แถลงการณ์ย้ำ หยุด! นโยบายทวงคืนผืนป่า ย้ำ 8 ปี รัฐแก้ปัญหาคนกับป่าล้มเหลว ชาวบ้านเดือดร้อน เจอคดี กว่า 34,000 คดี ร้องผลักดันนิรโทษกรรมช่วยชาวบ้าน จากคดีนโยบายรัฐ
วานนี้ (28 ก.ค.65) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ออกแถลงการณ์เรื่อง ถึงเวลาหยุด ‘ทวงคืนผืนป่า’ หรือยัง? หลังจากกรณี ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก วันเสาร์ ภุงาม วัย 58 ปี ชาวกะเหรี่ยง บ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ได้รับโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน เรียกค่าเสียหาย 3.1 แสนบาท ไม่รอลงอาญา และให้รื้อถอนบ้าน สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงต้องออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทันที
จากกรณีที่เกิดขึ้น กลุ่มพีมูฟ สะท้อนให้เห็นถึงความอัปยศของนโยบายจัดการที่ดิน-ป่าไม้หลังการรัฐประหาร อีกครั้ง ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลจากคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ชี้ว่าในช่วง 8 ปี ( ปี 2557-2565) มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ รวมกันอย่างน้อย 34,692 คดี
“ประชาชนนับหมื่นคน ถูกผลักดันออกจากผืนดินของตนเอง กลายเป็นเกษตรไร้ที่ดิน ความเจ็บปวดของนางวันเสาร์ ครอบครัว และพี่น้องในผืนป่าแก่งกระจานเกิดขึ้นแล้ว และจะต้องเกิดขึ้นอีกกี่ครั้งในวันหน้า หรือประชาชนในเขตป่าทำได้เพียงเฝ้ารอโชคชะตา ว่าผู้มีอำนาจจะชี้เป็นชี้ตายวันใด พีมูฟจึงขอประณามหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอประณามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และขอประณามกระบวนการยุติธรรม ที่รังแกประชาชน”
พีมูฟ ยังมีข้อเรียกร้องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทวงคืนผืนป่า ได้แก่
1. รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมายและนโยบายภายใต้แผนการทวงคืนผืนป่าทั้งหมด แล้วเปิดให้ประชาชนได้สร้างกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ ในนามผู้ถูกกดขี่ และผู้อยู่อาศัย ทำกินในเขตป่าที่รัฐประกาศทับด้วยตัวเอง
2. สภาผู้แทนราษฎร ต้องตรวจสอบงบประมาณและแผนการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2566 ที่ยังคงปรากฏว่ามีแผนแม่บทป่าไม้ฯ จากปี 2557 ซึ่งอยากทำให้มีตัวเลขพื้นที่ป่า 40% และมีงบประมาณด้านการปราบปรามมากกว่าการแก้ปัญหาที่ดินถึง 8 เท่า
3. ต้องผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ที่เสนอให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรม และคืนสิทธิ์แก่ประชาชน
คุกชาวบ้านหนองหญ้าปล้อง ไม่รอลงอาญา เหยื่อทวงคืนผืนป่า
ก่อนหน้านี้ (27 ก.ค.65) ศาลจังหวัดเพชรบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง วันเสาร์ ภุงาม อายุ 58 ปี ชาวบ้านท่าเสลา ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี เรื่องความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ, พ.ร.บ.ป่าไม้ และ ความผิดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ
กรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบว่า วันเสาร์ ภุงาม บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง และทำประโยชน์ในที่ป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ บริเวณบ้านท่าเสลา หมู่ที่ 4 ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี เนื้อที่ 31 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา ซึ่งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี 8 เดือน และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ 2,124,060 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์ ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาให้ยกฟ้อง ก่อนที่ศาลฎีกา กลับคำพิพากษา สั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 310,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา รวมทั้งให้รื้อถอนบ้าน สิ่งปลูกสร้าง ออกจากพื้นที่เกิดเหตุ และให้ออกจากอุทยานแห่งชาติ และป่าสงวนแห่งชาติ
รายงานข่าวจาก สำนักข่าวชายขอบ ระบุว่า วันเสาร์ ภุงาม ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมสืบเนื่องจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 เมื่อวันที่ 16 ส.ค.61 โดยเจ้าหน้าที่ พบว่า การครอบครองที่ดินเนื้อ 31 ไร่ดังกล่าว อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยเป็นที่ทำกิน ปลูกบ้าน 1 หลัง ห้องเก็บของ และโรงรถ เจ้าหน้าที่ จึงเข้าร้องทุกข์ต่อตำรวจให้ดำเนินคดี จนนำมาสู่คำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุด
ขณะที่ วันเสาร์ ภุงาม ยืนยันมาตลอด ว่า ตัวเองคือเหยื่อของนโยบายทวงคืนผืนป่า เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกที่ทำกินสืบทอดกันมาแต่อดีต จนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และการประกาศขยายเขตอนุรักษ์ทับที่ดินเมื่อหลายปีก่อน โดยเฉพาะการรังวัดที่ดินใหม่ในปี 2557 ทำให้ชาวบ้านหลายราย ถูกดำเนินคดีบุกรุกแผ้วถางป่า
รายงานข่าวระบุอีกว่า หลักรับฟังคำพิพากษา วันเสาร์ ถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำกลางเพชรบุรี โดยชาวบ้านที่มาให้กำลังใจ แม้รู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็พร้อมต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้วันเสาร์ และชาวบ้าน ที่เรียกร้องสิทธิชุมชนของพวกเขาต่อไป ซึ่งนอกจากวันเสาร์แล้ว ยังมีข้อมูลระบุว่า ในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีตามนโยบายทวงคืนผืนป่า อีกหลายกรณี