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นคนยากไร้ทั่วประเทศ พบหลายร้อยคดีในส่วนของพีมูฟ และอีก 48,000 คดี ที่เป็นผลการศึกษา กมธ.ที่ดิน  ดังนั้นท่านจะออกเป็นพระราชกำหนด หรือจะผลักดันให้เป็นกฎหมาย เราจะไปขอคำมั่นสัญญาต่อ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐด้วย ว่าเรื่องนี้ท่านจะดำเนินการอย่างไร ก็คือทั้งในบทบาทของรัฐบาลรักษาการ และบทบาทพรรคการเมืองด้วย”

สุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ประสานงานกฎหมายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) 
สุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ประสานงานกฎหมายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) 

ทั้งนี้ในวันที่ 21-22 มี.ค.นี้ จะประชุม คณะกรรมการนโยบายของพีมูฟ เพื่อเตรียมประเด็นต่อการเลือกตั้งโดยจะวางแผนขับเคลื่อน เรื่องที่ค้างคา เช่น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์, โฉนดชุมชน, การจัดการภัยพิบัติ, การจัดการทรัพยากร

โดยพีมูฟจะทำนโยบายต่อพรรคการเมือง คือ 1. เรื่องโครงสร้าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ  2. เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการจัดการทรัพยากร  โดยจะเสนอในเชิงตัวอย่างรูปธรรมให้ฝ่ายการเมืองเข้าใจด้วยว่า ประเด็นที่ทำเรื่องการจัดการทรัพยากร มีต้นแบบหรือวิธีการจัดการอย่างไรบ้าง  ซึ่งคาดหวังว่าพรรคการเมืองที่ลงสนามเสนอตัวมาเป็นรัฐบาล จะให้ความสำคัญกับการผลักดันเรื่องเหล่านี้ที่เป็นปัญหาของประชาชน สู่การแก้ไขที่เป็นจริง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active