‘สหภาพคนทำงาน’ รวบยอด 8 หมวดข้อเรียกร้อง ย้ำเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เดินหน้าสิทธิการเลือกงาน การรวมตัวเจรจาต่อรอง มีรายได้ที่เป็นธรรม ความปลอดภัยในสังคมและที่ทำงาน สร้างปัจจัยขั้นพื้นฐานทุกด้าน พร้อมการมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และในที่ทำงาน ชงพรรคการเมืองนำไปปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 18 มี.ค.66 สหภาพคนทำงาน ร่วมกับองค์กรพันธมิตร และเครือข่าย 17 องค์กร จัดเวที “ความหวัง ความฝัน และข้อเสนอของคนทำงานต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งใหม่” จากข้อมูลรายงานผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชาชนไทยในเดือน ก.ค. 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยที่อยู่ในวัยแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 39.48 ล้านคน ผู้ว่างงาน 5.14 แสนคน และ ผู้ว่างงานที่รอฤดูกาล 2.1 แสนคน และถ้านับครอบครัวของพวกเขา คนกลุ่มนี้คือคนส่วนใหญ่ของจำนวนประชากรประเทศ ดังนั้นพวกเขาควรได้รับการดูแลจากรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลเอาใจใส่ประชาชน
แม้ว่าคนทำงานจะเป็นคนส่วนใหญ่ 99% ของประเทศ แต่ด้วยการถูกกีดกัน ไม่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองให้สามารถรวมตัวกันได้ แต่กลับมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การกำหนดนโยบายการบริหารประเทศน้อยมาก พรรคการเมืองในประเทศส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลและการสนับสนุนจากฝ่ายทุน หรือกลุ่มคนเพียง 1% ทำให้การกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย มาตรการ การบริหารประเทศเป็นไปในทิศทางที่ผู้ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองเหล่านั้นต้องการ พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาของผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกันออกไป
ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง สหภาพคนทำงาน จึงจัดทำชุดข้อเสนอเชิงนโยบาย “ความหวัง ความฝันและข้อเสนอของคนทำงาน” เพื่อนำเสนอต่อพรรคการเมือง นำไปจัดทำเป็นนโยบายของพรรคสำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งมีข้อเสนอสำคัญใน 8 หมวด
หมวดที่ 1 : สิทธิการเลือกงาน การมีงานทำ การรวมตัวเจรจาต่อรอง และมีรายได้เป็นธรรม
ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทุกฉบับ อาทิ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ฉบับที่ 155 ว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน, ยกร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่ให้หลักประกันการทำงาน ส่งเสริมและคุ้มครองคนทำงานทุกภาคส่วนทุกอาชีพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล, ออกมาตรการบังคับใช้กฎหมาย และให้มีกลไกกำกับดูแลเพื่อให้คนทำงานทุกภาคส่วนทุกอาชีพได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และมีส่วนร่วม ตามหลักการงานที่มีคุณค่า โดยเฉพาะอาชีพที่เปราะบาง เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ เช่น แรงงานในระบบเหมาช่วง แรงงานนอกระบบ แรงงานแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ พนักงานบริการทำความสะอาด รวมไปถึงผู้ค้าบริการทางเพศ ให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม, ส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนทำงานประเภทต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ การลดหรือยกเว้นภาษีอุปกรณ์ประกอบอาชีพ, ค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นอัตราเดียวที่บังคับใช้เท่ากันทั่วประเทศ
หมวดที่ 2 : การเรียนรู้ รับข้อมูลและพัฒนาตนเอง
