หารือการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 กรณีการทำประชามติ พร้อมดันข้อเสนอทำประชามติ 2 ครั้ง เตรียมเข้าพบประธานรัฐสภา – นายกฯ ต่อ ด้าน ‘อนุทิน’ เผย ภูมิใจไทย แสดงจุดยืนชัดแล้ว ถ้าแก้ รธน. ไม่ทัน ก็รอสภาชุดหน้า
วันนี้ (21 พ.ย. 2567) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร นำคณะเข้าร่วมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
โดยพริษฐ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณีความเป็นไปได้ของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จทันการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งเป็นวาระที่รัฐบาลได้สัญญาไว้กับประชาชนและเป็นวาระที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนเห็นชอบด้วย แต่หากยึดตามแผนเดิม ที่รัฐบาลเคยวางไว้ คือ ใช้กระบวนการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยจะยังไม่ทำประชามติครั้งแรกจนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แล้วเสร็จ
ซึ่งหากเดินตามแผนนี้ โอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ทันการเลือกตั้งครั้งถัดไปแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจุบัน การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป และเมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) คณะกรรมาธิการร่วมของ 2 สภา ก็ได้ลงมติเห็นชอบตามร่างของวุฒิสภาที่ใช้เกณฑ์ เสียงข้างมาก 2 ชั้น ดังนั้น หากส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรและสภาผู้แทนราษฎรยึดตามหลักการเดิมว่าควรจะใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 1 ชั้น เท่ากับว่ากระบวนการดังกล่าวจะต้องเพิ่มไปอีก 6 เดือน
ดังนั้น จึงมองว่า หากจะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป หนทางเดียวคือการลดการทำประชามติ จาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาข้อถกเถียงระหว่างแต่ละฝ่ายในเรื่องของจำนวนการทำประชามติ เกิดขึ้นจากการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ไม่เหมือนกัน ซึ่งในส่วนของพรรคประชาชน หรือแม้แต่พรรคเพื่อไทย ตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ว่าต้องทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง แต่ก็จะมีบางฝ่าย รวมถึงประธานสภาที่ผ่านมาไปตีความว่าต้องทำทั้งหมด 3 ครั้ง
พริษฐ์ กล่าวอีกว่า การมาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายความเรื่องนี้ให้ชัดเจน ว่าสรุปแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ระบุว่าจะต้องทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง
โดยหวังจะได้ความชัดเจนกลับมาว่า คำวินิจฉัยศาลชี้ว่าจะต้องทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง ด้วย 2-3 เหตุผล คือ หากไปอ่านคำวินิจฉัย ดังกล่าว ไม่ได้มีตรงไหนที่เขียนว่าจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง เขียนเพียงแค่ว่าจะต้องทำประชามติ 1 ครั้งก่อน และ 1 ครั้งหลัง แต่ที่ผ่านมามีการถกเถียงกรณีคำว่าก่อน หมายถึงก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือก่อนที่จะมีการ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ การมี สสร. เข้าสู่รัฐสภา
นอกจากนี้ หากไปดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน จะเห็นว่า ตุลาการส่วนใหญ่เสียงข้างมากได้เขียนชัดในความเห็นส่วนตนว่าจำเป็นต้องมีการทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับ infographic ที่ถูกผลิตโดย สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถูกเผยแพร่ออกมาจะเห็นว่า Road Map ในเรื่องการจัดทำประชามติมีเพียง 2 ครั้ง ซึ่งหากได้ข้อสรุปก็จะทำให้การโน้มน้าวทุกฝ่ายมายืนมาในจุดนี้ร่วมกันเป็นไปได้มากขึ้น
และอีก 2 บุคคล ที่กรรมาธิการพัฒนาการเมืองจะขอเข้าพบ คือ ประธานรัฐสภา ซึ่งมีกำหนดการชัดเจนแล้ว คือวันที่ 27 พฤศจิกายน และหากวันนี้ได้ความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก็จะสามารถไปคุยกับทางสภาได้ว่าตกลงแล้วประชามติเพียงแค่ 2 ครั้งก็เพียงพอ ซึ่งก็อาจจะทำให้ประธานสภาสบายใจขึ้นในการทบทวนการตัดสินใจก่อนหน้านี้ และบรรจุร่างแก้ไขธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. ที่อดีตพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเคยยื่นเมื่อตอนต้นปี เพื่อริเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการจัดทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง
ส่วนบุคคลที่ 2 ที่ตั้งใจจะไปหารือคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีให้เข้าพบ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการว่าจะให้เข้าพบวันไหนอย่างไร ซึ่งการเข้าพบก็เพื่อหารือกับพรรครัฐบาล หากเห็นตรงกัน เรื่องการทำประชามติ 2 ครั้ง ก็น่าจะทำให้โอกาสที่แผนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในรูปแบบนี้มีความเป็นไปได้มากขึ้น
ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณี ชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ตามคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา ทำให้ต้องยืดระยะเวลา 180 วัน และอาจเข้าเกณฑ์กฎหมายการเงินที่ต้องพักไว้ 10 วัน และจะขอหารือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นนี้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตีความ แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยได้แสดงจุดยืน ว่าควรจะเป็นการทำประชามติ 2 ชั้น หรือ Double majority ซึ่งจุดยืนตรงนี้เราก็เห็นความจำเป็นอยู่ เพราะพอมีประเด็นเรื่องเกาะกูดและ การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ต่าง ๆ เราจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการแก้ไขกฎหมายให้รอบคอบ เนื่องจากหากมีการลงมติไปแล้วจะได้ไม่มีใครพูดว่าผิดพลาดในภายหลัง หรือว่าเราทำไม่รอบคอบ
พร้อมยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบ ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องเคารพ และย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้ง ทุกคนมีสิทธิ์มีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันได้ ใช้หลักการประชาธิปไตยในการตัดสิน ส่วนคำถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จภายในรัฐบาลนี้ตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ อนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างมีเงื่อนเวลา มีขั้นตอน ถ้าแก้ได้ก็แก้ ถ้าแก้ไม่ทันก็ต้องรอสภาชุดหน้า