ควบคุมเวลาการทำงาน เพื่อให้สามารถทำงาน 8 ชม. พักผ่อน 8 ชม. เรียนรู้ 8 ชม., ปฏิรูประบบการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย มีเนื้อหาใช้ได้จริง, ยกเลิกหนี้ กยศ. ให้เรียนฟรีตลอดชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน, บรรจุวิชาทักษะชีวิตจำเป็น หลักสูตรการศึกษาเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต, อบรมพัฒนาอาชีพฟรี มีศูนย์ฝึกกระจายทั่วทุกพื้นที่, ให้มีวิชาหรือหลักสูตรเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน การจัดตั้งสหภาพ ประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ เพศศึกษา ความหลากหลายทางเพศ และอัตลักษณ์ทับซ้อน ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น
หมวดที่ 3 : การมีชีวิต ความปลอดภัยในสังคม และที่ทำงาน
ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองคนทำงาน และรวบรวมให้เป็นฉบับเดียวที่สามารถคุ้มครองแรงงานทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งสร้างกลไกปรับปรุงแก้ไขกฏหมายให้ทันสมัยอยู่เสมอ, ขยายขอบเขตกฎหมายแรงงานคุ้มครอง โดยให้รวมถึงการคุกคามทางเพศ หรือการคุกคามขู่เข็ญอื่นๆ, ลดชั่วโมงทำงาน ไม่ให้เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทุกสาขาอาชีพ, สถานที่ทำงาน รวมถึงสถานที่จัดอีเวนท์ มหรสพ สถานบันเทิงต่าง ๆ ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สามารถป้องกันความเสี่ยงต่างๆ, เพิ่มความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมในสังคมและที่ทำงาน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการให้ครอบคลุมและสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน, เพิ่มค่าเสี่ยงภัย และการคุ้มครองคนทำงานระหว่างการเดินทางไปและกลับจากสถานที่ทำงานที่หลากหลาย, ได้รับสวัสดิการการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงาน, ได้รับค่าชดเชยอย่างเพียงพอในการดำรงชีพอย่างมีคุณค่าในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้, เงินทดแทนควรได้รับการบริหารจัดการโดยกองทุนเอง, ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากทหารเกณฑ์เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการกดขี่แรงงานโดยรัฐ และการใช้กฏหมายที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน, พร้อมทั้งปฏิรูปตำรวจ-ทหาร-ศาล ให้โปร่งใส่ตรวจสอบได้ ยกเลิกระบบส่วยและตู้แดง
หมวดที่ 4 : ปัจจัยดำรงชีวิตพื้นฐานของตนและครอบครัว ครอบคลุมทุกด้าน
ด้านการตั้งครรภ์ และมีบุตร มีเงินอุดหนุนสตรีตั้งครรภ์จวบจนคลอด 3,000 บาทต่อเดือน, การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างปลอดภัยไร้เงื่อนไข, เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เกิดถึงอายุ 6 ปี, มีสถานเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน, สิทธิลาคลอด 180 วัน ใช้ได้ทั้งผู้ตั้งครรภ์ และผู้ช่วยเลี้ยง โดยชดเชยรายได้ระหว่างลาคลอดไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต
- ข้อเสนอด้านสุขภาพ ผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย และเจลหล่อลื่นฟรีถ้วนหน้า, มีบริการสุขภาวะทางเพศทั่วถึงถ้วนหน้าทุกช่วงวัย, สิทธิในการตรวจสุขภาพประจำปีฟรีถ้วนหน้าทุกช่วงอายุ รวมทุกกองทุนสุขภาพ เป็นหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวกัน
- ข้อเสนอด้านการเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เช่น สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินราคาย่อมเยาในพื้นที่เขตเมือง ,ที่อยู่อาศัย เช่าได้ในราคาย่อมเยา ,จำกัดการถือครองที่ดิน เพื่อกระจายการถือครองที่ดิน ,รัฐต้องรับผิดชอบชุมชนด้านอาชีพและที่อยู่อาศัยในกรณีบังคับย้ายที่อยู่อาศัย
- ข้อเสนอด้านความมั่นคงในอาชีพ เช่น กำหนดให้ค่าตอบแทนแก่นักศึกษาในระหว่างที่มีการฝึกงาน รวมถึงการอุดหนุนค่าเดินทาง ค่าอาหาร และสวัสดิการอื่นๆ ตามความเหมาะสม ,กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครอบชีพจริง อย่างน้อยในอัตรา 723–789 บาทต่อวัน เท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศ
- ข้อเสนอด้านความมั่นคงในการดำรงชีวิต เช่น ประกันรายได้ระหว่างว่างงานในอัตราค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต ในอัตรา 723–789 บาทต่อวัน ,บำนาญแห่งชาติ ผู้สูงอายุรับ 3,000 บาทต่อเดือน, เบี้ยความพิการ 3,000 บาทต่อเดือน, เพิ่มอัตราการจ้างผู้ช่วยคนพิการ ให้สอดคล้องกับสัดส่วนคนพิการ, รับประกันว่ารายรับทุกคนให้ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน, ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สาธารณูปโภคพื้นฐานไม่ให้แพงเกิน, ปฏิรูประบบโครงสร้างภาษีให้เป็นแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน, ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้าและพลังงานทั้งหมด
- ข้อเสนอด้านสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ขนส่งสาธารณะปลอดภัย ราคาถูกหรือฟรี มาตรฐานเดียวทั่วประเทศ, รถขนส่งสาธารณะต้องเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าให้หมด, ให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการเรียนรู้และทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมร่วมกันในชุมชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การแสดงศิลปะ ดนตรี การค้าหาบเร่แผงลอย, ควบคุมธุรกิจไม่ให้ปล่อยมลพิษเยอะเกินไป ไม่เน้นการจ่ายค่าชดเชยคาร์บอนเครดิต, ไฟฟ้าและน้ำประปาฟรีในกรณีที่มีมาตรการล็อคดาวน์ ควบคุมโรค
หมวดที่ 5 : การมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการยอมรับทางสังคม
บรรจุหลักสูตรเรื่องสิทธิแรงงาน ส่งเสริมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถาบันการศึกษาด้านแรงงานระดับประเทศ, ยกเลิกโรงเรียนเตรียมทหาร ยกเลิกข้อบังคับที่จำกัดเพศในการเข้าถึงตำแหน่งทางทหาร, ยกเลิกคำว่า “เจ้านายนายจ้าง ลูกจ้าง” เปลี่ยนเป็นคำว่า “ผู้จ้าง ผู้รับจ้าง คนทำงาน” ผ่านร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลและบังคับใช้จริงอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองผู้มีอัตลักษณ์ทับซ้อน, ตรวจสอบทัณฑสถาน เรือนจำ สถานพินิจฯเพื่อขจัดแรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ การค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิในเรือนจำ, ส่งเสริมการเรียนรู้ปัญหาของทุกสาขาอาชีพเพื่อให้สังคมเคารพคุณค่าทุกอาชีพ, สนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี (สวมกำไลข้อเท้า EM) หรืออดีตนักโทษที่พ้นโทษให้กลับเข้าสู่การประกอบอาชีพผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การเปิดโอกาสให้สมัครงาน (ยกเว้นอดีตนักโทษบางคดี เช่น คดีล่วงละเมิดทางเพศ)
หมวดที่ 6 : เสรีภาพการแสดงออกทั้งในสังคม และที่ทำงาน
ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์, ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่า ด้วยการยุยงปลุกปั่น, ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 117 ว่าด้วยการจำกัดเสรีภาพในการนัดหยุดงาน, ยกเลิก พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมต้องไม่ถูกดำเนินคดี, คุ้มครองสหภาพแรงงานและการชุมนุมในสถานประกอบการ, ยกเลิกความพยายามในการผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม (No NPO Bill), ปฏิรูปศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะศาลแรงงาน, การวิจารณ์รัฐต้องไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท, คุ้มครองสิทธิการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ส่วนตัวของคนทำงาน เช่น การสักลาย การแต่งกาย, ยกเลิกการบังคับแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันต่าง ๆ หรือแนวคิดชาติวัฒนธรรมเดี่ยว และยกเลิกกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนใต้
หมวดที่ 7 : การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และที่ทำงาน
สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า, บำนาญประชาชนถ้วนหน้าเทียบเท่าข้าราชการ, สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีถ้วนหน้าและมีคุณภาพเทียบเท่าข้าราชการ, เอาผิดคณะรัฐประหาร การรัฐประหารนิรโทษกรรมไม่ได้ และไม่มีอายุความ, ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการ คสช. โดย ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือเหลือสภาเดียว, ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, ปลดล็อกท้องถิ่น อำนาจอยู่ที่ท้องถิ่น งบประมาณท้องถิ่น 50% ส่วนกลาง 50%, กฎหมายบังคับให้ทุกบริษัทต้องต่อรองกับสหภาพแรงงานเสมอ, สิทธิในการเข้าถึงแหล่งทุนเงินกู้อย่างถ้วนหน้าของแรงงานทุกภาคส่วน, เลือกตั้ง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนคนทำงาน, กฎหมายต้องกำหนดให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายและการจัดระเบียบพื้นที่ มีพื้นที่ทำการค้าอย่างถูกต้องที่ค้าขายได้จริง, พ.ร.บ. กองทุนเพื่อประชาธิปไตยในเศรษฐกิจและที่ทำงาน ส่งเสริมสนับสนุนให้ทรัพยากรแก่เพื่อเพิ่มพูนจำนวนธุรกิจที่บริหารแบบสหกรณ์
หมวดที่ 8 : การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกอัตลักษณ์ เพศสภาพ สภาพร่างกาย สภาวะสุขภาพสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม
โดยสิทธิแรงงานและสิทธิทางสุขภาพพื้นฐานต้องคำนึงถึงผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น สิทธิการข้ามเพศ สิทธิการครอบครองและใช้ของเล่นทางเพศ (หรือเซ็กส์ทอย) และสิทธิลาป่วยเนื่องจากประจำเดือน, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ว่าด้วยความผิดของผู้ทำแท้งและขยายสถานบริการทำแท้งปลอดภัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อให้ผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้เข้าถึงสิทธิทำแท้งปลอดภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย, ยกเลิกระบบไบนารี่ หรือการจำกัดให้มีเฉพาะชาย-หญิง ในการระบุคำนำหน้าชื่อ โดยเพิ่มคำนำหน้าที่เป็นกลางทางเพศ หรือ ‘เจนเดอร์เอ็กส์’, ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี, ขจัดระบบส่วยตำรวจ และคุ้มครองผู้ค้าบริการทางเพศ หรือเซ็กส์เวิร์กเกอร์ ในฐานะแรงงาน, ผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม (ไม่เอา พ.ร.บ. คู่ชีวิต), ร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และร่าง พ.ร.บ. อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด, รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในการงานอาชีพ และแก้ไขกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาโดยเร็ว เช่น ยกเลิกการระบุเพศในประกาศรับสมัครงาน การไม่บังคับแต่งกายตามเพศกำเนิดในที่ทำงาน การอนุญาตให้ผู้หญิงสมัครเป็นนักเรียนเตรียมทหาร นักเรียนนายสิบทหารบก นักเรียนจ่าทหารเรือ นักเรียนจ่าอากาศ นักเรียนนายร้อย จปร. นักเรียนนายเรือ หรือนักเรียนนายเรืออากาศได้, รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบทำเอกสารอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย โดยเน้นการส่งเสริมให้ถูกกฎหมายมากกว่าปราบปรามจับกุม และต้องรับรองว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงาน ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ, ขยายสิทธิเลือกตั้งให้คนไร้สัญชาติในไทย พระภิกษุสงฆ์ และผู้ต้องขังในเรือนจำ
สำหรับข้อเสนอทั้ง 8 หมวดดังกล่าว สหภาพคนทำงาน และองค์กรพันธมิตร 17 องค์กร จะนำชุดข้อเสนอเชิงนโยบาย “ความหวัง ความฝันและข้อเสนอของคนทำงาน” เพื่อนำเสนอต่อพรรคการเมือง ไปจัดทำเป็นนโยบายของพรรคในการเลือกตั้ง โดยหลังจากนี้ผู้แทนองค์กรต่าง ๆ จะเดินสายไปยื่นข้อเสนอกับพรรคการเมืองทุกพรรคต่อไป